เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร โฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พบว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยที่เกิดขึ้นในช่วง 3-4 ทศวรรษ ทำให้ประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่มีประชากรอายุ 60 ปี มากกว่าร้อยละ 10 ซึ่งสาเหตุของการเพิ่มประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วมาจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ 1.การลดลงของภาวะเจริญพันธุ์หรือการเกิดน้อยลง 2.การลดภาวการณ์ตายทำให้อายุคนไทยยืนยาวขึ้น เมื่อปี 2507 อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของเพศชาย 55 ปี เพศหญิง 62 ปี แต่ในปี 2558 อายุคาดเฉลี่ยฯ เพิ่มสูงขึ้นโดยเพศชาย 72 ปี เพศหญิง 79 ปี และคาดการณ์ว่าในปี 2568 อายุคาดเฉลี่ยฯ ของเพศชาย 76 ปี เพศหญิง 83 ปี
“แนวโน้มนี้ส่งผลให้ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นการก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ทำให้ธุรกิจบริการสำหรับผู้สูงอายุขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสถานดูแลผู้สูงอายุ หรือ เนิร์สซิ่งโฮม ที่ให้บริการดูแลการใช้ชีวิตประจำวัน การจัดกิจกรรมสร้างสังคมระหว่างผู้สูงอายุ ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่มักจะเป็นโรคเรื้อรัง อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ฯลฯ และบางแห่งอาจจะมีการให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุประกอบด้วย” นพ.ธงชัย กล่าวและว่า
อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล ที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 กำหนดให้การประกอบวิชาชีพเวชกรรมใดๆ ทางการแพทย์ต้องดำเนินการในสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีแพทย์ที่ได้รับวุฒิบัตร หรือหนังสืออนุมัติจากสภาวิชาชีพดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาเปิดทำการ สบส.จึงเน้นย้ำว่าหากสถานบริการสำหรับผู้สูงอายุแห่งใดต้องการจัดให้มีบริการด้านการแพทย์ ทั้งการให้น้ำเกลือ ฉีดยา หรือทำหัตถการทางการแพทย์ ต้องขออนุญาตเปิดเป็นสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายจาก สบส.หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในพื้นที่ มิเช่นนั้นถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ ข้อหาเปิดสถานพยาบาลเถื่อน โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้ง หากผู้ให้บริการไม่ใช่แพทย์ จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ข้อหาเป็นหมอเถื่อน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับด้วย
นพ.ธงชัย กล่าวต่อไปว่า สบส.อยู่ระหว่างการพัฒนากฎหมายลูก ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 เพื่อส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุ ซึ่งมีการให้บริการด้านสุขภาพ ที่ไม่ใช่การบำบัดรักษาโรค หรือบริการทางการแพทย์ เพื่อให้การบริการดังกล่าวมาตรฐาน และเกิดความปลอดภัยต่อประชาชนผู้รับบริการ