พลังงานแก้วิกฤติสั่งดับไฟ2ชม. กฟภ.ปรับกรอบเงินลงทุนเพิ่ม9หมื่นล.

กฟน- กฟภ. ขานรับแบ่งสัดส่วนดับไฟฟ้า 30:70% ยืนยันดับเฉพาะพื้นที่ชนบทห่างไกลไม่กระทบนิคมอุตฯ แบงก์ โรงพยาบาล “ณอคุณ” ยันไฟฟ้าไม่ดับแน่ รัฐมนตรีพลังงานเตรียมสรุปผล 6 มี.ค.56 ด้าน ครม. ไฟเขียว กฟภ. ปรับกรอบเงินลงทุนเป็น 9 หมื่นล้านบาท จากเดิม 6.7 หมื่นล้านบาท

นายธนา พุฒรังสี รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยภายหลังประชุมรวม 3 การไฟฟ้า กฟผ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อรองรับปัญหาวิกฤติไฟฟ้าไทยในวันที่ 5 เม.ย.2556 ว่า กฟผ.ได้ทำข้อตกลงกับ กฟภ.และ กฟน.ใช้มาตรการดับไฟฟ้ากรณีไฟฟ้าไม่เพียงพอ โดย กฟน.จะดับไฟฟ้า 30% กฟภ.ดับไฟฟ้า 70% ของปริมาณไฟฟ้าที่ตั้งเป้าหมายจะตัด เช่น หากผลิตไฟฟ้าได้ 26,000 เมกะวัตต์ แต่ความต้องการใช้สูงเกินอยู่ที่ 26,300 เมกะวัตต์ ดังนั้น ส่วนเกิน 300 เมกะวัตต์ ทาง กฟน.ต้องสั่งดับไฟฟ้าลง 30% หรือประมาณ 90 เมกะวัตต์ และกฟภ.ดับไฟฟ้าลง 70% หรือประมาณ 210 เมกะวัตต์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากพม่าปิดซ่อมเกินระยะเวลาที่กำหนด 5-14 เม.ย.2556 นั้น ทาง กฟผ.ได้วางแผนรับมือไว้ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 21 เม.ย.2556 ซึ่งไม่น่าเป็นห่วงเพราะสำรองไฟฟ้าจะกลับมาเพิ่มมากขึ้นแล้ว
ทั้งนี้ จากมาตรการขอความร่วมมือเพิ่มการผลิตไฟฟ้าและประหยัดพลังงานในภาคอุตสาหกรรม พบว่า ในวันที่ 5 เม.ย.2556 ภาคอุตสาหกรรม ประหยัดได้ 214 เมกะวัตต์ ส่วนการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้านั้น ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (เอสพีพี) จะผลิตเพิ่มได้ 100 เมกะวัตต์ และซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียอีก 200 เมกะวัตต์ ดังนั้น ทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของไทยในวันดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 1,291 เมกะวัตต์

“สภาพอากาศที่ปรับตัวเย็นลง 25-30 องศา ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดการใช้ไฟฟ้าของประเทศลดต่ำลงมากถึง 1,400-2,000 เมกะวัตต์ ดังนั้น หากในวันที่ 5 เม.ย.2556 ซึ่งเป็นวันที่พม่าเริ่มปิดซ่อมท่อก๊าซธรรมชาติและสภาวะอุณหภูมิลดต่ำ 25-30 องศาเช่นปัจจุบัน จะส่งผลดี ไม่เกิดสถานการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก)” นายธนา กล่าว

นายชาญชัย บัณฑิตเสาวภาคย์ รองผู้ว่าการควบคุมระบบไฟฟ้า กฟภ.กล่าวว่า หากจำเป็นต้องดับไฟฟ้าในช่วงวิกฤติไฟฟ้าของประเทศนั้น ทาง กฟภ.และ กฟน.ยืนยันจะดับไฟฟ้าในพื้นที่ชนบทห่างไกลก่อนเท่านั้น เช่น หากต้องดับไฟฟ้าในจังหวัดระยอง จะเลือกดับรอบนอกจังหวัดระยองก่อน ทั้งนี้ยืนยันจะไม่ดับไฟฟ้าในพื้นที่สำคัญ เช่น นิคมอุตสาหกรรม พื้นที่ท่องเที่ยว โรงพยาบาลและสถาบันการเงิน เป็นต้น และการดับไฟฟ้าจะใช้ระบบเวียนดับสลับกันเพียง 1-2 ชั่วโมง และขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้ไฟฟ้าระหว่างช่วง 13.30-15.00 น. และ 18.30-21.00 น. โดยหากเลี่ยงการใช้เวลาดังกล่าวได้เชื่อว่าจะไม่เกิดภาวะวิกฤติไฟฟ้าขึ้น

นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในวันที่ 6 มี.ค.2556 นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน จะประมวลผลและสรุปความคืบหน้าการรับมือวิกฤติไฟฟ้าจากทุกภาคส่วน ร่วมกับ กฟผ. ปตท. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์  การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และส.อ.ท. เป็นต้น

นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการปรับปรุงกรอบวงเงินลงทุนของแผนพัฒนาระบบไฟฟ้าในช่วงแผนพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ในช่วงปี 2550-2554 ของ กฟภ. จากเงินลงทุนเดิม  67,120 ล้านบาท เป็น 90,982.41 ล้านบาท.

ข้อมูลจาก นสพ.ไทยโพสต์ 6/3/56

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน