ข้าวแกงโขกแพงดักหน้าLPGขึ้น พาณิชย์ถกผู้ค้าก๊าซ-ปตท. สกัดลักไก่ปรับ"ค่าขนส่ง"

สมาคมผู้ค้าแอลพีจีแฉร้านข้าวแกงดอดโขกแพงจานละ 5-10 บาท ดักหน้ารัฐปรับแอลพีจี มิ.ย.นี้  กฤษฎีกาไฟเขียวใช้เงินกองทุนฯ ชดเชยแอลพีจีผู้มีรายได้น้อย ด้านพาณิชย์นัดผู้ค้าก๊าซฯ-ปตท. หารือแผนรับมือปรับก๊าซหุ้งต้ม สกัดพ่อค้ามั่วนิ่มขึ้นค่าขนส่งจนประชาชนเดือดร้อน ขู่ฉวยโอกาสโดนแน่
นายชิษณุพงศ์ รุ่งโรจน์งามเจริญ นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงพลังงานเตรียมปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนเดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม (กก.) ประมาณเดือน มิ.ย.2556 นั้น  สมาคมฯ พบว่าปัจจุบันร้านค้าข้าวแกงได้เริ่มทยอยปรับขึ้นราคาอาหารเป็น 35-40 บาทต่อจาน จากเดิมขายอยู่ 30 บาทต่อจาน โดยเป็นการตั้งราคาเพิ่มเพื่อรอการปรับขึ้นราคาแอลพีจี รวมทั้งอ้างเหตุผลต้นทุนวัตถุดิบอาหารปรับขึ้นด้วย

สำหรับต้นทุนราคาข้าวแกง จากการคำนวณของหลายหน่วยงานพบว่า หากราคาแอลพีจีขึ้น 10 บาทต่อถัง กระทบต่อต้นทุนข้าวแกงเพียง 5-10 สตางต์ต่อจาน และหากปรับขึ้นสูงสุด 100 บาทต่อถัง จะกระทบ 50 สตางต์ต่อจานเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่เห็นด้วยหากร้านค้าจะปรับขึ้นราคาข้าวแกงในอนาคต เนื่องจากส่วนหนึ่งภาครัฐได้เข้าไปช่วยชดเชยราคาแอลพีจีให้กลุ่มหาบเร่แผง ลอยและกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ถึง 90 หน่วยต่อเดือน ให้สามารถใช้แอลพีจีราคาเดิมที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว


นอกจากนี้ สมาคมฯ ได้ประชุมร่วมกันเมื่อปลายเดือน  เม.ย.ที่ผ่านมา และมีความเห็นร่วมกันว่าสมาชิกร้านค้าก๊าซแอลพีจีของสมาคมฯ ที่มีกว่า 1,700 แห่งทั่วประเทศ พร้อมเข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลเพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างภาครัฐและประชาชนผู้ใช้ แอลพีจี อาทิ การสำรวจความเห็นของการปรับขึ้นราคาแอลพีจีในกลุ่มหาบเร่แผงลอยและผู้ใช้แอล พีจีภาคครัวเรือน รวมทั้งช่วยแจ้งผู้ใช้ถึงรายละเอียดวิธีการชดเชยแอลพีจี เนื่องจากร้านค้าแอลพีจีมีความใกล้ชิดกับผู้ใช้ สามารถเข้าถึงหรือสอบถามข้อมูลได้ชัดเจนและทราบพฤติกรรมการใช้แอลพีจีของ ประชาชนเป็นอย่างดี


นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ.ได้เข้าชี้แจงคณะกฤษฎีกาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อให้พิจารณาว่าการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปชดเชยราคาแอลพีจีให้ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย สามารถกระทำได้หรือไม่ โดยกฤษฎีกาเห็นว่าไม่จำเป็นต้องนำมาหารือ เนื่องจากเป็นการลดกลุ่มผู้ถูกชดเชยลงจากเดิมที่มีการชดเชยทั้งประเทศ ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงในหลักการ อีกทั้งการชดเชยไม่ใช่การให้เงินผู้ใช้โดยตรง แต่ผ่านผู้ค้ามาตรา 7 ดังนั้น สามารถกระทำได้ต่อไป


น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้กรมฯ จะเชิญร้านค้าก๊าซหุงต้ม และ บมจ.ปตท. มาหารือถึงสถานการณ์ราคาก๊าซหุงต้มหลังจากที่รัฐบาลมีแผนจะปรับขึ้นราคา จำหน่าย กก.ละ 50 สตางค์ทุก 1 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย.2556 เป็นต้นไป รวมทั้งแนวโน้มการคิดค่าขนส่งก๊าซหุงต้มที่เหมาะสม เพราะเริ่มได้รับการร้องเรียนว่ามีร้านค้าบางรายมีการปรับราคาค่าขนส่งขึ้น มากกว่าที่เคยได้มีการตกลงกันไว้


ทั้งนี้ จากการประเมินของกรมฯ หลังปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม ประชาชนจะจ่ายค่าก๊าซหุงต้มถัง 15 กก. ไม่เกินถังละ 300 บาท โดยแยกเป็นต้นทุนราคาก๊าซหุงต้ม 275-285 บาท บวกราคาที่ปรับขึ้นถังละ 7.50 บาท และรวมค่าขนส่งที่ถังละ 10 บาท จะทำให้ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 295-300 บาท/ถังเท่านั้น หากร้านค้าจำหน่ายสูงกว่าราคานี้ จะถือเป็นการเอาเปรียบประชาชน.

ข้อมูลจาก นสพ.ไทยโพสต์
16/5/56

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน