'ขสมก.-บขส.'ก็ขึ้นราคา-อ้างค่าก๊าซขยับ ชี้สวนทางความปลอดภัย-อุบัติเหตุซ้ำซาก จี้รัฐแก้มาตรฐาน-ตั้งแต่'โชเฟอร์-อุปกรณ์'

ไม่เฉพาะค่าไฟฟ้าที่ขยับขึ้นจนประชาชนเดือดร้อนไปตามๆกัน รถโดยสารบขส.-ขสมก.ประกาศขึ้นค่าโดยสารอีกแล้ว เริ่ม 15 พ.ค.นี้ อ้างค่าก๊าซแพงขึ้น ขณะที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจวกขึ้นราคาได้ แต่ควรสอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัย เพราะนับวันยิ่งมีอุบัติเหตุบ่อยครั้งขึ้น และผู้โดยสารโดนเอาเปรียบในทุกเรื่อง จี้รถทุกชนิดทำรถให้มีมาตรฐานทั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง สับเปลี่ยนคนขับทุก 4 ชั่วโมง ให้หยุดพักระหว่างทาง พร้อมอุปกรณ์ที่จำเป็นประจำรถ และให้ประกันเรื่องเวลาการเดินทาง ไม่ใช่ปรับเฉพาะผู้โดยสารที่คืนตั๋ว แต่ผู้โดยสารควรมีสิทธิร้องเมื่อรถล่าช้า

 

ขสมก.-บขส.ขยับขึ้นค่าโดยสารอีก 15 พ.ค.

นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคมนี้ ค่ารถโดยสารรถประจำทางจะปรับราคาขึ้น ตามมติของคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง โดยรถของบริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส.ปรับเพิ่ม 4 สตางค์ต่อกิโลเมตร รถสองแถวในซอย ปรับราคาได้ตั้งแต่ 1.50-2.00 บาท ส่วนรถขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.รถร้อน ปรับขึ้น 1 บาท จากเดิม 6.50 บาท ขึ้นเป็น 7.50 บาท รถร่วมขสมก.ปรับขึ้น 1 บาทเช่นกัน จากเดิม 8 บาท เป็น 9 บาท ขณะที่รถเมล์ปรับอากาศให้ปรับเพิ่มขึ้นอีก ช่วงละ 1 บาท จากค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 11-23 บาท ปรับเพิ่มเป็น 12-24 บาท และรถเมล์ปรับอากาศร่วมขสมก.ปรับเป็น 13-25 บาท แต่จะสามารถปรับราคาได้เมื่อราคาก๊าซเอ็นจีวีที่ผู้ประกอบการจ่ายจริงอยู่ที่ 9.50 บาทต่อลิตร

อย่างไรก็ตามนโยบายการขึ้นค่าโดยสารของรัฐบาล ยังสวนทางกับความปลอดภัยในชีวิตของผู้โดยสาร ที่ต้องแบกรับภาระค่าโดยสาร แต่รัฐบาลไม่สามารถรับรองความปลอดได้

เมื่อปี 2552 ประเทศไทยประกาศให้ความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ มีสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนน จำนวน 10,717 คน ถัดมาปี 2553 มีคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน จำนวน 10,644 คน ลดลงจากปี 2552 เพียง 73 คน แม้จะมีการประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ หรือมีการตั้งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนขึ้นมาแล้วก็ตาม ในปี 2554 เป็นจุดเริ่มของ “ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน” ตามประกาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่มีเป้าหมายให้แต่ละประเทศลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ร้อยละ 50 ภายในเวลา 10 ปี ซึ่งนับว่าเป็นภารกิจร่วมกันของประชาชนทั่วโลก

 

 

รัฐต้องดูแลความปลอดภัยผู้โดยสารก่อนขึ้นค่าโดยสาร

 ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554-มีนาคม 2555 ตัวเลขผู้เสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสาร เพิ่มขึ้นทุกเดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 จำนวน 135 คน พฤศจิกายน 138 คน และเดือนธันวาคม 161 คน  และในเดือนมกราคม 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 211 คน กุมภาพันธ์ 286 คน และเดือนมีนาคมเพิ่มสูงถึง 356 คน

น.ส.สวนีย์ ฉ่ำเฉลียว ผู้ประสานงานโครงการการมีส่วนร่วมของเครือข่ายผู้บริโภคเพื่อรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า นโยบายขึ้นค่าโดยสารเป็นนโยบายที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ อย่างไรก็ตามอยากให้รัฐบาลตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารด้วย ซึ่งปีนี้เป็นที่ทุกประเทศทั่วโลกรณรงค์เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน แต่ความปลอดภัยบนท้องถนนในประเทศไทยนั้น เข้าข่ายต่ำมาก โดยเฉพาะรถตู้ มีสถิติอุบัติเหตุสูงมาก ดูจากข้อมูลที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รวบรวมไว้จะเห็นว่า เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุสูงมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตถึง 356 คน

