ผู้ว่าการแจง เตรียมพร้อมรับมือเหตุหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติในปี 2557 วอนสื่อมวลชนเป็นสื่อกลางสร้างความเข้าใจสถานการณ์พลังงานให้กับประชาชน

           ผู้ว่าการ สร้างความเข้าใจต่อสื่อมวลชน กรณีการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกชในเดือนเมษายน และแหล่ง JDA-A18 เดือนมิถุนายนนี้ กฟผ. ได้เตรียมพร้อมมาตรการรองรับไว้แล้ว แต่ยังกังวลเรื่องความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ในระยะยาว หากประชาชนยังไม่เข้าใจถึงความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้า

20140205-01

          นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยถึงแผนการหยุดซ่อมบำรุงท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในงานจิบน้ำชาคุยข่าวกับสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 ณ สวนน้ำพระทัย สำนักงานกลาง กฟผ.ว่า ในปี 2557 นี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งให้ทราบแล้วว่าจะมีแผนการหยุดซ่อมบำรุงท่อส่งก๊าซธรรมชาติอีก 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจากแหล่งบงกช ของอ่าวไทย ระหว่างวันที่ 10 เมษายน – 5 พฤษภาคม จำนวน 25 วัน และครั้งที่ 2 จากแหล่ง JDA-A18 ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม จำนวน 28 วัน ซึ่ง กฟผ. จำเป็นต้องมีการเตรียมแผนรับมือ เพื่อให้การผลิตไฟฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าวมีความพร้อมและความมั่นคงมากที่สุด

          ผู้ว่าการ กล่าวต่อไปว่า การหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA-A18 มีความน่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก เนื่องจากโรงไฟฟ้าจะนะ ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าต้องหยุดเดินเครื่อง ส่งผลให้กำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ขาดหายไป 700 Glossary Link เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าในภาคใต้ทั้งหมด 2,375 Glossary Link เมกะวัตต์ และกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าภาคกลางส่งไปยังภาคใต้ได้สูงสุด 1,050 เมกะวัตต์ (แต่ในการบริหารความมั่นคงตามมาตรฐาน N-1 จะส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปยังภาคใต้ได้เพียง 500-750 เมกะวัตต์) โดยที่ภาคใต้นั้น มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 2,400 เมกะวัตต์ หากไม่มีการเตรียมการรับมือที่ดี อาจส่งผลกระทบถึงความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของภาคใต้

          สำหรับมาตรการรองรับเหตุการณ์ดังกล่าว ประกอบด้วย 1) เตรียมความพร้อมโรงไฟฟ้าภาคใต้ ให้สามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลังผลิต 2) ตรวจสอบอุปกรณ์ระบบส่งไฟฟ้าภาคใต้ และระบบป้องกันให้พร้อมใช้งาน 3) ประสานงานจัดเตรียมแผนย้ายโหลด และแผนดับไฟร่วมกับ กฟภ. สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉินอื่นเพิ่มเติม 4) จัดเตรียมแผนการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ (Demand Side Management) 5) เจรจาซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซีย 6) ปรับปรุงระบบป้องกันพิเศษ (RLS) รองรับปัญหาแรงดันไฟฟ้าต่ำบริเวณภาคกลางตอนล่างจากกรณีหม้อแปลง Tie 500/230 เควี ที่สถานีไฟฟ้าบางสะพาน2 Trip 7) แผนจัดทำโครงการ Thailand Demand Respond (การตอบสนองความต้องการไฟฟ้า) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อจูงใจให้ผู้ใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าว ด้วยการให้เงินชดเชยบางส่วนจากค่า Ft ที่ประหยัดได้ แต่เนื่องจากอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ จึงยังไม่มีความชัดเจนในโครงการดังกล่าว

          นอกจากนี้ยังมีแผนการลงทุนในระยะยาวเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้าในภาคใต้ ประกอบด้วยโครงการลงทุนระบบสายส่ง 500 เควีจากภาคกลางไปภาคใต้ แผนเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ ได้แก่ แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะชุดที่ 2 ขนาดกำลังผลิต 760 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนเมษายนนี้ แผนการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ โดยใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ขนาดกำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ คาดว่าจะจ่ายไฟเข้าระบบได้ในปี 2562 และแผนปรับปรุงโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในภาคใต้คือ โรงไฟฟ้าจะนะ ทั้งชุด 1 และ 2 ให้สามารถเดินเครื่องด้วยเชื้อเพลิงสำรองคือ น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา โดยโรงไฟฟ้าจะนะชุดที่ 1 พร้อมใช้ในปี 2558 และชุดที่ 2 พร้อมใช้ก่อนปี 2561

          “ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการหยุดซ่อมบำรุงท่อก๊าซธรรมชาติที่มีแผนการหยุดซ่อมในทุกปี และความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น จึงอยากให้ทุกคนตระหนักและเข้าใจถึงความจำเป็นที่ กฟผ. ต้องมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งการกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เพื่อลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ สร้างมั่นคงให้แก่พลังงานไฟฟ้าของประเทศ และสุดท้ายอยากฝากให้สื่อมวลชนช่วยเผยแพร่ สร้างความเข้าใจถึงความจำเป็นที่ภาคประชาชนต้องช่วยกันประหยัดพลังงานในช่วงที่มีการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้” ผู้ว่าการกล่าวในที่สุด

 

ที่มา : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน