ก.พลังงานลุ้นนิวเคลียรอีกเฮือก

กระทรวงพลังงาน เดินหน้าสร้างความเข้าใจประชาชน หวังลดอคติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ยันไทยเลือกเทคโนโลยีที่ดีที่สุด ไร้กังวลการรั่วไหลสารพิษ รองรับแผ่นดินไหว 10 ริกเตอร์ พร้อมเร่งสร้างบุคคลากรรองรับ  



นายชวลิต พิชาลัย รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน เกี่ยวกับเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ หลังจากที่มีการต่อต้านแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย จนส่งผลให้ต้องเลื่อนก่อสร้าง จากเดิมที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าปี 2553-2573 (พีดีพี 2010) กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2563 ไปเป็นปี 2569

 ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบว่าประชาชนยังมีแนวคิดแง่ลบเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทำให้แผนศึกษาดังกล่าวชะงักไป ดังนั้นในช่วงนี้ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชน ทั้งในส่วนของเทคโนโลยี ที่จะนำเทคโนโลยีรุ่นที่ 3 ซึ่งเป็นระบบความดันมาใช้ โดยระบบน้ำทั้งหมดจะอยู่ภายในโรงไฟฟ้า และความสามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนได้ที่ระดับ 7-10 ริกเตอร์ เพราะที่ผ่านมาแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในไทยจะไม่เกิน 5 ริกเตอร์ ซึ่งในส่วนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นบางโรง เป็นเทคโนโลยีรุ่นเก่า ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับแรงสั่นสะเทือนที่ 8 ริกเตอร์ แต่ระบบน้ำจะอยู่ด้านนอก เมื่อเกิดแผ่นดินไหว จะมีผลต่อท่อปรับความดันแตก ทำให้สารกัมมันตรังสีรั่วลงทะเล
 นอกจากนี้ ยังศึกษาแนวทางในการรับมือหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะในการพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อม และรู้เท่าทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สำหรับการศึกษาพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขณะนี้ยังเลือกอยู่ 2 แห่ง จากทั้งหมด 14 แห่ง โดยความเหมาะสมของพื้นที่จะอยู่ในเขตภาคใต้ ติดกับอ่าวไทย เนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ซึ่งยังต้องศึกษาชั้นหินเพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่ทเสี่ยงแผ่นดินไหวด้วย

 "ตอนนี้การศึกษาการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยชะงักลง ซึ่งในแผนพีดีพีเหลือเพียง 2 โรง กำลังผลิตรวม 2,000 เมกะวัตต์ จากเดิม 5 โรง กำลังผลิตรวม 5,000 เมกะวัตต์ และเลื่อนไปเป็นปี 2569 ดังนั้นในช่วงนี้การสร้างความรู้ความเข้าใจกับมวลชนเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ในช่วงนี้ก็จะเดินหน้าให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับประโยชน์ของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ลดโลกร้อน และการทำการวิจัยทางการแพทย์ นอกจากนี้การเตรียมความพร้อมด้านคนและกฎหมายจะต้องพร้อมด้วย"นายชวลิต กล่าวและว่า

 หากแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะต้องเลื่อนออกไปอีก ก็จำเป็นต้องเลือกเชื้อเพลิงชนิดอื่นเข้ามาทดแทน อาทิ เชื้อเพลิงถ่านหิน ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้ให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนถูก เมื่อเทียบกับก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ถ่านหินยังนำเข้าได้ง่าย

 "เชื้อเพลิงทางเลือก หากนิวเคลียร์ไม่สามารถเกิดได้ ตอนนี้คงจะเป็นถ่านหิน รวมทั้งเร่งผลักดันพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ปัจจุบันการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีก็มีราคาแพงมาก หากนำมาผลิตไฟฟ้าเชื่อว่าจะสะท้อนไปยังราคาค่าไฟแน่นอน"

 นายชวลิต กล่าวเสริมอีกว่า  สำหรับเหตุผลและความจำเป็นของการคิดใช้พลังงานนิวเคลียร์ คือเรื่องความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงพลังงาน เพราะปัจจุบันไทยพึ่งเชื้อเพลิงก๊าซในการผลิตไฟฟ้าถึง 70% ซึ่งสูงติดอันดับ 3 ของโลก ในขณะที่ก๊าซในอ่าวไทยเหลือพอใช้ประมาณ 22 ปีเท่านั้น



วันศุกร์ที่ 27 กรกฏาคม 2012 เวลา 18:58 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน