* โรงเรียนกวดวิชา หอพัก สถานบันเทิง ใจกลางกทม.ล้วนมีปัจจัยเสี่ยงสูง
* 'กทม.-ดับเพลิง' เร่งหาวิธีจัดการหวั่นเกิดโศกนาฎกรรมเหมือนซานติก้าผับ
* สั่งงัดกฎหมายเอาผิดผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่หากรู้เห็นเป็นใจ...
อาคารที่คนส่วนใหญ่คิดว่าอันตรายที่สุด หนีไม่พ้นอาคารสูงเสียดฟ้า หรืออาคารสาธารณะขนาดใหญ่ แต่ใครจะคิดว่าอาคารเล็กๆ สูง 4 ชั้น กลับเป็นอาคารที่อันตรายและมีความเสี่ยงมากที่สุด เพราะส่วนใหญ่มีการดัดแปลง ต่อเติม และนำมาใช้ผิดประเภท จนทำให้ลักษณะการใช้งานไม่เหมาะสมกับอาคารซึ่งเข้าข่ายอันตรายมาก
เนื่องเพราะอาคารถูกนำไปใช้ประกอบธุรกิจ ทั้งที่ขออนุญาตก่อสร้างหรือใช้อาคารเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ทำให้มีความเสี่ยงมาก และอาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ซึ่งนอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินแล้ว หลายครั้งยังคร่าชีวิตผู้คนไปอีกด้วย
ทวีจิตร จันทรสาขา นายกสมาคมสถาปนิกสยาม (ในพระบรมราชูปถัมภ์) กล่าวว่า อาคารสูง 4 ชั้น ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เพื่อประกอบธุรกิจหอพัก ห้องแบ่งเช่า โรงเรียนกวดวิชา สถานบันเทิง ประเภทร้านอาหาร ผับ บาร์ คาราโอเกะ ซึ่งมีให้เห็นทั่วเมือง ที่ผ่านมาไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบอย่างจริง ทั้งที่หลายแห่งอยู่ติดกับสำนักเขต สำนักการโยธา รวมถึงสถานีตำรวจ
รร.กวดวิชาแดนอันตราย
ประเภทของธุรกิจที่มีอันตรายมากที่สุดหากเกิดอัคคีภัยขึ้น ได้แก่ โรงเรียนกวดวิชา ที่นิยมนำอาคารพาณิชย์ สูง 4 ชั้น มาดัดแปลง เพราะต้นทุนต่ำ ตั้งอยู่ในย่านชุมชน จึงทำให้มีความเสี่ยงสูงมาก
สิ่งที่อันตรายและน่ากลัวมากที่สุด เพราะอาคารเหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่มีบันไดหนีไฟ หรือหากมีก็ไม่เคยดูแลให้ใช้งานได้อย่างปรกติ อีกทั้งการนำนักเรียนเข้าไปเรียนในเวลาเดียวกัน ประมาณ 400-500 คน หากเกิดไฟไหม้ขึ้น นักเรียนจะไม่สามารถหนีได้ทัน เพราะส่วนใหญ่มีประตูทางออกเดียว คือ ประตูด้านหน้า ส่วนประตูด้านหลังส่วนใหญ่จะเป็นประตูบานเล็กๆ 1 บานเท่านั้น ซึ่งเล็กกว่าที่กฎหมายกำหนด เพราะการออกแบบและขอใบอนุญาตก่อสร้างจะขอเพื่อพักอาศัย การใช้งานมีคนพักอาศัยในบ้านแค่เฉพาะครอบครัว มีคนอยู่เพียง 5-10 คนเท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีประตูขนาดใหญ่เท่ากับอาคารที่ขออนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจ ซึ่งจะมีกฎระเบียบมากกว่าการขออนุญาตใช้เป็นที่พักอาศัย
นอกจากนี้อาคารสูง 4 ชั้น ต้องมีถังดับเพลิงอย่างน้อย 2-3 เครื่อง แต่หากไปตรวจสอบจะพบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีถังดับเพลิงแม้แต่ถังเดียว ที่สำคัญตั้งอยู่ตามตรอก ซอก ซอย ขณะที่หากเกิดไฟไหม้ขึ้น ทำเลที่คับแคบจะทำให้การช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ยากมาก อีกทั้งรถดับเพลิงยังเข้าไปสกัดเพลิงได้ลำบาก หรือบางแห่งต้องนำรถยนต์คันเล็กเข้าไปดับเพลิง ซึ่งอาจมีน้ำไม่เพียงพอที่จะใช้ดับไฟ
“รามคำแหง” แหล่งรวมหอพัก
บริเวณที่มีโรงเรียนกวดวิชามากแห่งหนึ่ง หนีไม่พ้นย่านที่มีสถานศึกษาตั้งอยู่ เช่น บริเวณม.รามคำแหง ซึ่งมีทั้งหอพักและโรงเรียนกวดวิชา สำหรับหอพัก หรือห้องแบ่งเช่ามีอันตรายไม่น้อยกว่าโรงเรียนกวดวิชา เพราะอาคารไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรับน้ำหนักมาก แต่มีความเสี่ยงน้อยกว่าโรงเรียนกวดวิชา เนื่องจากมีคนพักอาศัยในอาคารน้อยกว่าหลายเท่า เพราะจะมีการแบ่งห้องเช่าชั้นละ 3-4 ห้อง รวมมีทั้งหมด 12-16 ห้อง เฉลี่ยมีผู้พักอาศัย 30-40 คน ซึ่งน้อยกว่าโรงเรียนกวดวิชาที่มีคนอยู่มากถึง 400-500 คนในเวลาเดียวกัน
อย่าปล่อยให้เป็น “ไฟไหม้ฟาง”
บริเวณที่มีหอพัก หรือห้องแบ่งเช่าจำนวนมาก ได้แก่ ปทุมวัน อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รามคำแหง หลักสี่ งามวงศ์วาน ซึ่งในบริเวณนี้ไม่ได้มีเฉพาะแค่หอพัก แต่มีโรงเรียนกวดวิชาตั้งอยู่มากมาย และหลายครั้งที่เกิดคึวามเสียหาย เจ้าหน้าที่ของรัฐจะกระตือรือร้น เร่งตรวจสอบการใช้งานของอาคารในย่านนั้นๆ แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไปในลักษณะ“ ไฟไหม้ฟาง”
สำหรับสถานบันเทิง เช่น ร้านอาหาร คาราโอเกะ ร้านนวด สปา มีอันตรายไม่น้อยกว่าโรงเรียนกวดวิชาและหอพัก เพราะถูกใช้งานผิดประเภท มีการดัดแปลง ต่อเติมอาคาร หลายแห่งติดเหล็กดัด เมื่อเกิดเพลิงไหม้ คนจะไม่สามารถหนีออกมาได้
“ข้อสังเกตว่าสถานบันเทิงนั้นอันตรายหรือไม่ ให้ดูว่ามีประตูหนีไฟกี่แห่ง มีแผนที่บอกทางหรือไม่ มีไฟฉุกเฉินหรือเปล่า รวมถึงสปริงเกอร์ และอนุญาตให้คนเข้าไปมากกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เช่น กรณีซานติก้า ผับ สิ่งทำให้คนตายมากถึง 66 คน และบาดเจ็บมากกว่า 200 คน นอกจากอาคารก่อสร้างไม่ตรงตามกฎหมายควบคุมอาคารกำหนด และการใช้งานผิดประเภทแล้ว ยังอนุญาตให้คนเข้าไปมากกว่า 1,000 คน ทั้งที่พื้นที่ใช้สอยของซานติก้า ผับ มีประมาณ 350 ตร.ม. สามารถรองรับคนได้เพียง 400-500 คนเท่านั้น และเมื่อเกิดไฟไหม้ ทำให้คนไม่สามารถหนีออกมาได้ทัน เพราะการลุกลามของไฟเร็วมาก” แหล่งข่าวสถาปนิกอธิบาย
“สถานที่ที่มีคนเข้าไปใช้งานมากกว่า 100 คน เข้าข่ายอาคารชุมนุมคน ถือว่าเป็นอาคารที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งอาคารพาณิชย์ที่มีการใช้งานผิดประเภท และเข้าข่ายเสี่ยงอันตรายมีมากมายกระจายอยู่ทั่วประเทศ” ทวีจิตรย้ำ
ทวีจิตรกล่าวอีกว่า บริเวณประตูหนีไฟของสถานบันเทิง ส่วนใหญ่ถูกปิดตาย ไม่สามารถเปิดออกมาจากด้านในได้ เพราะเจ้าของร้านกลัวว่าลูกค้ามาเที่ยวแล้วไม่จ่ายเงินจะหนีออกทางประตูหนี ไฟ รวมถึงกลัวพนักงานขโมยของในร้าน จึงปิดประตูทางออก ซึ่งเป็นการกระทำโดยประมาท ไม่สนว่าจะเกิดปัญหาตามมาภายหลัง
อาคารใหญ่เสี่ยงน้อย
ขณะที่อาคารขนาดใหญ่คนส่วนใหญ่มักจะกลัวว่าหากเกิดเหตุร้ายขึ้น จะหนีออกมาจากอาคารลำบาก แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นอาคารที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด เพราะส่วนใหญ่ถูกออกแบบตามกฎหมายควบคุมอาคาร และใช้งานตรงกับที่ขออนุญาต มีอุปกรณ์ เครื่องมือ ระบบตรวจจับควันไฟ สัญญาณเตือนภัยและแจ้งเหตุฉุกเฉิน สามารถรับมือกับการเพลิงไหม้ได้ดี
อย่างไรก็ตามทวีจิตรยอมรับว่า “หลายครั้งที่เห็นอาคารขนาดใหญ่ใช้งานไม่ถูกต้อง แต่เป็นจุดเล็กๆ ที่เจ้าของอาคารมองข้าม แต่หากเกิดไฟไหม้ขึ้น อาจทำให้เกิดร้ายขึ้นได้ ดังนั้นจึงขอเตือนไปยังเจ้าของอาคารขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตร.ม.ขึ้นไป มีคนเข้าไปใช้งานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ควรให้ความสำคัญกับการใช้อาคารมากขึ้น เพื่อป้องกันเหตุร้ายเกิดขึ้น”
ทวีจิตรกล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีมาตรฐานกำหนดเรื่องระบบป้องกันอัคคีภัยในอาคารแต่ละ ประเภท จึงยังไม่มีบทลงโทษสถาปนิกหรือผู้ออกแบบหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ เนื่องจากไม่มีระบบป้องกันอัคคีภัย เป็นแค่เพียงข้อแนะนำเท่านั้นว่าควรจะทำอย่างไร สถาปนิกจะมีโอกาสรับผิด เพราะอาคารเสียหาย ถึงขั้นถูกถอนใบอนุญาตวิชาชีพมีแค่กรณีที่เกิดอาคารถล่มเท่านั้น ส่วนการใช้วัสดุก่อสร้างตกแต่งที่ผิดสเปค จนทำให้เกิดความเสียหาย ยังไม่มีบทลงโทษในเรื่องดังกล่าว
อัคคีภัยมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อกับอาคารทุกประเภท แต่เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับบุคคลทั่วไป ให้รู้เท่าทันว่าอาคารที่เข้าไปมีความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ นายกสมาคมฯ แนะนำวิธีสังเกตความปลอดภัยของอาคารทุกประเภทจากอัคคีภัยแบบง่ายๆ ว่า ในอาคารดังกล่าวจะต้องมีการติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัย 1.สังเกตว่ามีป้ายบอกทางหนีไฟหรือไม่ ซึ่งป้ายนี้ต้องทำรูปแบบกราฟฟิกเป็นมาตรฐานเดียวกับที่สากลกำหนด และต้องมีทางออกมากกว่า 1 ทาง 2.สังเกตดูที่ฝ้าเพดานว่ามีสปริงเกอร์หรือไม่ เพื่อจับสัญญาณความร้อนหรือควัน และพ่นน้ำเพื่อดับเพลิงในอาคาร
โดยทั่วไปอาคารขนาดใหญ่พิเศษ กฎหมายจะควบคุมให้ติดตั้งระบบอัคคีภัยแบบเต็มรูปแบบกว่าอาคารขนาดเล็กกว่า ทำให้อาคารขนาดเล็ก เช่น อาคารพาณิชย์ที่มีกฎควบคุมเรื่องดังกล่าวไม่เข้มข้นเท่าอาคารขนาดใหญ่กลาย เป็นอาคารที่มีความเสี่ยงสูงกว่าอาคารขนาดใหญ่พิเศษ จากเจ้าของอาคารที่จงใจหลบเลี่ยงกฎหมาย ยื่นขออนุญาตก่อสร้างเป็นอาคารขนาดเล็ก แต่กลับใช้งานผิดประเภทในภายหลัง อีกส่วนหนึ่ง คือ อาคารเก่าที่สร้างก่อนปี 2535 ซึ่งสร้างมาก่อนกฎกระทรวงฉบับที่ 33 ซึ่งบุข้อบังคับเกี่ยวกับอาคารขนาดใหญ่พิเศษจะประกาศใช้
นอกจากนี้กฎหมายระบุให้อาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องมีไฟฉุกเฉิน ซึ่งจะสว่างขึ้นเมื่อไฟดับหรือไฟไหม้ เพื่อบอกทางไปสู่ทางออกจากอาคาร อุปกรณ์เตือนเพลิงไหม้ระบบมือ เป็นปุ่มบริเวณกำแพง ต้องทุบกระจกให้แตก เพื่อส่งสัญญาณเตือนให้ดังทั่วอาคาร และมีถังน้ำยาดับเพลิงที่มีสภาพพร้อมใช้งานติดตั้งอยู่ในจุดต่างๆ กล่องบันไดหนีไฟต้องมีระบบอัดอากาศ เพื่อป้องกันไม่ให้ควันเข้าไป ผนังและประตูบันไดหนีไฟต้องทนไฟได้ และมีไฟสำรอง เพื่อบอกทางหนีไฟ กรณีที่ไฟดับ
ส่วนโรงมหรสพ ระบบป้องกันอัคคีภัยต้องเป็นไปตามที่กฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้อาคาร เพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพ ประเภทและระบบความปลอดภัยของโรงมหรสพ และอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับการอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพ พ.ศ. 2550 กำหนดไว้ และเป็นกฎหมายที่มีความเข้มงวดเป็นพิเศษกว่าอาคารประเภทอื่นๆ เนื่องจากเป็นที่ชุมนุมคนจำนวนมาก จึงมีความเสี่ยงเรื่องความเสียหายต่อชีวิตมากกว่า
วิธีสังเกตของโรงภาพยนตร์ที่มีการออกแบบอย่างปลอดภัย ได้แก่ 1.ทั้งสองข้างจะต้องมีประตูทางออก และมีป้ายไฟเรืองแสงบอกทางออกติดอยู่ตลอดเวลา และเมื่อออกจากประตูไปแล้ว ต้องมีทางเดินโล่งโดยรอบห้อง มีความกว้างไม่น้อย 2 เมตร เพื่อความสะดวกหากเกิดเพลิงหนีไฟ 2.มีทางหนีไฟเพียงพอหรือไม่ โดยประตูทางหนีไฟของโรงมหรสพต้องกว้าง 1.50 เมตรขึ้นไป เช่น หากห้องดังกล่าวมีความจุ 50 คน ควรจะมีประตูหนีไฟอย่างน้อย 2 ประตูขึ้นไป ตำแหน่งประตูไม่ควรใกล้กันเกินไป
ในส่วนของอาคารของหน่วยงานราชการ ซึ่งกฎหมายควบคุมอาคารระบุว่า ไม่ต้องยื่นแบบขออนุญาตต่อท้องถิ่น แต่ให้แจ้งให้ทราบเท่านั้น ทำให้มีข้อสงสัยว่า อาจบางอาคารของราชการไม่ปฎิบัติตามกฎหมาย ทวีจิตรกล่าวว่า สาเหตุที่กฎหมายระบุไว้ดังกล่าว เนื่องจากเป็นการให้เกียรติว่าหน่วยงานราชการจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอยู่ แล้ว เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับประชาชน บางอาคารออกแบบเอง
โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง สำหรับอาคารรุ่นใหม่ไม่น่าห่วงมากนัก เพราะการออกแบบมักจะทำสอดคล้องกับมาตรฐานอยู่แล้ว ส่วนอาคารรุ่นเก่าแม้จะไม่มีสปริงเกอร์ เนื่องจากติดตั้งเพิ่มภายหลังลำบาก หรือบันไดหนีไฟ แต่ก็มีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง เนื่องจากมักมีความสูงไม่เกิน 3 ชั้น เป็นอาคารรูปทรงยาว มีบันได 3 ทาง คือ ตรงกลาง และปลายตึกทั้งสองฝั่ง คล้ายกับเป็นบันไดหนีไฟไปในตัว นอกจากนี้หน่วยงานราชการได้มีการซ้อมหนีไฟอยู่เป็นระยะ ทำให้ผู้ใช้อาคารมีความเคยชิน และไม่ตื่นตระหนกหากเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ขึ้นจริง
กทม.เต้นตรวจสอบอาคารทั่วกรุงฯ
หลังจากเกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ช่วงรอยต่อของปี 2551 ต่อเนื่องปี 2552 เกิดเพลิงไหม้ซานติก้า ผับ ย่านเอกมัยอีกครั้ง จากสถิติพบว่าปีที่ผ่านมามีไฟไหม้มากถึงกว่า 600 ครั้ง เป็นไฟไหม้อาคาร บ้านเรือน รถยนต์ และไฟไหม้หญ้า เฉลี่ยไฟไหม้วันละเกือบ 2 ครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องหาวิธีป้องกันไฟไหม้ ทำให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.กทม.) ร่วมกับสถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานครตื่นตัวเรียกเจ้าของอาคารกว่า 3,000 แห่ง ใน 9 ประเภทประชุม เพื่อซักซ้อมความเข้าใจ เน้นความปลอดภัยในอาคารจากอัคคีภัย
เนื้อหาการประชุม ประกอบด้วยการแนะนำกฎหมายอาคารในเรื่องความปลอดภัยของอาคารที่กฎหมายกำหนด กฎหมายควบคุมสถานบริการและใบอนุญาต ความสัมพันธ์ในเรื่องความปลอดภัยจากอัคคีภัยเชื่อมโยงระหว่างเจ้าของอาคาร กับประชาชนผู้ใช้บริการ และเรื่องการรับผิดชอบของเจ้าของอาคารในเรื่องแผน อบรม ซ้อมเพื่อให้อาคารและผู้ใช้อาคารมีความปลอดภัย
การประชุมมีเจ้าของอาคาร 9 ประเภท คือ อาคารสูง 23 เมตรขึ้นไป อาคารขนาดใหญ่พิเศษพื้นที่ 10,000 ตร.ม.ขึ้นไป โรงงานที่มีความสูงมากกว่า 1 ชั้นและมีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตร.ม.ขึ้นไป สถานบริการที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตร.ม.ขึ้นไป ป้ายบนดินสูง 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ 50 ตร.ม.ขึ้นไป และป้ายบนอาคารที่มีพื้นที่ 25 ตร.ม.ขึ้นไป โรงมหรสพ โรงแรมขนาด 80 ห้องขึ้นไป อาคารชุมนุมคนพื้นที่ 1,000 ตร.ม.ขึ้นไป หรือชุมนุมคนได้ 500 คนขึ้นไป และอาคารอยู่อาศัยรวมหรืออาคารชุดพื้นที่ 2,000 ตร.ม.ขึ้นไปแต่ไม่ถึง 5,000 ตร.ม. ได้รับการผ่อนผัน 7 ปี และพื้นที่ 5,000 ตร.ม.ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 10,000 ตร.ม. ได้รับการผ่อนผัน 5 ปี ทั้งหมดนี้ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ
อาคาร 2,000 แห่ง
ไม่ส่งผลตรวจสอบ
นอกจากนี้ กทม.ยังส่งหนังสือแจ้งเตือนให้เจ้าของอาคารจัดส่งรายงานผลการตรวจสอบอาคาร หากเจ้าของอาคารไม่จัดส่งรายงานฯ ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 65 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องระวางโทษปรับรายวัน วันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง ขณะนี้มีเจ้าของอาคารประมาณ 2,000 อาคาร ยังไม่ส่งรายงานการตรวจสอบ จึงมอบให้สำนักการโยธา สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานเขตเร่งรัดเจ้าของอาคารให้ส่งรายงานภายในเดือน ม.ค. 2552 หากยังไม่ส่งให้เข้าไปจัดการตามกฎหมายควบคุมอาคารอย่างเด็ดขาด
************
ดึงมวลชนเลี่ยงใช้อาคารเสี่ยง
บทลงโทษเอกชนไร้จิตสำนึก
