ผู้บริโภคคัดค้านการขึ้นค่าบริการผ่านท่อส่งก๊าซธรรมชาติกกพ. ดันกำไรรับใช้ปตท. ชาวบ้านตายช่างหัวมัน

เครือข่ายผู้บริโภคคัดค้านการขึ้นค่าบริการผ่านท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้กับ ปตท. เหตุคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ทำหน้าที่เป็นตรายางให้ปตท. ขูดรีดผู้บริโภค ส่งผลให้ประชาชนรับภาระค่าไฟฟ้า สูงถึง ๔,๕๐๐ ล้านบาทต่อปี นับแต่ใช้สูตรคำนวณเอื้อประโยชน์ให้ ปตท. พร้อมย้ำ ปตท. ไม่มีสิทธิ์นำค่าใช้จ่ายการลงทุนระบบท่อส่งก๊าซมาคำนวณเป็นฐานรายได้ของตัวเอง เนื่องจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดชี้ ทรัพย์สินที่ใช้อำนาจมหาชนและเงินลงทุนของรัฐ ก่อนการแปรรูปเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ ปตท. จะต้องดำเนินการคืนให้กับกระทรวงการคลังทั้งหมด ไม่ควรนำมาใช้เพื่อทำกำไรสูงสุดให้กับตัวเอง

วันนี้(๙ มีนาคม ๒๕๕๒) เวลาประมาณ ๑๓.๓๐ น. ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วย นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการมูลนิธินโยบายสุขภาวะ นางสาวบุญยืน ศิริธรรม และนายสุวิช วัฒนารมย์ เครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก ได้ร่วมกันแถลงข่าวคัดค้านการปรับขึ้นค่าบริการผ่านท่อส่งก๊าซธรรมชาติหรือค่าผ่านท่อก๊าซที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้มีมติอนุมัติให้ปรับเพิ่มขึ้นจาก ๑๙.๗๔ บาทต่อล้านบีทียู เป็น ๒๑.๗๖ บาทต่อล้านบีทียู หรือปรับเพิ่มขึ้น ๒.๐๒ บาทต่อล้านบีทียู

โดยนางสาวสารี กล่าวว่า ตามที่ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๐ ให้แบ่งแยกทรัพย์สินของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมและอำนาจมหาชนของรัฐ จากปตท. คืนให้แก่รัฐนั้น

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนให้แก่แผ่นดินเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๑ มูลค่ารวมทั้งสิ้น ๑๖,๑๗๖.๒๒ ล้านบาท ประกอบด้วยที่ดินเวนคืน ๑.๔๒ ล้านบาท สิทธิการใช้ที่ดิน ๑,๑๒๔.๑๑ ล้านบาทและระบบท่อก๊าซธรรมชาติในที่ดินเวนคืนและที่ดินรอนสิทธิ ๓ โครงการอีก ๑๕,๐๕๐.๖๙ ล้านบาท

ซึ่งจากการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ได้รับมอบหมายตามมติคณะรัฐมนตรี พบว่า มีการโอนทรัพย์สินไม่ถูกต้อง โดยบริษัท ปตท. ยังต้องคืนทรัพย์สินเพิ่มเติมอีกจำนวน ๓๒,๖๑๓ ล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยก่อนที่จะมีแปรรูปมาเป็นบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๔ โดยพบว่า ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นหลังจากการแปรรูปบริษัท ปตท. ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๔ นั้น ไม่มีการโอนคืนแก่รัฐแต่อย่างใดซึ่งมีมูลค่าสูงถึง ๑๕๗,๑๐๒ ล้านบาท ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดนี้ได้มาด้วยการใช้อำนาจมหาชน ซึ่ง บริษัท ปตท. จะต้องคืนให้แก่รัฐตามคำพิพากษาของศาลด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้จากการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เฉพาะระบบท่อส่งก๊าซที่ก่อสร้างก่อนการแปรรูป ในปัจจุบัน พบว่ามีมูลค่าสูงสุดถึง ๑๑๒,๕๐๐ ล้านบาท หรือต่ำสุดประมาณ ๘๖,๗๓๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าทรัพย์สินที่น้อยกว่าที่ ปตท.คืนให้กับรัฐอย่างชัดเจน

นอกจากการคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วนแล้ว ปรากฏว่าบริษัท ปตท. ยังได้เสนอขอคิดค่าผ่านท่อก๊าซเพิ่มเติมอีกทั้ง ๆที่อัตราที่เรียกเก็บอยู่ในปัจจุบันก็เป็นอัตราที่สูงเกินควรและเป็นภาระค่าไฟฟ้ากับประชาชนถึง ๓,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี ทั้งที่ท่อเหล่านี้ไม่ใช่ของ ปตท. ซ้ำคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ยังทำตัวเป็นตรายางอนุมัติปรับค่าผ่านท่อเพิ่มอีก ๒.๐๒๑๘ บาทต่อหนึ่งล้านบีทียู ซึ่งจะทำให้ประชาชนต้องรับภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ๔,๕๐๐ ล้านบาท ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ขาดข้อมูล กกพ. ก็ใช้วิธีเพียงการเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนผ่านอินเทอร์เนต โดยกำหนดให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๒

“การปรับขึ้นค่าท่อก๊าซซึ่ง กกพ. ได้ให้ความเห็นชอบไปแล้ว เป็นการคิดค่าบริการที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมสำหรับประชาชนเป็นอย่างยิ่ง มีการเอาเงินลงทุนที่เป็นของรัฐมาคำนวณเป็นต้นทุนของ ปตท. หรือไปเอาโครงการท่อก๊าซในอนาคตที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความต้องการพลังงานที่แท้จริงมาคำนวณด้วย ถือเป็นสูตรการคำนวณค่าบริการที่เอารัดเอาเปรียบประชาชนเป็นอย่างมาก ถ้าถอดปัจจัยเหล่านี้ออกไปจากสูตรการคำนวณ ดิฉันคิดว่าค่าท่อก๊าซจะต่ำกว่าที่เก็บอยู่ในปัจจุบันด้วยซ้ำ ดิฉันอยากจะเรียกร้องให้ประชาชนลุกขึ้นมาคัดค้านการประกาศใช้อัตราค่าผ่านท่อดังกล่าว เพราะสุดท้ายจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าที่เก็บจากประชาชนต้องขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นางสาวสารีกล่าว

นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า การขยายการลงทุนระบบท่อก๊าซของ บมจ.ปตท. เชื่อมโยงกับการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ของกระทรวงพลังงาน เนื่องจากโรงไฟฟ้าเป็นผู้ใช้ก๊าซหลักถึงร้อยละ ๗๐ โดยแผน PDP ฉบับปรับปรุงครั้งที่ ๒ ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ มีการตรวจสอบโดยสังคมจนพบเงื่อนงำปัญหาหลายด้าน ทั้งการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าที่สูงมาก การจำกัดทางเลือกโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และปัญหาธรรมาภิบาลในการวางแผนและตัดสินใจ ซึ่งนำมาสู่การกำหนดสร้างโรงไฟฟ้าโดยไม่จำเป็นและเป็นภาระให้กับผู้บริโภคไม่น้อยกว่า ๒๕๐,๐๐๐ ล้านบาท

 

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน