พลังงานเร่งทำความเข้าใจประชาชน หวังลดอคติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ยันไทยเลือกเทคโนโลยีที่ดีที่สุดรับมือแผ่นดินไหว 10 ริกเตอร์ พร้อมสร้างบุคลากรและกฎหมายรองรับ คาดสร้างจริงพื้นที่ติดทะเลภาคใต้
นายชวลิต พิชาลัย รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน เกี่ยวกับเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ หลังจากที่มีการต่อต้านแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จนส่งผลให้ต้องเลื่อน ก่อสร้าง จากเดิมที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าปี 2553-2573 (พีดีพี 2010) กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2563 ไปเป็นปี 2569
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบว่าประชาชนยังมีแนวคิดแง่ลบเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทำให้แผน ศึกษาดังกล่าวชะงักไป ดังนั้น ในช่วงนี้ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชน ทั้งในส่วนของเทคโนโลยีที่จะนำเทคโนโลยีรุ่นที่ 3 ซึ่งเป็นระบบความดันมาใช้ โดยระบบน้ำทั้งหมดจะอยู่ภายในโรงไฟฟ้า และความสามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนได้ที่ระดับ 7-10 ริกเตอร์ เพราะที่ผ่านมา แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในไทยจะไม่เกิน 5 ริกเตอร์ ซึ่งในส่วนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นบางโรงเป็นเทคโนโลยีรุ่นเก่าที่ออก แบบมาเพื่อรองรับแรงสั่นสะเทือนที่ 8 ริกเตอร์ แต่ระบบน้ำจะอยู่ด้านนอก เมื่อเกิดแผ่นดินไหวจะมีผลต่อท่อปรับความดันแตกทำให้สารกัมมันตรังสีรั่วลง ทะเล
สำหรับการศึกษาพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขณะนี้ยังเลือกอยู่ 2 แห่ง จากทั้งหมด 14 แห่ง โดยความเหมาะสมของพื้นที่จะอยู่ในเขตภาคใต้ติดกับอ่าวไทย เนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งน้ำซึ่งยังต้องศึกษาชั้นหินเพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่ เสี่ยงแผ่นดินไหวด้วย
“ขณะนี้การศึกษาการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยชะงักลง ซึ่งในแผนพีดีพีเหลือเพียง 2 โรง กำลังผลิตรวม 2,000 เมกะวัตต์ จากเดิม 5 โรง กำลังผลิตรวม 5,000 เมกะวัตต์ และเลื่อนไปเป็นปี 2569 ดังนั้น ในช่วงนี้การสร้างความรู้ความเข้าใจกับมวลชนเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ในช่วงนี้ก็จะเดินหน้าให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับประโยชน์ของเชื้อเพลิง นิวเคลียร์ลดโลกร้อนและการทำการวิจัยทางการแพทย์ นอกจากนี้ การเตรียมความพร้อมด้านคนและกฎหมายจะต้องพร้อมด้วย ทั้งนี้ หากแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะต้องเลื่อนออกไปอีก ก็จำเป็นต้องเลือกเชื้อเพลิงชนิดอื่นเข้ามาทดแทน อาทิ เชื้อเพลิงถ่านหิน เนื่องจากมีต้นทุนถูกและนำเข้าได้ง่าย" นายชวลิต กล่าว.
ข้อมูลจาก นสพ.ไทยโพสต์ 6/8/55