คอบช. จี้ สคบ. จัดการ ‘ร้านทอง’ ฉวยโอกาสช่วงโควิด - 19 กดราคาเอาเปรียบผู้บริโภค พร้อมเตือนผู้บริโภคเช็คราคาก่อนขาย
คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ติดตามปัญหาสถานการณ์ผู้บริโภคในช่วงที่ไวรัสโควิด - 19 กำลังระบาด พบว่า มีผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก จากกรณีที่ร้านทองมีการรับซื้อทองในราคาต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด
ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าและบริการทั่วไป คอบช. กล่าวว่า ในการประกอบธุรกิจค้าทอง ร้านทองมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2544) และฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2556) เรื่องให้ทองรูปพรรณเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ซึ่งต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้า เช่น ปริมาณความบริสุทธิ์ของทองรูปพรรณ น้ำหนัก ค่าแรงหรือค่ากำเหน็จ และราคารับซื้อคืนตามที่สมาคมค้าทองกำหนด โดยข้อเท็จจริงพบว่า เมื่อผู้บริโภคนำทองไปขายให้แก่ร้านทอง แต่ร้านกลับรับซื้อในราคาที่ต่ำกว่ากฎหมาย คือ ประกาศของสมาคมค้าทองคำให้รับซื้อทองรูปพรรณ ราคาประมาณ 24,938 บาท แต่ร้านทองรับซื้อในราคาไม่เกิน 23,000 บาท มีส่วนต่างทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ ขาดทุนหลายพันบาท จึงเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เร่งตรวจสอบและจัดการกับร้านทอง โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่ฝ่าฝืนประกาศดังกล่าว และลงโทษตามกฎหมายขั้นสูงสุด พร้อมมีมาตรการเพื่อป้องกันการฮั้วราคาของผู้ประกอบการร้านทอง
ด้าน นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ อนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป คอบช. กล่าวว่า ฝากเตือนผู้บริโภคให้ตรวจสอบราคากับสมาคมค้าทองคำก่อนขาย อีกทั้ง สคบ. มีหลักเกณฑ์ขายทองรูปพรรณร้านที่ซื้อมาหักได้ไม่เกิน 5% โดยให้คิดจากราคารับซื้อคืนทองคำแท่งในวันนั้น ๆ โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีซื้อหรือขายกับร้านทองร้านเดิมเท่านั้น เห็นว่าการกระทำในลักษณะนี้ อาจเข้าข่ายบิดเบือนราคา ตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
“หากพบร้านทองร้านใดขายราคาต่ำกว่าประกาศ ขอให้ช่วยกันร้องเรียนไปที่ สคบ. สายด่วน 1166 เพื่อรักษาประโยชน์ของตนเองและผู้บริโภคส่วนรวม และขอเรียกร้องให้สมาคมฯ ควบคุมสมาชิกให้ยุติการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยทันที เพราะมีผู้บริโภคจำนวนมากนำทองไปขายคืน เนื่องจากขาดรายได้ในช่วงสถานการณ์โรคระบาด การที่ร้านทองมากดราคากับผู้บริโภคในช่วงวิกฤตแบบนี้ ถือว่าเป็นการเอาเปรียบและซ้ำเติมผู้บริโภค” นายภัทรกร กล่าวและว่า นอกจากนี้การจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคยังมีความล่าช้า ผู้บริโภคยังขาดตัวแทนที่เป็นทางการ หากมีสภาองค์กรผู้บริโภคระดับประเทศที่จะเป็นกลไกในการคุ้มครองผู้บริโภค ให้มีพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค และร่วมสร้างสังคมที่เป็นธรรม
สำหรับท่านใดที่ต้องการร้องเรียนปัญหาร้านทอง สามารถร้องเรียนได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทรศัพท์ 089 788 9152, 084 652 4607 หรือ อีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.