 

“เราไม่ได้คัดค้านการขึ้นราคาค่าโดยสาร เพราะราคาน้ำมัน ราคาแก๊สปรับตัวสูงขึ้น ค่าโดยสารต้องปรับตัวสูงขึ้นด้วย แต่เมื่อขึ้นราคาค่าโดยสารแล้ว สิ่งที่ประชาชนต้องได้รับคือความปลอดภัยจากการใช้บริการ ไม่ใช่สวนทางกันอย่างที่เป็นอยู่ โดยที่รัฐบาลลอยตัว แต่ผลักภาระต้นทุนมาให้ประชาชน ใช้ข้ออ้างเรื่องพลังงานที่ปรับขึ้นมาเป็นความชอบธรรม ให้กับกลไกการขึ้นราคา แต่ชีวิตของผู้โดยสารกลับไม่ได้รับการดูแลให้ดีเท่าที่ควรจะเป็น”

 

 

จี้ให้ติดเข็มขัดนิรภัย-เปลี่ยนคนขับ-อุปกรณ์ประจำรถ

 น.ส.สวนีย์ กล่าวว่า โครงการมีข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร โดยให้รถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัดทุกมาตรฐาน ควรสนับสนุนให้มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยให้กับผู้โดยสารทุกที่นั่ง และให้มีการแนะนำส่งเสริมให้ผู้โดยสารใช้เข็มขัดนิรภัยทุกครั้งตลอดการเดินทาง และในการเดินทางของรถโดยสารติดต่อทุกๆ 4 ชั่วโมง ต้องมีการสับเปลี่ยนพนักงานขับรถ หรือพนักงานขับรถต้องได้หยุดพักเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 นาทีก่อนขับรถต่อไป เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 รวมถึงควรกวดขันให้รถโดยสารได้มีการตรวจสภาพรถ สภาพคนขับทุกเที่ยวรถที่ออกให้บริการ มีการติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์ทุบกระจก พร้อมกระจกที่สามารถทุบให้แตกได้ให้ครบทุกคันด้วย

นอกจากนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังเสนอให้ผู้ให้บริการ ควรมีการรับประกันเวลาออกเดินทางและถึงจุดหมาย โดยให้มีการจ่ายค่าชดเชยหากผิดสัญญาประกันเวลา เช่นเดียวกับที่ผู้โดยสารถูกผู้ประกอบการปรับหรือริบค่าโดยสารในกรณีที่ขอเลื่อนการเดินทาง หรือมาไม่ทันเวลาออกรถ ส่วนการชดเชยเยียวยาเมื่อเกิดอุบัติเหตุ บริษัท ขนส่ง จำกัด ควรมีมาตรการกำกับดูแล เช่น การหยุดพักรถไว้ก่อน หรือระงับการให้บริการจนกว่าจะปรากฎข้อเท็จจริง หรือได้มีการชดใช้ค่าเสียหายจนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ผู้เสียหายต้องได้รับการดูแล ชดเชยความเสียหายอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม

 

 

จวกรัฐละเลยความปลอดภัยจ้องขึ้นค่ารถอย่างเดียว

 ด้าน ดร.สุเมธ องค์กิตติกุล นักวิชาการจากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะของนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องความปลอดภัยของรถโดยสาร เปิดเผยว่า ปัญหาอยู่ที่การกำกับดูแลของภาครัฐในการดูแลความปลอดภัย ซึ่งการขึ้นราคาค่าโดยสารจะส่งผลต่อความปลอดภัย ผู้โดยสารจะได้รับการดูแลด้านความปลอดภัยมากขึ้นหรือไม่ บางครั้งการพิจารณาของรัฐบาลละเลยมิติเรื่องความปลอดภัย การพิจารณาเรื่องค่าโดยสารอย่างเดียว โดยไม่เห็นสถิติของอุบัติเหตุรถสาธารณะ ว่าตัวเลขพุ่งสูงมากขึ้น จึงมีมาตรการรองรับไม่ชัดเจน แน่นอนว่าค่าโดยสารเป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ ผู้บริโภคต้องรับภาระ แต่ความปลอดภัยก็ละเลยไม่ได้เช่นกัน

