พาณิชย์เตือนผู้ส่งออกปรับตัว รับมือกฎอาหารปลอดภัยจีน

"พาณิชย์" เตือนผู้ประกอบการอาหารปรับตัวรับมือกฎหมายควบคุมความปลอดภัยผลิตภัณฑ์อาหารฉบับใหม่ของจีน เตรียมรองรับระบบตรวจสอบย้อนกลับ

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลจีนได้ออกกฎหมายควบคุมความปลอดภัยผลิตภัณฑ์อาหาร มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา

จีนประสบปัญหาพบสารปนเปื้อนในอาหารหลายครั้งที่ผ่านมา จึงได้ออกกฎหมายดังกล่าวเพื่อกำกับดูแลผู้ผลิตและผู้ค้าของจีน ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบและอาหารจนกระทั่งถึงผู้บริโภค เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมาตรการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด เพิ่มบทลงโทษรุนแรงต่อผู้ผลิตอาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน

กฎหมายฉบับนี้เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น ครอบคลุมหลายด้าน เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารทุกประเภทจะถูกตรวจสอบ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรืออาหารบำรุงต่างๆ จะต้องระบุคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ในฉลากอย่างชัดเจน โดยจะต้องไม่ก่อให้เกิดการเข้าใจผิดว่าป้องกันและรักษาโรคได้ ห้ามระบุคำว่า “ใช้เพื่อป้องกันหรือรักษาโรคได้” อนุญาตให้ใช้วัตถุเจือปนอาหารตามที่ระบุไว้ในมาตรฐานระหว่างประเทศเท่านั้น โดยผลิตภัณฑ์อาหารที่จำหน่ายจะต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวด

หากพบว่าผลิตภัณฑ์อาหารไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยตามข้อกำหนด ผู้ผลิตอาหารต้องหยุดการผลิตทันที และเรียกคืนสินค้าดังกล่าวจากตลาดทั้งหมด

นอกจากนี้ จีนยังเพิ่มมาตรการป้องกันความปลอดภัยอาหารเชิงรุก โดยส่งเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยอาหารของรัฐบาลไปตรวจสอบโรงงานผลิตอาหารทุกแห่งทั่วประเทศจีน

จีนเป็นตลาดส่งออกอาหารที่สำคัญลำดับที่ 4 ของไทย รองจากสหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยในปี 2551 ไทยส่งออกสินค้าอาหารไปยังตลาดจีน มูลค่า 28,889 ล้านบาท แม้ว่ากฎหมายดังกล่าวของจีนจะยังไม่มีความชัดเจน ในข้อกำหนดที่บังคับใช้กับสินค้านำเข้า แต่กฎหมายดังกล่าวนั้นครอบคลุมสินค้าอาหารทั้งหมด ที่วางจำหน่ายในประเทศ

น.ส.ชุติมา กล่าวว่า ผู้ประกอบการส่งออกอาหารของไทยจะต้องติดตามข่าวสาร และระมัดระวังในการผลิตมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเตรียมการรองรับระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (TRACEABILITY) เพื่อป้องกันปัญหาในการส่งออกไปยังจีน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 28/7/52

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน