สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) สำนักนายกรัฐมนตรี จัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการควบคุมสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน และมาตรการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมทั้งลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการควบคุมแร่ใยหิน ระหว่าง สสส.โดยแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ สคบ. เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน 2553 ณ ห้องมิราเคิล แกรนด์ AB โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยกำหนดให้เป็นนโยบายด้านสวัสดิการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งการควบคุมเกี่ยวกับอันตรายของแร่ใยหินนั้น สคบ.ได้มีประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 27 และฉบับที่ 29 เรื่อง ให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินจะต้องระบุข้อแนะนำในการใช้ คำเตือน รวมทั้งแสดงตราสัญลักษณ์ความเป็นอันตรายไว้ในฉลากสินค้า เพื่อเป็นการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าซึ่งเป็นมาตรการ แก้ไขปัญหาในเบื้องต้น และเพื่อเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของส่วน ราชการและภาคประชาชนเกี่ยวกับการควบคุมแร่ใยหิน จึงขอมอบนโยบายให้ส่วนราชการและภาคประชาชนร่วมกันดำเนินการเกี่ยวกับเรื่อง ดังกล่าว 6 ข้อ ดังนี้
1.ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับแร่ใยหินและตระหนักถึงอันตรายของแร่ใยหิน เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัย
2.ควบคุมตรวจสอบการจัดทำฉลากสินค้าของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ ใยหิน เพื่อให้มีการจัดทำฉลากสินค้าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลและนำไปใช้งานได้อย่างปลอดภัย
3.สร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ และภาคประชาชน องค์กร เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายในการตรวจสอบและเฝ้าระวังสินค้าที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้ บริโภค
4.ส่งเสริม สนับสนุน ผู้ประกอบการที่จัดทำแสดงฉลากถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เพราะถือว่าเป็นผู้ประกอบการที่มีคุณธรรม
5.บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับผู้ประกอบการที่ไม่ให้ความร่วมมือในการ แสดงฉลากของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค
และ 6.ร่วมผลักดันให้เลิกใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนห้ามการนำเข้าแร่ใยหินชนิดไครโซไทล์
“สิ่งที่ผมคาดหวังคือต้องการเห็นผู้บริโภคมีความเข้มแข็งในการป้องกันตน เอง ฉลาดซื้อ ฉลาดใช้ ปกป้องสิทธิของตนเองได้ หากทุกคนร่วมมือร่วมใจ ปกป้องสิทธิของตนการกระทำดังกล่าว จะกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ของผู้บริโภค” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว
รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สสส. กล่าวว่า แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สสส. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ สคบ. ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการควบคุมแร่ใยหิน เนื่องจากเห็นว่า การควบคุมสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินและมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ตามที่ สคบ.ได้มีประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 27 และฉบับที่ 29 เรื่อง ให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจัง และนำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม
“ในประเทศไทย ยังมีการนำแร่ใยหิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งไปใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องยาง เบรก คลัทช์ ไม้ฝา ท่อน้ำ ขณะที่องค์การอนามัยโลก องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ ต่างสนับสนุนให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน มี 52 ประเทศทั่วโลกที่ยกเลิกการใช้ ทั้งนี้ คาดว่าในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจำนวนมากกว่าพันรายต่อปี เนื่องจากจำนวนการใช้แร่ใยหินในประเทศไทยมีปริมาณมากกว่า 1 แสนตันต่อปี หรือ 3 กิโลกรัมต่อคนต่อปี นับเป็นอัตราการใช้ต่อประชากรเป็นอันดับ 2 ของโลก” รศ.ดร.ภก.วิทยากล่าว และว่า ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการควบคุมแร่ใยหินนี้ ประกอบด้วย
1.ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาชนทั้ง 76 จังหวัดให้ดำเนินการตรวจสอบการจัดทำฉลากสินค้าของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบ ของแร่ใยหินของผู้ประกอบธุรกิจ และให้รายงานผลการดำเนินงานมาให้ สคบ.ทราบ
2.ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคมีความรู้เกี่ยวกับแร่ใยหินและตระหนักถึงอันตรายของแร่ใยหิน เพื่อเป็นการป้องกันตนเอง
3.ตรวจสอบการจัดทำฉลากสินค้าของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินจาก ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้มีการจัดทำฉลากสินค้าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลความปลอดภัยในการนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปใช้ งาน
4.ร่วมกันตรวจสอบและเฝ้าระวังสินค้าที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัย โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเป็นเครือข่ายในการตรวจสอบและเฝ้าระวังสินค้า อันตรายที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีคำสั่งห้ามขาย
และ 5.ร่วมผลักดันให้เลิกใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนห้ามการนำเข้าแร่ใยหินชนิดไครโซไทล์
นายนิโรธ เจริญประกอบ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า สคบ.ร่วมกับ สสส.โดยแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพจัดสัมมนานี้ก็เพื่อให้ผู้เข้า ร่วมมีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ที่เกี่ยวกับประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก นอกจากนี้ การสัมมนานี้ยังจัดเพื่อเป็นการบรูณาการการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้ บริโภคระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน และร่วมกันเป็นเครือข่ายตรวจสอบและเฝ้าระวังสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ ใยหิน