ดร.สุเมธกล่าวต่อว่า ที่เคยมีข่าวว่าผู้ประกอบการขาดทุน หน่วยงานที่ควบคุมอาจจะยอมให้มีการลดคุณภาพ เพื่อให้มีรถให้บริการและสามารถอยู่ได้ ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่ ความปลอดภัยต้องมาก่อน ถ้าไม่ปลอดภัยไม่ควรให้บริการ ประชาชนอาจจะไม่ได้นั่งรถ แต่ถ้านั่งแล้วไม่ปลอดภัย ไม่ควรนั่ง ขึ้นรถไปไม่รู้ว่าจะมีความเสี่ยงใดบ้าง ดังนั้นเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะจัดหาบริการ ที่มีความปลอดภัยให้กับประชาชน  ส่วนเรื่องราคาเป็นเรื่องของภาครัฐ ที่จะกำหนดราคา หรือนำเงินมาอุดหนุน

“เมื่อพูดถึงความปลอดภัยของรถ ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่รถเมล์โดยสารประจำทางเท่านั้น แต่รวมถึงรถโดยสารทุกประเภท โดยเฉพาะรถตู้ ตั้งแต่สภาพรถมีความปลอดภัยแค่ไหน  การติดตั้งแก๊สเอ็นจีวีทำให้รถเสียสมดุล ซึ่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมีไฟลุก ทำให้ไม่มีใครเข้าไปช่วย เรื่องเหล่านี้รัฐบาลต้องเข้าไปดูแล”

 

 แนะคุมกำเนิดรถตู้-ปรับปรุงที่มีให้ดีก่อน

ที่ผ่านมาความปลอดภัยในความคิดของรัฐบาล มีแค่เรื่องการควบคุมความเร็ว โดยใช้วิธีตรวจจับความเร็ว ซึ่งประสิทธิภาพของมาตรการต่างๆ ที่ทำการตรวจจับเท่าที่ทราบข่าวและหน่วยงานที่ดูแล ข้อมูลหลายส่วนไม่สมบูรณ์ การตรวจจับยังไม่เป็นผล เช่น กรณีรถตู้โดยสารมีการติดตั้งเครื่องมือตรวจจับความเร็วที่ทางด่วนโทลล์เวย์ แต่เส้นทางของรถตู้ส่วนใหญ่จะวิ่งระหว่างจังหวัดทำให้ไม่สามารถตรวจวัดได้

สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ ต้องดูแลตั้งแต่สภาพรถ คือ เบาะที่นั่ง เข็มขัดนิรภัย การติดตั้งแก๊ส และคนขับรถ  เพราะทุกอย่างจะประกอบกันทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ นอกจากนี้รัฐบาลควรจะมีมาตรการควบคุมรถตู้ โดยยกเลิกการจดทะเบียนรถตู้ใหม่ และควบคุมรถตู้ที่มีอยู่เดิมให้ถูกต้องและปลอดภัย และที่สำคัญรถตู้ไม่ควรวิ่งระยะทางไกลข้ามจังหวัด ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ไม่มีการควบคุมทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ในขณะที่รถเมล์ในเมืองไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องความเร็วนัก แต่จะมีปัญหาเรื่องการปิด-เปิดประตูรถ การจอดไม่ตรงป้ายรับส่งผู้โดยสาร วิ่งเลนขวา ซึ่งสิ่งเหล่านี้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ สามารถควบคุมได้ โดยต้องควบคุมไปที่ผู้ประกอบการ ไม่ใช่แค่พนักงานขับรถเท่านั้น 

เคยติดเครื่องจับความเร็วแต่ก็ไร้ผล

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ศูนย์เทคโนโลยีอิเลกทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค ได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับความเร็วที่บริเวณทางต่างระดับคลองหลวง จ.ปทุมธานี จนถึงทางต่างระดับรังสิต ซึ่งเครื่องดังกล่าวชื่อว่า RFID (Radio Frequency Identification) เป็นระบบชี้เฉพาะอัตโนมัติแบบไร้สาย เป็นวิธีการระบุเอกลักษณ์วัตถุหรือตัวบุคคล โดยใช้คลื่นความถี่วิทยุเป็นสื่อ สามารถควบคุมพฤติกรรม แต่ไม่สามารถอ่านข้อมูลความเร็วสูงได้ โดยเปรียบเทียบกับการใช้ระบบ GPS ซึ่งใช้เป็นตัวแทนของอัตราเร็วของยานพาหนะต่อวินาที

นายรักษิต ฐิติพัฒนพงษ์ วิศวกรวิจัยจากเทคเนค อธิบายว่า RFID เป็นเครื่องมือตรวจจับความเร็วของรถบนเส้นทาง ในโครงการนำร่องจากทางต่างระดับคลองหลวง ถึง ทางต่างระดับรังสิต ระยะทางประมาณ 6 ก.ม. ผลที่ออกมาเครื่องไม่สามารถอ่านความเร็วที่แท้จริงของรถได้ และเมื่อทดลองวางที่ 1 กิโลเมตร ค่าความเร็วที่อ่านได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น ในขณะที่ระยะวางที่ให้ผลลัพธ์ได้ ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุดและสามารถยอมรับได้ คือ 100 เมตร แต่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง เป็นคำถามว่ารัฐบาลจะลงทุนหรือไม่ ขณะที่การใช้จีพีเอส สามารถอ่านค่าและบอกความเร็วได้ แต่ต้องคำนึงในเรื่องของถี่ของชุดข้อมูลที่ได้รับ

วิศวกรจากเนคเทคกล่าวว่า เทคโนโลยีที่รัฐบาลนำมาใช้ตรวจจับความเร็วในโครงการนำร่อง ไม่ว่าจะเป็นระบบ GPS หรือ RFID ทั้งสองแบบมีข้อจำกัดเหมือนกัน ซึ่งสิ่งที่ผู้ออกระเบียบต้องคำนึงถึง คือต้องให้ความสำคัญต่อความถี่ของชุดข้อมูล และความเหมาะสมของเทคโนโลยีต่อการประยุกต์ใช้ ซึ่งจากผลการวิเคราะห์จะเห็นได้ว่าการติดตั้งอุปกรณ์อ่าน RFID ที่ระยะ 100 เมตร พบว่ามีความสามารถเพียงพอที่ใช้ตรวจจับอัตราความเร็วของรถได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจมีต้นทุนที่สูงเกินกว่าจะคุ้มค่าส่วน ระบบ GPS เป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ แต่ต้องคำนึงถึงมาตรฐาน และความละเอียดของข้อมูลที่สามารถตรวจจับได้

 มพบ.ร้องตั้งองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคดูแลประชาชน

ด้าน รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำโครงการเครือข่ายผู้บริโภคเพื่อรถโดยสารปลอดภัย เพื่อศึกษาเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน และอยากเรียกร้องทั้งรัฐบาลและผู้กำกับดูแลกฎหมาย ให้มองเห็นถึงการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในการออกมาตรการ นโยบายต่างๆ  ซึ่งสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ต้องการให้เกิดองค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ตามมาตรา 61ของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี 2550 จนขณะนี้องค์กรยังไม่เกิด ซึ่งองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคจะเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบมาตรการใดที่ไม่คุ้มค่า และไม่เกิดประโยชน์ หลายฝ่ายจะได้ช่วยกันดูแล

“นโยบายการขึ้นค่าโดยสารครั้งนี้ หลายฝ่ายบอกว่า มาตรการด้านความปลอดภัยยังไม่มีการดูแลให้ดี ยังมีปัญหาเรื่องผู้ประกอบการ สภาพรถ แต่ในฐานะผู้บริโภคยังต้องปล่อยให้รัฐขึ้นราคา ส่วนผลตอบแทนในการขึ้นราคา ประชาชนควรมีโอกาสยื่นเงื่อนไขให้เขาหรือไม่ เพื่อให้เห็นว่ารัฐมองความปลอดภัยของผู้บริโภค และการปรับขึ้นราคาของรถโดยสารสาธารณะ คุ้มที่จะลงทุน เพราะเมื่อเราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ เราจะประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลไปได้มาก ซึ่งการขึ้นค่าโดยสารครั้งนี้ ถ้ารัฐบาลออกมาตรการเรื่องความปลอดภัยไปด้วย จะเป็นการส่งสัญญาณจากรัฐสู่ประชาชนให้เห็นว่ารัฐมีการดูแลเรื่องความปลอดภัย”

ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวอีกว่า หากมองไปถึงจุดพอดีของราคาค่าโดยสาร ขึ้นอยู่กับความพอใจของทุกฝ่าย ประเด็นที่สำคัญคือ การนำเสนอข้อมูลที่เป็นจริง เพื่อสร้างความเข้าใจและเกิดการยอมรับ ออกมาเป็นมติร่วมของราคาค่าโดยสารที่ทุกฝ่ายพอใจ เช่น ข้อมูลการวิจัยเครื่องมือตรวจจับความเร็ว RFID ว่าผลที่ออกมาเป็นเช่นไร ถ้าเครื่องมือดังกล่าวมีประโยชน์ป้องกันอุบัติเหตุและเกิดความปลอดภัยบนท้องถนนได้จริง ต้องใช้ต้นทุนมากขนาดไหนคุ้มหรือไม่ และควรจะต้องมีการปรับราคาค่าโดยสารเท่าใดจึงจะเหมาะสม

“นี่คือสิ่งที่เราเรียกร้องว่า ให้ทุกฝ่ายได้เปิดเผยและร่วมรับรู้ข้อมูล เพราะเราเชื่อในกลไกการมีส่วนร่วม ถ้ามีความโปร่งใสของข้อมูล เมื่อทุกฝ่ายยอมรับได้ ความพอดีจะเกิดขึ้น สังคมจะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ การตัดสินใจไม่อยู่กับรัฐบาลฝ่ายเดียว”

โดย วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ

 

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน