สัญญาณขาขึ้นผู้ป่วยจากแร่ใยหินอีก 2 ราย ก.อุตสาหกรรม เสนอ ครม. ยืดใช้ต่อสวนทางโลกเลิกใช้ใยหิน เครือข่ายไม่เอาใยหิน ย้ำต้องทำตามมติครม. เลิกใยหินสิ้นปีนี้ โดยถาม ก.อุตฯ ไหนว่าจะดำเนินนโยบายอุตสาหกรรมเขียว
เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๓.๓๐ น. ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายสังคมไทยไร้แร่ใยหิน (T-BAN) จัดแถลงข่าว “เครือข่ายไม่เอาใยหินย้ำต้องทำตามมติ ครม. เลิกใยหินสิ้นปีนี้” เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ในการยกเลิกนำเข้าและผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินแอสเบสทอส
โดยนพ.อดุลย์ บัณฑุกุล เลขาธิการสมาพันธ์อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน และเครือข่ายสังคมไทยไร้แร่ใยหิน (T-BAN) กล่าวว่า วารสารแพทยสมาคม เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (Med Assoc Thai Vol. 95 Suppl. 8 2012) ได้นำเสนอบทความโดย พญ.พงษ์ลดา สุพรรณชาติ, นพ.ณรงค์ภณ ทุมวิภาต และนพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ได้รายงานว่าพบผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอด และโรคปอดแอสเบสโตซิส ซึ่งมีประวัติสัมผัสแร่ใยหิน หรือแอสเบสทอสเพิ่มอีก 2 ราย หลังจากเคยพบผู้ป่วยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดที่มีประวัติสัมผัสใยหินเสียชีวิตรายแรกในปี 2552 โดยบทความนี้ชี้ว่าแอสเบสทอส เป็นสารซึ่งมีอันตรายต่อสุขภาพ สามารถก่อให้เกิดโรคในคนทั้งที่เป็นเนื้อร้าย และโรคอื่นๆ ที่มิใช่เนื้อร้าย ซึ่งเป็นโรคที่ป้องกันได้แต่ไม่สามารถรักษาให้หายได้
“ผู้เสียชีวิตทั้ง 2 รายเป็นเพศชาย โดยรายแรกอายุ 51 ปี มาพบแพทย์ในเดือนพฤษภาคม ปี 2551 โดยมีอาการมาแล้ว 1 เดือน แพทย์วินิจฉัยเป็นโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด มีประวัติทำงานในโรงงานที่ใช้ใยหิน มาตั้งแต่ ปี 2528 และเสียชีวิตภายในเวลา 4 เดือนหลังมาพบแพทย์ ส่วนผู้เสียชีวิตรายที่ 2 อายุ 76 ปี มีประวัติสูบบุหรี่และมีโรคร่วมอื่นๆ ป่วยมากว่า 5 ปี ได้มาตรวจในเดือนกรกฎาคม ปี 2554 ทำงานในโรงงานที่ใช้ใยหิน 35 ปีและเกษียณออกจากงานเมื่ออายุ 60 ปี ทั้งนี้ ผู้รายงานเสนอว่าการใช้แอสเบสทอสปริมาณสูงเป็นระยะเวลายาวนานในประเทศไทยจะทำให้โรคซึ่งมีสาเหตุจากแอสเบสทอเป็นปัญหาในอนาคตอันใกล้นี้” นพ.อดุลย์ กล่าว
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในขณะที่พบผู้ป่วยเพิ่ม แต่กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กลับเตรียมเสนอ ครม. ยืดเวลาเลิกนำเข้าและใช้ใยหินจากกระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องยาง ท่อซิเมนต์ เบรก และคลัทช์ ออกไปทุกชนิด อย่างน้อยอีก 2-5 ปีตามชนิดผลิตภัณฑ์ ทั้งที่ มติครม. ปี 2554 กำหนดให้ยกเลิกนำเข้าและผลิตใยหินในปี 2555 และกำหนดให้กระทรวงอุตสาหกรรมศึกษาแผนการยกเลิกตามเป้าหมายดังกล่าว แต่กรมโรงงานฯ ได้จ้างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชทำแผนยืดเวลาในการยกเลิกการนำเข้าการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบออกไป ซึ่งไม่สอดคล้องกับมติครม. ซึ่งจนถึงขณะนี้เป็นเวลากว่า 1 ปีที่มีมติครม. แต่กลับยังไม่มีมาตรการใดๆ ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่มีผลต่อสุขภาพ
ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เครือข่ายนักวิชาการ 9 สถาบัน กล่าวว่า การที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอยืดเวลาใช้ใยหิน เป็นการสวนทางแนวโน้มของประเทศในโลกที่ยกเลิกใยหิน ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ องค์การอนามัยโลก ภูมิภาคยุโรป ได้ออกรายงานการประชุมเรื่อง การศึกษาและประเมินแผนแห่งชาติในการกำจัดโรคที่เกี่ยวกับแร่ใยหิน ที่ได้ประชุมเมื่อเดือนมิถุนายน 2554 โดยย้ำเตือนอันตรายของแร่ใยหิน รวมทั้งแร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ ที่นอกจากเป็นสาเหตุของมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด และมีผลต่อการเกิดมะเร็งกล่องเสียง และมะเร็งรังไข่ด้วย ทั้งนี้การออกกฎหมายยกเลิกการผลิต การใช้ การนำเข้า ถือเป็นมาตรการที่มีประสิทธิผลสูงสุด ในขณะที่ในเอเชียอย่าง ประเทศเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ได้ยกเลิกโดยเด็ดขาด และไต้หวันจะยกเลิกกระเบื้องที่มีใยหินในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2556 ส่วนประเทศแคนาดาซึ่งเป็นประเทศส่งออกใยหิน ได้หยุดการสนับสนุนการให้เงินกู้แก่โรงงานผลิตใยหินที่จะขยายการผลิตต่อไป
“ตัวอย่างความสำเร็จในประเทศเยอรมันนี กลุ่มผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างได้เริ่มผลิตผลิตภัณฑ์ไร้แร่ใยหินมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1982 หลังจากปัญหาแร่ใยหินมีผลต่อสุขภาพเป็นที่ปรากฏต่อสาธารณะ และภาคอุตสาหกรรมได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และเข้ามามีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม โดยผลิตสินค้าทดแทนการใช้แร่ใยหิน คือ ซีเมนต์จากเส้นใย (fibre cement) สามารถนำไปผลิตสินค้าในกลุ่มวัสดุก่อสร้างอาทิ กระเบื้องลอนมุงหลังคา กระเบื้องแผ่นเรียบ แผ่นฝ้ากั้นผนัง ท่อระบายน้ำ ท่อระบายอากาศ ในระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไร้แร่ใยหิน ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ด้อยกว่า สินค้าที่มีส่วนประกอบแร่ใยหิน และประเด็นเรื่องราคา ก็เป็นราคาที่ผู้บริโภคสามารถจ่ายได้ ไม่มีปัญหาเรื่องราคาแพงจนคนจนเข้าไม่ถึงผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยตามที่เคยเป็นข่าว เพราะในประเทศเยอรมันนีนั้น การก่อสร้างต้องใช้หลังคาที่เป็นผลิตภัณฑ์ไร้แร่ใยหิน ซึ่งสามารถทนต่อสภาพอากาศที่รุนแรงเช่น หิมะตก ลมพายุ ตอนเปลี่ยนฤดู ได้ดีกว่า” ดร.ไพบูลย์ กล่าว
นางสมบุญ ศรีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าว่า เครือข่ายสังคมไทยไร้แร่ใยหิน ได้ยื่นจดหมายเรียกร้องให้นายกฯ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยขอให้รัฐบาลยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกชนิดภายในปี 2555 ตามมติครม. เมื่อปี 2554 ที่เสนอโดยมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งมีนพ.ประสิทธิ ชัยวิรัตนะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้รับเรื่องแทนนายกฯ และทราบว่า จะมีการประชุมหน่วยงานภาครัฐและจะนำข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรมมาพิจารณา ในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ เพื่อนำเสนอครม.ต่อไป ทั้งนี้ เครือข่ายฯ เห็นว่าหากข้อเสนอที่ให้เลิกใยหินในปี 2555 ไม่เป็นผล ถือว่า เป็นการไม่ทำตามมติครม. และสวนทางกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ประกาศว่า จะส่งเสริมการดำเนินการอุตสาหกรรมเขียว (Green Industry) แต่กลับการขยายเวลาใช้แร่ใยหินต่อไป