แจ๋วเศร้า!!! โดนรัฐทิ้งกลายเป็นแรงงานนอกระบบ

แจ๋วเศร้า!!! โดนรัฐทิ้งกลายเป็นแรงงานนอกระบบ ถูกกดขี่ ไร้สิทธิทางกฎหมาย ไม่ได้รับการคุ้มครอง ทั้งที่สร้างเม็ดเงินปีละเกือบสามหมื่นล้าน กลับถูกเมินว่าไร้ค่า กรรมาธิการแรงงาน เร่งผลักดันกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบอาชีพแจ๋ว เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อนหญิง จี้รัฐรับข้อเสนอเชิงนโยบายคุ้มครอง แก้กฎหมาย กำหนดเกณฑ์คุ้มครองสร้างคุณภาพชีวิต แจ๋ว เผยชีวิตรันทดทำงานเช้ายันค่ำ ไม่มีวันหยุด ป่วยไม่มีใครสน ขอรัฐคุ้มครองจัดสวัสดิการเท่าเทียมแรงงานอื่น

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่โรงแรมปริ้นซ์ตั้น ปาร์ค สวีท ในงานสัมมนาเรื่อง “อนาคตแรงงานนอกระบบอาชีพคนทำงานในบ้าน กับการคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิกฎหมายแรงงานไทย“ โดย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิ MAP มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน ร่วมกับ แผนงานคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

โดยว่าที่ร้อยตรี ดร.สุเมธ ฤทธาคนี ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบประเภทคนทำงานในบ้านที่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายถึง 400,000 คน ซึ่งในปี 2550 ศูนย์วิจัยกสิกรคาดการณ์ว่า แรงงานเหล่านี้มีส่วนในการสร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจถึงปีละ 27,000 ล้านบาท แต่กลับถูกละเลยไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายและสิทธิการเข้าถึงบริการของรัฐ ทำให้โดนกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ ทำงานหนักไม่สมกับค่าตอบแทน รวมถึงการถูกคุกคามทางเพศ ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งไม่เป็นธรรมและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ

“นอกจากแรงงานนอกระบบที่ทำงานในบ้าน ที่ต้องเร่งให้เกิดการแก้ไขกฎหมายของสำนักงานประกันสังคมในส่วนของ พ.ร.บ.เงินทดแทน และกองทุนคุ้มครองแรงงาน ยังมีแรงงานนอกระบบที่รับจ้าง รับเหมาประเภทต่างๆ ซึ่งไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายใดๆเช่นกันซึ่งขณะนี้คณะกรรมาธิการการแรงงาน กำลังผลักดันกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภานิติบัญญัติ เพื่อทำให้เกิดเป็น พระราชบัญญัติคุ้มครองคนกลุ่มนี้เพื่อไม่ให้ถูกกดขี่ค่าแรง และให้ได้รับสิทธิเช่นแรงงานกลุ่มอื่นๆ ” ว่าที่ร้อยตรี ดร.สุเมธ กล่าว

นายบัณฑิต แป้นวิเศษ ประธานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า แม้ว่าตามกฎหมายของสำนักงานกองทุนประกันสังคมได้กำหนดให้ นายจ้างที่มีลูกจ้าง 1 คนขึ้นไป ต้องขึ้นทะเบียนแรงงาน เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายและได้รับสิทธิต่างๆ แต่กลุ่มแรงงานที่ทำงานในบ้าน กลับถูกละเลยและกลายเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับสิทธิใดๆ ซึ่งอยากเรียกร้องต่อรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ให้เร่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ใน7 ประการคือ 1. แก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดการคุ้มครองแรงงานที่ทำงานในบ้าน ที่ถูกละเลยและคิดว่าเป็นกลุ่มแรงงานที่ไม่สร้างรายได้ ซึ่งไม่จริง 2. เปิดโอกาสให้แรงงานในบ้านได้พัฒนาทักษะฝีมือ มีโอกาสในการได้รับการศึกษาเท่าเทียมกับแรงงานในระบบ ซึ่งนายจ้างต้องให้การสนับสนุนและถือว่าเป็นวันทำงานปกติและจ่ายค่าแรงงาน


3 .การปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้แรงงานในบ้านได้รับความปลอดภัยด้านชีวอนามัย มีสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี เช่นที่พักสะอาดเป็นสัดส่วน อาหารที่สะอาด เหมาะสมแก่ฐานะนายจ้าง และมีการตรวจสอบเพื่อดูแลด้านชีวอนามัยของแรงงาน ว่านายจ้างได้จัดหาอุปกรณ์พื้นฐานให้อย่างเหมาะสมหรือไม่ 4. รัฐบาลต้องนำแรงงานเข้าสู่ระบบเพื่อให้ได้รับสวัสดิการทางสังคม สิทธิตามกองทุนประกันสังคม และเพื่อให้สามารถตรวจสอบความปลอดภัยของทั้งนายจ้าง ลูกจ้างได้ 5.รัฐบาลต้อง กำหนดมาตรฐานคุ้มครองสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานเด็ก โดยการกำหนดอายุขั้นต่ำในการจ้างงานว่า ห้ามต่ำกว่า 15 ปี และไม่ให้แรงงานเด็กทำงานเกิน 8 ชั่วโมง 7.รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายและจัดหางบประมาณการส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงาน เช่น ทักษะการทำงานบ้าน การทำอาหารแบบมืออาชีพ ซึ่งนายจ้างต้องให้การสนับสนุนและไม่ถือเป็นวันลา

น.ส.สุชิน บัวขาว ตัวแทนแรงงานในบ้าน กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของกลุ่มแรงงาน คือ การไม่มีสวัสดิการใดๆ รองรับ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ สิทธิที่ลูกจ้างควรได้รับ เช่น วันลา วันหยุด ค่าจ้างที่เหมาะสม ซึ่งหากเป็นลูกจ้างแบบประจำกินนอนที่บ้านส่วนมากจะได้รับค่าจ้างประมาณเดือนละเพียง 4,500 บาทหรือน้อยกว่านั้น แต่ต้องทำงานตั้งแต่เจ็ดโมงเช้ากว่าจะได้เลิกงานประมาณสามทุ่มและทำงาน 7 วัน แต่เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องออกค่ารักษาพยาบาลไปก่อน หรือเบิกค่าจ้างล่วงหน้ามาจ่ายค่ารักษา ค่าเดินทาง หยุดได้เพียง 1-2 วันเท่านั้น โดยที่การลาหยุดบางคนก็ไม่ได้ค่าแรง ซึ่งเป็นเรื่องที่คนกลุ่มนี้ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก และต้องการให้รัฐบาลดูแลลูกจ้างกลุ่มนี้ด้วยการจัดการให้ทุกคนมีสิทธิ สวัสดิการ ได้รับการคุ้มครองเหมือนลูกจ้างกลุ่มอื่นด้วย

 

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน