“แร่ใยหิน” มหันตภัยเงียบ ใกล้ตัวคุณ

แร่ใยหินอยู่ใกล้ตัวคุณมากกว่าที่คิด รู้ไหมว่าไดร์เป่าผม เครื่องอบไอน้ำ เครื่องปิ้งขนมปัง กระเบื้องมุงหลังคาหรือแม้แต่แป้งฝุ่น มี “แร่ใยหิน” เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ในการใช้กันความร้อน ถือเป็นภัยใกล้ตัว ที่ซ่อนตัวอย่างเงียบๆ แอบอยู่ร่วมในชีวิตประจำวันมาอย่างยาวนาน โดยที่ไม่มีใครรู้ว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บมากมาย และที่สำคัญกว่าจะรู้ตัวก็อาจสายเสียแล้ว

ความจริงที่หลายคนยังไม่รู้ในประเทศไทยนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนเลิกใช้แร่ใยหินและห้ามไม่ให้มีการนำเข้าแล้ว แต่ด้วยสังคมไทยที่ความเจริญทางอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ค้าและผลิตวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ กระเบื้อง ฯลฯและอีกหลายธุรกิจ เลือกใช้แร่ใยหินมาเป็นส่วนประกอบในการผลิต เนื่องจากคุณสมบัติมหัศจรรย์ของใยหินที่มีความคงทน และสามารถกันความร้อนได้ดี ได้กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์หลากหลาย

ในงานเสวนา “แร่ใยหิน มหันตภัยเงียบ ค่าชีวิตคนไทย” ที่จัดไปเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 ซึ่งจัดที่สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดย ผศ.พญ.พิชญา พรรคทองสุข ภาค วิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อธิบายว่า ประเทศไทยเป็นสังคมที่เริ่มมีการใช้วัสดุจากแร่ใยหิน มานานกว่า 30 ปี โดยการนำเข้าจากต่างประเทศ อย่าง รัสเซีย แคนาดา เฉลี่ยปีละ150,000 ตัน แต่เมื่อความรู้ก้าวไกล หลายประเทศเริ่มมีการศึกษาพบว่า แร่ใยหิน เป็นสารก่อมะเร็ง ทำลายปอด นานาประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง เยอรมนี อังกฤษ จึงเลิกใช้แร่ใยหินและห้ามไม่ให้มีการนำเข้าด้วย แม้แต่ในประเทศที่มีเป็นแหล่งผลิตเองอย่างแคนาดา ก็ยังไม่มีการใช้แร่ใยหินในประเทศของตน

“การบริโภคแร่ใยหินของคนไทย นั้น ติดอันดับ 2 ของโลก รองจากรัสเซีย ในอัตราการบริโภคประมาณ 3 กก./คน/ปี ซึ่งหากคนไทยยังใช้แร่ใยหินต่อไป ภาควิชาการประมาณการว่าจะมีผู้ป่วยเป็นโรคต่าง ทั้งปอดอักเสบ มะเร็งเยื่อบุปอด ฯลฯ อันมีเกิดจากการสัมผัสแร่ใยหิน ปีละประมาณ 1,300 คน ดังนั้น หากเป็นไปได้ เครือข่ายสมัชชาสุขภาพฯมีข้อเสนอเร่งด่วนให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายคณะกรรมการวัตถุอันตราย ปรับสถานะแร่ใยหินจากวัตถุอันตรายประเภท 3 (ต้องขออนุญาตนำเข้า ครอบครอง และผลิต) ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 ซึ่งหมายถึงการห้ามนำเข้า ห้ามครอบครอง และห้ามผลิต” ผศ.พญ.พิชญา ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงเรื่องมาตรการในการรณรงค์ให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินว่า มีผลงานวิชาการยืนยันชัดเจนว่า อันตรายจากแร่ใยหินนั้นทำลายสุขภาพของผู้ที่สัมผัสจริงๆ ซึ่งทางมูลนิธิฯเคยได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อต่อต้านการใช้ แร่ใยหินมาโดยตลอด เช่น เสนอให้ตั้งกองทุนเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหิน

ในอนาคตอันใกล้นี้ ทางมูลนิธิฯ มีแผนในการเตรียมจัดทำบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) 26 จังหวัดนำร่อง เพื่อตรวจสอบว่ามีสินค้าใดได้ติดฉลากเตือนบ้างแล้ว และขอเรียกร้องให้ผู้ประกอบการติดประกาศบนผลิตภัณฑ์ที่มีการยกเลิกใช้แร่ ใยหิน เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ผู้บริโภคเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดแร่ใยหินด้วย

ขณะเดียวกันนิตยสารฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างไดร์เป่าผมจากท้องตลาดและร้านทำผม เพื่อตรวจหาแร่ใยหินแล้วว่ายี่ห้อใดมีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ เพื่อเป็นทางการในการเลือกซื้อสินค้าให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะนำเสนอผลการทดสอบในเดือนธันวาคม 2553 นี้

“ส่วน ที่ตั้งเป้าว่า “สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” ภายใน ปี 2555 นั้น ได้มีการเสนอเข้าที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่ง ไม่สามารถบอกได้ว่าสมัชชาจะมีความเห็นอย่างไร ก็แล้วแต่ที่ประชุมสมัชชา ส่วนองค์กรผู้บริโภคเราเสนอให้หยุดนำเข้าวัตถุดิบภายใน 3 เดือน”  เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 


ดร. น.พ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผอ.สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แร่ใยหินมีในธรรมชาติ ลักษณะเป็นเส้นใย แข็งแรงยืดหยุ่น ทนความร้อนได้ดี จึงนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ไทยนำเข้าแร่ใยหินขาว เฉลี่ย 1.5 แสนตันต่อปี มากเป็นอันดับ 4 ของโลก ใช้ในงานก่อสร้าง ผ้าเบรก ผ้าคลัตช์ และวัสดุกันไฟ

ดร. น.พ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า แร่ใยหินเป็นเส้นใยเล็กมาก สามารถเข้าไปอยู่ในปอด และมีอำนาจทะลุทะลวงสูง หากสะสมเรื่อยๆ ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง และทำให้เกิดโรคไม่ต่ำกว่า 5 ชนิด คือ โรคปอดอักเสบ น้ำในเยื่อหุ้มปอด เนื้องอกในเยื่อหุ้มปอด มะเร็งปอด และมะเร็งเยื่อหุ้มปอด จากการทบทวนข้อมูลทางวิชาการในต่างประเทศ ยังพบว่าอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น เครื่องเป่าผม เครื่องปิ้งขนมปัง และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้แร่ใยหินเป็นฉนวนกันความร้อน อาจมีฝุ่นควันหลุดปลิวออกมา และเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสารทดแทนแร่ใยหิน จึงอยากให้ผู้ประกอบการใช้สารชนิดนี้แทนแร่ใยหิน

นางมาลี พงษ์โสภณ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการศึกษาการปนเปื้อนของแร่ใยหินในแป้งฝุ่น ปี 2552 ด้วยการเก็บตัวอย่างแป้งฝุ่นและแป้งพัฟฟ์ 79 ตัวอย่าง พบมีการปนเปื้อนแร่ใยหิน 2 ตัวอย่าง จึงจำเป็นที่ อย.ต้องพิจารณาความปลอดภัยของแร่ใยหินที่ปนเปื้อนในเครื่องสำอางด้วย

ข้อมูลจาก โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 1 พฤศจิกายน 2553 01:37 น.
และข้อมูลจาก นสพ.ข่าวสด วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน