มติกกพ. อนุมัติขึ้นค่าเอฟที รอบ พ.ค.-ส.ค. อีก 30 สต./หน่วย ขณะที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าทุบสถิติอีกครั้ง
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรคกูเลเตอร์) เปิดเผยภายหลังการประชุมเพื่อพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอ ฟที)รอบเดือนพ.ค.-ส.ค. 2555 ว่า ที่ประชุมอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าเอฟที 30 สต./หน่วย เพื่อให้สะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงที่แท้จริง ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บตั้งแต่เดือนพ.ค.จะปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย7-8% จากปัจจุบันที่อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.23 บาท/หน่วย
การปรับขึ้นค่าเอฟทีในอัตราดังกล่าวยังเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าการคำนวณของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่แจ้งไว้ ซึ่งต้องปรับขึ้นค่าเอฟที 57.45สต./หน่วย โดยอยู่บนพื้นฐานของต้นทุนค่าผลิตไฟฟ้า 38.40 สต./หน่วย ค่าเชื้อเพลิงและค่ารับซื้อไฟฟ้าเดิมที่กฟผ.รับภาระอยู่ก่อนแล้ว 19.05 หน่วย
ทั้งนี้สาเหตุหลักที่ทำให้ค่าเอฟทีปรับสูงขึ้น เนื่องจากการคำนวณตัวเลขต้องใช้ข้อมูลพื้นฐานย้อนหลัง4เดือน คือ ม.ค.-เม.ย. ซึ่งพบว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่ภาคการผลิตเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัว มีการผลิตสินค้ากันมากขึ้น นอกจากนี้สภาพอากาศที่ร้อนสูงผิดปกติ ส่งผลให้การใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น และราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าก็ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ราคาอยู่ที่ 301.28 บาท/ล้านบีทียู ปรับเพิ่มขึ้น8.63 บาท/ล้านบีทียูจาก294 บาท/ล้านบีทียู
“ค่าเอฟทีงวดนี้จำเป็นต้องปรับขึ้นเพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้สะท้อนต้นทุน เชื้อเพลิงสูงขึ้น ซึ่งพยายามบริหารให้ปรับขึ้นน้อยที่สุด โดยขอให้กฟผ. เข้ามาช่วยรับภาระเอฟทีไปก่อน 19.05 สต./หน่วย หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 1.02 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันก็ใช้เงินเรียกคืนจากการลงทุนของ3 การไฟฟ้าจำนวน 3,100 ล้านบาท มาบรรเทาต้นทุนค่าเอฟทีด้วย แต่ถ้าเป็นไปได้ค่าเอฟทีงวดหน้าหากมีแนวโน้มลดลงก็อาจทยอยคืนเงินให้กฟผ.งวด ละ 5 สต./หน่วยจนครบในสิ้นปี 2556”นายดิเรกกล่าว
นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงานกล่าวว่า ทางเรคกูเลเตอร์ได้มาหารือเรื่องค่าเอฟทีแล้ว ต้องยอมรับว่าค่าไฟฟ้าได้ตรึงไว้มานาน ซึ่งกฟผ.ต้องแบกรับภาระนับหมื่นล้านบาทซึ่งหลักการของกระทรวงพลังงานต้องการ ให้ราคาสะท้อนกลไกต้นทุนที่แท้จริง
ด้าน นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า วันนี้ (25 เม.ย.) เวลา 14.30 น. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) ได้พุ่งสูงสุดถึง25,682 เมกะวัตต์ ทำลายสถิติเดิมวานนี้ (24 เมษายน 2555) ที่ 25,551 เมกะวัตต์ จากสาเหตุสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว โดยมีอุณหภูมิสูงถึง 38.4 องศาเซลเซียส จึงขอความร่วมมือประชาชน ในการลดใช้พลังงาน
ข้อมูลจาก นสพ.โพสต์ทูเดย์ 25/4/55