วิกฤตเพลิงไหม้ต่อเนื่องรายวันรับปีฉลู กลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์ที่ทุกภาคส่วนของสังคม เพิ่มระดับความตระหนักและเข้มงวด ในมาตรการป้องกันและบรรเทาภัยอย่างจริงจัง โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เผยสถิติไฟไหม้โดยรวมเฉลี่ย 600 ครั้งต่อปี หรือ 2 ครั้งต่อวัน ระบุ สาเหตุหลัก เกิดจาก ความประมาทของคน พร้อมแนะอาคาร สถานที่บริการ สาธารณะที่มีความเสี่ยง ประชาชนหลีกเลี่ยงการเข้าไปใช้บริการ ขณะเดียวกัน ทุกภาคส่วนของสังคมควรร่วมมือป้องกันภัย ลดความเสียหายก่อนเหตุได้
“ประมาท” ต้นเหตุไฟไหม้
ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ( สปภ.) สังกัด กรุงเทพมหานคร โดย นาย นิยม กรรณสูตร ให้ความเห็น กรณีไฟไหม้สถานที่ต่างๆในช่วงปีใหม่เป็นหลายครั้ง รวมทั้งสถิติโดยรวม เฉลี่ยวันละประมาณ 2 ครั้ง หรือเกือบ 600 ครั้งต่อปี จากประสบการณ์ทำงานพบว่า สาเหตุไฟไหม้ส่วนใหญ่ เกิดจากความประมาทของคน ไม่ว่าเกิดเหตุไฟฟ้าช็อต เพราะสายไฟเก่า หรือ การใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึง การจุดธูปเทียนไหว้พระ
นอกจากนี้ มูลเหตุที่แท้จริงของเพลิงไหม้หลายกรณีมาจากความสะเพร่า ยังมาจาก การใช้อาคารเพื่อกิจกรรมผิดประเภท รวมถึง การไม่ดูแลรักษาอาคารและส่วนประกอบของอาคาร
ดังนั้น จึงอยากเตือนให้ประชาชนระมัดระวังในการป้องกันอัคคีภัยมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเทศกาลตรุษจีน หากต้องจุดธูปเทียนไหว้พระ ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในครัวเรือน หรือใช้แก๊ส อย่างประมาท ก่อนออกจากบ้านหรือเข้านอนควรตรวจตราอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า สถานที่ต่างๆให้เรียบร้อยอย่างรอบครัว
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันอัคคีภัย ทุกครัวเรือนควรมีเครื่องมือดับเพลิง หากบ้านใดมีการใช้เหล็กดัดให้ดูว่ามันป้องกันไฟหรือป้องกันชีวิตไม่ให้รอด เพราะเหตุเกิดเพลิงไหม้ส่วนใหญ่ หากเจ้าของอาคารและประชาชนมีความรู้ข้อควรปฎิบัติเบื้องต้นบางครั้งก็สามารถ จำกัดเพลิงได้ด้วยตนเอง
แต่ก็ไม่น้อยสำหรับเจ้าของอาคาร ที่อยู่อาศัยเวลาเกิดเพลิงไหม้บางรายไม่มีอุปกรณ์ดับเพลิงเลย จึงทำให้ไฟไหม้ลุกลามใหญ่โต เหตุการณ์บานปลายจากเล็กกลายเป็นใหญ่ และผลเสียหายที่ตามมาไม่สามารถคำนวนได้ รวมทั้งการแจ้งเหตุผิดที่ก็ยิ่งทำให้เกิดความเสียหายขยายวงมากขึ้นไปอีก”
นอกจากนี้ ยังพบว่า เหตุการณ์ไฟไหม้ส่วนใหญ่ มี 3 ประการ ได้แก่ 1.ไฟไหม้โดยประมาท 2. ไฟไหม้จากภัยธรรมชาติ 3. ไฟไหม้จากเศรษฐกิจ (หวังผลประกันภัย)
แผนรับมือเมื่ออัคคีภัยเกิด
ผอ.นิยม ฯยังบอกว่า หลังจากเหตุการณ์อัคคีภัยเกิดขึ้นบ่อยมากขึ้น สปภ.ก็เน้นทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะการทำหน้าที่ให้ความรู้ และอบรมผู้สนใจในการป้องกันอัคคีภัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งการไปเยี่ยมและอบรมนักเรียนในโรงเรียน แจกแผ่นพับประชาสัมพันธ์ โฆษณาดัวยป้ายตามสี่แยก เป็นภาพไฟไหม้ตึก อาคารที่มีลูกกรง เหล็กดัด
“ปัญหาอัคคีภัยไม่สามารถลดจำนวนลงได้ ถ้าหากประชาชนและเจ้าของอาคารไม่ให้ความร่วมมือช่วยกันดูแล นอกจากนั้นควรเรียนรู้ในการแจ้งเหตุ การปฏิบัติตนเมื่ออยู่ในภัย และอาคารที่ปลอดภัยมีลักษณะเป็นอย่างไร เพื่อให้คนในสังคมช่วยกันดูแลและแจ้งเหตุ เมื่อเกิดปัญหาอัคคีภัย”
ทั้งนี้ในการอบรมเจ้าของอาคาร นอกจากมีอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยแล้ว จะกำหนดชัดเจนเลยว่า เจ้าของอาคารจะต้องมีแผนกำหนดที่จะให้อาคารต้องมีทางหนีไฟ ป้ายส่องสว่าง สัญญาณเตือนภัย แหล่งน้ำ เครื่องอัดอากาศ รวมถึงดูแลให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้ได้ตลอดเวลา ตามแผน
ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องกำหนดรายละเอียดแบ่งแยกหน้าที่ของคนในอาคาร นับตั้งแต่เกิดเหตุอัคคี ใครจะเป็นคนพาหนี คนดับไฟ คนแจ้งเหตุจะมีการกำหนด ซึ่งหากเจ้าของอาคารได้ตระหนักและดำเนินการอยู่ก็จะทำให้ภัยที่หากเกิดขึ้น อาจบรรเทาเบาบางลงได้ และเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำ
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ไฟไหม้ที่เกิดขึ้นในช่วงปีใหม่ ให้ถือเป็นอุทธาหรณ์ ที่สำคัญภาคส่วนประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ และเจ้าของอาคารจะต้องร่วมมือช่วยกัน ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอีก
ไฟไหม้ มหันตภัยโลกร้อน
นอกจากไฟไหม้เกิดจากประมาทแล้ว ยังมีไฟไหม้ที่เกิดจากสาเหตุจากธรรมชาติ เช่น ไฟไหม้หญ้า ซึ่งมีสถิติเฉลี่ยปีละ 2,500 ครั้ง ทั้งนี้อาจดูเป็นเรื่องไม่ใหญ่ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันหากเกิดเหตุการณ์เกิดลุกลามมากก็อาจทำให้บ้านเรือนที่อยู่อาศัย เกิดอัคคีภัยได้ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ จึงได้พยายามตักเตือนพื้นที่ใดรกร้างว่างเปล่า มีหญ้าแห้ง ต้องแจ้งเขตหรือกทม.ให้ดำเนินการ เพื่อไปไถกลบหรือทำการกำจัดไฟ
ทั้งนี้ในการคำนวณความเสียหายที่เกิดจากไฟไหม้เป็นตารางเมตร มีหน่วยงานดับเพลิงแต่ละหน่วยเข้าไปช่วยทำงาน 2-3 เขตแล้วแต่พื้นที่เกิดไฟไหม้ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นงานของหน่วยงานเดียว เช่น ถ้าหากเกิดไฟไหม้ที่สำนักป้องกันฯจะมีหน่วยงานดับเพลิงที่ใกล้ที่สุด จากหน่วยภูเขาทอง และพญาไทเข้ามาช่วยดับเพลิง เพราะถือว่าเป็นหน่วยที่ใกล้ที่สุดและสามารถเดินทางมาถึงได้เร็วที่สุด
ทั้งนี้หน่วยงานดับเพลิงที่ใกล้ไม่ได้หมายความว่า จะมาถึงสถานที่เกิดเหตุได้เร็วที่สุด เพราะอาจติดปัญหาจราจร ตรงกันหน่วยดับเพลิงที่ไกลอาจมาถึงเร็วกว่า เพราะการจราจรคล่องตัวในเวลานั้นก็ได้ สถิติความรวดเร็วหลังแจ้งเหตุของหน่วยดับเพลิง พร้อมพนักงานพร้อมอุปกรณ์ดับไฟจะไปถึงที่เกิดขึ้นประมาณ 8-10 นาที นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับตำแหน่งอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ หากอยู่ใกล้สถานีและไม่มีปัญหาจราจร หน่วยดับเพลิงเร็วเคยทำสถิติเดินทางไปยังที่เกิดเหตุ โดยใช้เวลาเพียง 3 นาที (ดังเช่นกรณีเหตุเพลิงไหม้โรงพยาบาลรามาธิบดี)
ปัจจุบันสถานีหน่วยดับเพลิงได้มีการเพิ่มจำนวนมากและครอบคลุมยิ่ง ขึ้น หลังจากโอนหน่วยงานมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาสังกัดกรุงเทพมหานครฯ
ยิ่งรู้มาก-ยิ่งสูญเสียน้อย
นอกจากนี้สำนักงานฯยังได้อบรมให้ความรู้ ปฎิบัติการทั้งในการแจ้งเหตุ หรือช่วยคนในอาคาร หากเกิดเหตุแก่เจ้าหน้าที่อาสาสมัครร่วมกับเจ้าของอาคาร โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหรือรปภ.ของบริษัทหรือเจ้าของอาคารให้ มีความรู้ช่วยป้องกันและบรรเทาหากเกิดเพลิงไหม้ นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่ดับเพลิงของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและอปพร. ที่ร่วมกันทำหน้าที่เป็นหลัก
“มีคนจำนวนมากที่ยังไม่ทราบการแจ้งเหตุไฟไหม้ เป็นเรื่องจำเป็น เพราะหากแจ้งเหตุไปถูกหน่วยงานที่ หรือให้ข้อมูล รายละเอียดที่มาถึงสถานีดับเพลิงหรือสำนักป้องกันบรรเทาสาธารณภัยไม่ครบ ทำให้มีอุปสรรคในการนำทีมดับเพลิงเข้าไปยังที่เกิดเหตุ”
อย่างไรก็ตาม เหตุเพลิงไหม้ หากประชาชนรู้จักข้อควรปฎิบัติตนเบื้องต้น นอกจากสามารถลดความเสียหายจากเพลิงไหม้ทั้งสถานที่ ทรัพย์สินแล้วยังสามารถลดความสูญเสีย ทั้งยังสามารถรักษาชีวิตตนเองและช่วยผู้อื่นได้อีกด้วย ดังเช่นกรณีเหตุเพลิงไหม้ที่ซานติก้า ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่มีความรู้กรณีเกิดเพลิงไหม้ก็ได้ใช้ผ้าชุบน้ำอุดไม่ให้ ควันเข้าไปสถานที่หลบเพลิงและยังได้เอาผ้าชุบน้ำปิดปากจมูกป้องกันสำลักไฟ และรีบแจ้งเหตุให้สำนักป้องกันบรรเทาสาธารณภัยเข้าไปช่วยเหลือ
เตือนอาคารเสี่ยง
แนะปชช.เลี่ยงใช้
ผู้อำนวยการสปภ. ยังบอกอีกว่า ในช่วงปีใหม่ปีนี้ เกิดเหตุไฟไหม้
ในกรุงเทพปล่อยครั้ง ดังนั้นปลัดกรุงเทพมหานครได้กำชับให้สำนักป้องกันบรรเทาสาธารณภัยทำงานและ ประชาสัมพันธ์เชิงรุก ทั้งโปสเตอร์ แผ่นผับ และสื่อต่างๆทั้งวิทยุ รวมทั้งจัดประชุมอบรมให้เจ้าของผู้ประกอบการอาคารต่างๆ 30 หน แต่คนอาจคิดว่าเป็นภัยไกลและยังไม่เกิดเลย ส่งผลให้ช่วงต้นปีนี้มีเหตุอัคคีภัยเกิดขึ้นมาก ทำให้คนไม่ค่อยมีความสุขเท่าที่ควรและเต็มไปด้วยความกังวลของประชาชนทั่ว ประเทศ
ทั้งนี้ การสร้างความปลอดภัยจากอัคคีภัยนั้น ลำพังกรุงเทพฯมหานครทำงานเพียงภาคส่วนเดียวคงไม่เพียงพอ แต่ก็ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม และเจ้าของอาคาร ประชาชน ช่วยกันตระหนักดูแลเอาใจใส่ในเรื่องความปลอดภัยในตัวอาคาร อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆที่ก่อให้เกิดการเสี่ยงภัย
“ภาคสังคมประชาชน ถือว่ามีส่วนช่วยอย่างมากในการสอดส่องดูแล โดยเฉพาะอาคาร หรือสถานบริการสาธารณะที่เห็นว่ามีโอกาสเสี่ยงภัย อยากให้สังคมลงโทษ โดยไม่ต้องเข้าไปใช้บริการแล้วควรเป็นหูเป็นตาแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ดำเนินการกับเจ้าของอาคารที่ขาดความถูกต้องและให้มีจิตสำนึกในการทำ ธุรกิจในอาคารสาธารณะที่จำเป็นจะต้องดูแลในความปลอดภัย เพื่อคุ้มครองลูกค้าและผู้ใช้บริการให้มีความปลอดภัย
คัมภีร์ เอาตัวรอด
ปลอดภัย หากเกิดไฟไหม้
1.ตั้งสติ พิจารณาว่าจะทำอย่างไรที่จะให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด
2.หนีลงชั้นล่างเสมอ การหนีภัยเพลิงไหม้ที่จะให้เกิดความปลอดภัยนั้น ให้ผู้พักอาศัยหนีภัยลงสู่ชั้นล่างสุดของอาคารเสมอ เนื่องจากการหนีภัยขึ้นไปชั้นดาดฟ้าหรือชั้นสูงสุดของอาคารจะได้รับอันตราย จากควันและความร้อยที่สะสมตัวอย่างรวดเร็ว
3.การหนีภัยขณะเพลิงไหม้บริเวณฝ้าเพดานเหนือศรีษะและมีควันมาก ให้พยายามคลานต่ำไปกับพื้นและใช้ผ้าชุบ น้ำปิดจมูก หรือใช้ถุงพลาสติกคลุมศรีษะกันการสำลักควัน
4. ขณะเกิดเพลิงไหม้ ต้องไม่ใช้ลิฟท์โดยเด็ดขาด เนื่องจากลิฟต์อาจติดค้างไม่สามารถใช้งานได้ และช่องลิฟต์ขณะนั้น ถือว่าอันตรายมาก จากควันและความร้อนที่กระจายตัวขึ้นไปสู่ชั้นสูงสุดของอาคารได้อย่างรวดเร็ว
5. ควรมีการซักซ้อมความเข้าใจในการปฎิบัติ เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้น ให้กับคนในครอบครัว
คาถากันไฟ
ป้อง ไม่ให้เกิด
หากเกิด ต้องรีบแจ้ง
แจ้งแล้ว ให้รีบดับ
ถ้าไม่ดับ ก็อย่าให้ลาม
ถ้าลาม ต้องหนีให้รอด
************
เผยเคล็ดลับเลือกบริษัทประกันอัคคีภัย
น่าเชื่อถือ-บริการเร็ว-สาขาครอบคลุม
แนะ วิธีเลือกบริษัทประกันอัคคีภัย ตัดปัญหาไฟไหม้แล้วเคลมไม่ได้ เผยเบื้ยประกันอัคคีภัยแบบประหยัดจ่ายเพียง 645.21 บาทต่อปี หรือวันละไม่ถึง 2 บาท สำหรับสิ่งปลูกสร้างทุกประเภท แต่ผู้บริโภคกลับมองข้าม
การประกันภัยเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ใครหลายคนอาจมองข้าม และหากไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น โอกาสที่เจ้าของทรัพย์สินจะหันมาตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัยเป็น เรื่องยาก แต่หากจะทำประกันควรพิจารณาอย่างรอบคอบ
กรมธรรม์ 2 รูปแบบ
การเลือกรูปแบบกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ แบบทั่วไป คิดอัตราเบี้ยประกันภัยแตกต่างกันไปตามกรณีและแบบประหยัด ที่ทุกบริษัทจะคิดอัตราเบี้ยประกันภัยเป็นมาตรฐานเท่ากัน หากเป็นสิ่งปลูกสร้างประเภทเดียวกัน ซึ่งกรมธรรม์แบบประหยัดเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าของบ้านตัดสินใจทำประกันภัย ง่ายขึ้น และการคิดอัตราเบี้ยประกันของกรมธรรม์ทั้งสองรูปแบบจะต้องเป็นไปตามที่สำนัก งานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนด
สำหรับประกันอัคคีภัยแบบประหยัดจะคุ้มครองความเสียหายขั้นพื้นฐาน เกิดจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า และการระเบิดของแก๊สที่ใช้ในครัวเรือน ภัยจากยวดยานพาหนะ ภัยจากอากาศยาน ภัยเนื่องจากน้ำ (ไม่รวมน้ำท่วม) ยกเว้นภัยน้ำท่วม ภัยแผ่นดินไหว ภัยจากสงคราม กบฎ จลาจล ภัยก่อการร้าย การนัดหยุดงาน การปฏิวัติ รัฐประหาร ภัยระเบิด ทรัพย์สินประเภทอัญมณี ทองคำ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุอันมีค่า ต้นฉบับหรือสำเนาเอกสาร หลักประกันหนี้สิน หลักทรัพย์ เอกสารสำคัญต่างๆ เงินตรา ธนบัตร เช็ค สแตมป์ ไปรษณียากร เอกสารทางธุรกิจ แต่หากต้องการให้คุ้มครองเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันความเสียหายจากภัยอื่นๆ เพิ่ม สามารถขยายการคุ้มครองได้โดยชำระเบี้ยประกันภัยสำหรับภัยเพิ่มพิเศษนั้น
อัตราเบื้ยประกันภัยของประกันอัคคีภัยแบบประหยัด คปภ.กำหนดเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ อัตรา 645.21 บาทต่อปี หรือวันละไม่ถึง 2 บาท สำหรับสิ่งปลูกสร้างทุกประเภท แต่จะกำหนดวงเงินคุ้มครองแตกต่างกัน แบ่งเป็น สิ่งปลูกสร้างชั้น 1 เป็นตึก (มีผนังก่ออิฐถือปูนมากกว่า 80% ของพื้นที่ผนังทั้งหมด) วงเงินคุ้มครอง 600,000 บาท สิ่งปลูกสร้างชั้น 2 เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ (มีผนังก่ออิฐถือปูน 50-80% ของพื้นที่ผนังทั้งหมด) วงเงินคุ้มครอง 250,000 บาท และสิ่งปลูกสร้างชั้น 3 เป็นอาคารที่ไม่ใช่ตึก หรือครึ่งตึกครึ่งไม้ (มีผนังเป็นวัสดุอื่นๆ เช่น ไม้ สังกะสี กระเบื้องแผ่นเรียบมากกว่า 50% ของพื้นที่ผนังทั้งหมด) วงเงินคุ้มครอง 150,000 บาท ผู้ทำประกันเพียงแจ้งประเภทสิ่งปลูกสร้าง และจ่ายเบี้ยประกันภัย ไม่ต้องมีการเข้าไปสำรวจ เพื่อประเมินเบี้ยประกันภัยที่ต้องจ่ายและวงเงินคุ้มครอง
ในส่วนของประกันอัคคีภัยแบบประหยัดจะคุ้มครอง เรื่องค่าเช่าที่อยู่อาศัยชั่วคราว หากเกิดเพลิงไหม้บ้านจนได้รับความสูญเสีย ได้แก่ 1.หากสูญเสียมากกว่า 50% ของมูลค่าอาคารที่เป็นการสร้างใหม่ทดแทน ในกลุ่มสิ่งปลูกสร้างชั้น 1 บริษัทจะชดใช้ค่าเช่าที่อยู่อาศัยชั่วคราวไม่เกินวันละ 1,000 บาท รวมแล้วไม่เกิน 50,000 บาทตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย ส่วนสิ่งปลูกสร้างชั้น 2 และ 3 บริษัทจะชดใช้ค่าเช่าที่อยู่อาศัยชั่วคราวไม่เกินวันละ 500 บาท รวมแล้วไม่เกิน 25,000 บาทตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย
2.หากเกิดความสูญเสียทั้งอาคาร กลุ่มสิ่งปลูกสร้างชั้น 1 บริษัทจะชดใช้ค่าเช่าที่อยู่อาศัยชั่วคราวไม่เกินวันละ 1,000 บาท รวมไม่เกิน 100,000 บาท ตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย ส่วนสิ่งปลูกสร้างชั้น 2 และ 3 บริษัทจะชดใช้ค่าเช่าที่อยู่อาศัยชั่วคราวไม่เกินวันละ 500 บาท รวมแล้วไม่เกิน 50,000 บาทตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย ซึ่งหลังเกิดเหตุผู้เอาประกันควรเรียกร้องให้บริษัทชดเชยค่าเช่าที่อยู่ อาศัยชั่วคราวให้เร็วที่สุด
ส่วนกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ที่เป็นแบบทั่วไป ต้องมีการเข้าไปสำรวจและประเมินมูลค่า และคิดอัตราเบี้ยประกันภัยที่ต้องจ่าย และวงเงินคุ้มครองเป็นรายกรณีสำหรับบ้านแต่ละหลัง เนื่องจากแต่ละหลังมีการตกแต่งภายในที่ทำให้มูลค่าบ้านแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามปัจจุบัน คปภ. กำหนดเกณฑ์เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยเกณฑ์ต่างๆ ที่นำมาพิจารณาร่วมกัน ได้แก่ 1.ระยะห่างโดยรอบของบ้านกับสิ่งปลูกสร้างใกล้เคียง หากสิ่งปลูกสร้างชั้น 1 (ตึกคอนกรีตล้วน) มีระยะห่างจากเพื่อนบ้าน 10 เมตรขึ้นไป และสิ่งก่อสร้างชั้น 2 และ 3 (ครึ่งตึกครึ่งไม้ และไม้) มีระยะห่าง 20 เมตรขึ้นไป เรียกว่า เป็นภัยโดดเดี่ยว คิดอัตราเบี้ยประกัน 0.081% ของมูลค่าบ้าน แต่หากมีระยะห่างน้อยกว่า 10 เมตรที่กำหนดไว้ เรียกว่าเป็นภัยไม่โดดเดี่ยว มีโอกาสเกิดเหตุเพลิงไหม้สูง จะคิดอัตราเบี้ยประกันสูงกว่าเป็น 0.101% ของมูลค่าบ้าน เช่น บ้านมูลค่า 1 ล้านบาท ไม่ใช่ภัยโดดเดี่ยว จะจ่ายเบี้ยประกันภัยปีละ 1,010 บาท (ไม่รวมภาษีอากร)
2.ทำเลที่ตั้ง อยู่ในย่านอันตรายหรือไม่ ซึ่งเป็นย่านชุมชนแออัด บ้านเรือนตั้งหนาแน่น รถดับเพลิงเข้าถึงได้ยาก ซึ่งจะแบ่งเป็นบล็อก พื้นที่ที่เข้าข่ายดังกล่าว เรียกว่า ย่านอันตราย จะคิดต้องคิดอัตราเบี้ยประกันภัย 0.2% สูงกว่าทั่วไป เช่น สำเพ็ง (เช่น ถ.ทรงวาด สะพานหัน พาหุรัด) คลองเตย วงเวียนใหญ่ บางส่วนของสมุทรปราการและพัทยา
3.หากเป็นอาคารสูงเกิน 7 ชั้น ชั้นที่สูงขึ้นกว่านี้ จะคิดทีละชั้น เริ่มจากชั้น 8 บวกเพิ่มจากฐานในเกณฑ์ข้อ 1 ชั้นละ 0.004% ชั้น 9 บวกเพิ่มจากอัตราในชั้น 8 (ชั้นรองลงมา 1 ชั้น) อีก 0.004%
4.หากไม่ใช่ที่อยู่อาศัย จะต้องนำเกณฑ์เรื่องการใช้สอยอาคารมาพิจารณาด้วย โดยดูตามอัตราลักษณะภัย ซึ่ง คปภ. จะกำหนดพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยไว้แตกต่างกัน หากเป็นการใช้สอยที่อันตรายหรือไม่ วัสดุที่ติดไฟง่าย เช่น พลาสติก ไม้ ถือว่ามีความเสี่ยงสูง จะคิดอัตราเบี้ยประกันภัยสูง นอกจากนี้จะพิจารณาเรื่องที่ตั้งด้วย ซึ่งอัตราที่คิดจะแตกต่างกันตามเกณฑ์ชั้นเมือง บางกรณีจะสูงถึง 105% ของพิกัดอัตราอัคคีภัย
เลือกบริษัทเชื่อถือได้
การคำนวณเบี้ยประกันภัยที่ต้องจ่ายว่าเป็นเท่าไหร่ กรณีที่ใม่ใช่กรมธรรม์แบบประหยัด ต้องให้เจ้าหน้าที่บริษัทประกันภัยเข้ามาประเมิน ทั้งนี้ไม่ว่าจะเลือกบริษัทใด เบี้ยประกันภัยของอัคคีภัยที่ต้องจ่ายจะไม่แตกต่างกัน และเป็นไปตามเกณฑ์พิกัดอัตราที่ คปภ. กำหนดไว้เป็นมาตรฐาน แต่สิ่งที่แตกต่างกัน คือ เรื่องบริการ และฐานะของบริษัท ปัจจุบันในไทยมีบริษัทประกันภัยรวม 76 บริษัท แต่จะเลือกบริษัทใด มีข้อควรพิจารณา เช่น ควรเป็นบริษัทที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุด ฐานะการเงินมั่นคง จ่ายค่าสินไหมทดแทนตรงเวลา ให้บริการรวดเร็ว มีเครือข่ายสาขาครอบคลุม มีการให้ความรู้กับผู้เอาประกันภัย เป็นต้น ผู้สนใจจะทำประกันภัยสามารถเข้าไปตรวจสอบฐานะของบริษัทประกันภัยได้ที่เว็บ ไซต์ของ คปภ. www.oic.or.th และสมาคมวินาศภัย www.thaigia.com
*************
สร้างตึกอย่างไรให้ถูกกม.คุมอาคาร
ลดความเสี่ยงเกิดโศกนาฏกรรม
ผ่า กฎหมายควบคุมอาคาร กทม. สำนักการโยธา สปภ.กทม.แนะวิธีสร้างอาคารไม่ให้ถล่ม หรือหากเกิดเพลิงไหม้ จะทำให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินน้อยที่สุด
ทุกครั้งที่เกิดโศกนาฏกรรมกับอาคารไม่ว่าจะเป็นอัคคีภัยหรือตกถล่ม ส่วนใหญ่จะพบว่าเป็นอาคารที่ก่อสร้างโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนดที่ สำคัญมีอาคารที่ใช้งานผิดประเภททำให้เกิดเหตุคาดไม่ถึง ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร(กทม.) สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร(สปภ.กทม.) สำนักการโยธา ออกกฎหมายและข้อบังคับสำหรับผู้ที่กำลังจะสร้างตึกหรืออาคารทุกประเภทอย่าง ละเอียด แต่ก็มีเจ้าของอาคารจำนวนไม่น้อยที่สร้างอาคารผิดแบบหรือใช้อาคารผิดประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาคารขนาดเล็ก ที่มีความสูง 2-4 ชั้น ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจมาแล้วหลายครั้ง
ที่ผ่านมาการขออนุญาตก่อสร้างอาคารต่างๆทั่วประเทศกรุงเทพมหานคร (กทม.)ผู้ประกอบการ ผู้ออกแบบ ส่วนใหญ่ร่างแบบมาไม่ถูกต้อง ทำให้เสียเวลาในการแก้ไขออกแบบใหม่ จนบางครั้งถึงกับต้องยกเลิกแบบที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างและต้องเขียนแบบขึ้น มาใหม่เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนด และเพื่อเป็นการให้ความรู้แก่ประชาชนและอำนวยความสะดวกกับเจ้าของอาคารและ ผู้ออกแบบอาคาร รวมถึงลดปัญหาความผิดพลาดเสียเวลาในการแก้ไขแบบดังกล่าว กทม.จึงได้จัดทำข้อแนะนำในการออกแบบอาคาร สำหรับอาคาร 9 ประเภท ประกอบด้วย ที่อยู่อาศัยรวม (แฟลต อพาร์ทเมนท์ และคอนโดมิเนียม) โรงมหรสพ โรงแรม ตลาด สถานศึกษาโรงงาน ลาดจอดรถยนต์ โรงเก็บสินค้าและสถานพยาบาล ซึ่งอาคารประเภทดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยมาก
สำหรับกฎหมายที่กทม.ออกมาบังคับใช้ในการก่อสร้างอาคารนอกจากจะกำหนด ให้เจ้าของอาคารปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังเป็นการให้ความรู้แก่ประชาชนได้รับทราบถึงลักษณะอาคารต่างๆที่เข้าไปใช้ บริการ อาคารสูงซึ่งเป็นอาคารที่มีความเสี่ยงสูง เพราะมีจำนวนผู้อาศัยจำนวนมาก อีกทั้งยังมีกิจกรรมต่างๆที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยมากที่สุดหากผู้ประกอบ การ เจ้าของอาคารไม่คำนึงถึงผู้พักอาศัย
อาคารพักอาศัยที่มิใช่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องปฏิบัติ ดังนี้ อาคารที่ก่อสร้างริมถนนสาธารณะที่มีความกว้างน้อยกว่า 6 ม. ต้องร่นแนวอาคารอย่างน้อย 3 ม. ส่วนอาคารที่สูงเกิน 2 ชั้น หรือเกิน 8 ม. ที่ก่อสร้างใกล้ถนนต้องก่อสร้างต้องร่นแนวอาคารอย่างน้อย 6 ม. แต่ถ้าถนนมีความกว้างตั้งแต่10 ม.ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 20 ม.ให้ร่นแนวอาคารห่างจากเขตสาธารณะอย่างน้อย 1 ใน 10 ของความกว้างของถนนสาธารณะ
ขณะที่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องร่นแนวผนังห่างเขตที่ดินผู้อื่นและห่างถนนไม่น้อยกว่า 6 ม.และต้องมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 ม. และหากอาคารมีพื้นที่อาคารเกินกว่า 30,000 ม. ที่ดินต้องอยู่ริมถนนสาธารณะที่มีความกว้างไม่น้อยกว่า 18 ม. ต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า 30 % ของพื้นที่ดิน ส่วนอาคารที่ก่อสร้างริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ต้องมีที่ว่างตามแนวขนานริมฝั่งแม่น้ำไม่น้อยกว่า 3 ม.
ส่วนความสูงของอาคารกำหนดให้ความสูงของอาคารไม่ว่าจากจุดหนึ่งจุดใด ต้องไม่เกิน 2 เท่าของระยะราบ ที่จอดรถยนต์ กรณีห้องพักมีพื้นที่แต่ละหน่วยตั้งแต่ 60 ตร.ม.ขึ้นไป ให้มีที่จอดรถไม่น้อยกว่า 1 คัน ต่อ 1 หน่วย นอกจากนี้ผู้ประกอบการต้องจัดทำระบบป้องกันอัคคีภัยด้วย โดยกรณีอาคารที่ก่อสร้างไม่เข้าข่ายเป็นอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษให้ ติดตั้งบันไดหนีไฟและอุปกรณ์เกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัยตามกฎกระทรวงฉบับ ที่39,49,55และตามประกาศกรุงเทพมหานครเรื่องข้อกำหนดลักษณะแบบของบันไดหนีไฟ และทางหนีไฟทางอากาศของอาคาร พ.ศ. 2531
โรงแรมเป็นอาคารที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้มาก เพราะมีการประกอบอาหาร ซักรีด กทม.จึงกำหนดให้ต้องมีแนวร่นของอาคารต้องห่างจากศูนย์กลางถนนสาธารณะ ไม่น้อยกว่า 6 ม. อาคารไม่อยู่ริมถนนสาธารณะและสูงไม่เกิน 3 ชั้นต้องมีที่ว่างด้านหน้าอาคารไม่น้อยกว่า 6 ม. และไม่น้อยกว่า 12 ม. รวมทั้งต้องมีที่ว่างเป็นทางเดินหลังอาคารกว้างไม่น้อยกว่า 2 ม. และต้องมีอัตราส่วนพื้นที่อาคารทุกชั้นรวมกันต่อพื้นที่ดิน (FAR) ไม่เกิน 10 : 1 ส่วนความสูงของอาคารหากเป็นอาคารหลังเดียวกันความสูงของอาคาร ณ จุดใดต้องไม่เกิน 2 เท่าของระยะราบที่ใกล้ที่สุด
นอกจากนี้ต้องมีลานจอดรถโดยโรงแรมที่มีห้องพักไม่เกิน 100 ห้อง ให้มีที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 10 คัน ส่วนที่เกิน 30 ห้องให้คิด 1 คันต่อ 5 ห้อง แต่หากเกิน 100 ห้องให้มีที่จอดรถยนต์ 1 คัน ต่อ 10 ห้อง กรณีมีพื้นที่อาคารรวมเกิน 1,000 ตร.ม. และมีความสูงเกิน 15 ม. หรือมีพื้นที่อาคารรวมทุกชั้นเกิน 2,000 ตร.ม. ให้มีที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 1 คันต่อพื้นที่ 120 ตร.ม. ต้องมีระบบป้องกันอัคคีภัย เช่น มีสปริงเกอร์ ถังดับเพลิงที่หยิบใช้ได้สะดวก รวมถึงป้ายบอกทางหนีภัย สัญญาณเตือนภัย เป็นต้น
กรณีอาคารที่ก่อสร้างไม่เข้าข่ายเป็นอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ให้ติดตั้งบันไดหนีไฟและอุปกรณ์เกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัยตามกฎกระทรวง ฉบับที่39,47,55และประกาศกรุงเทพมหานครฯ ส่วนอาคารที่ก่อสร้างเข้าข่ายเป็นอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษให้ติดตั้ง บันไดหนีไฟและระบบเกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัยตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 , 50 และประกาศกรุงเทพมหานครฯ ซึ่งผู้ประกอบการต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
โรงมหรสพ หรือโรงละครที่มีจำนวนผู้เข้าไปใช้บริการจำนวนมากวันละหลายแสนคน จึงต้องคำนึงเรื่องความปลอดภัย เพราะไม่เช่นนั้นอาจเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเช่นเดียวกับซานติก้า ผับ หรืออีกหลายแห่งๆที่สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้กทม.จึงได้มีการออกกฎระเบียบในการขออนุญาตก่อสร้าง โดยแนวร่นของอาคารที่ไม่ใช่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องร่นแนวอาคารห่างเขตถนน ไม่น้อยกว่า 6 ม. ส่วนอาคารที่ไม่อยู่ริมถนนต้องมีที่ว่างด้านหน้าอาคารไม่น้อยกว่า 6 ม. และไม่น้อยกว่า 12 ม.และ ต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า 2 ม. ลาดจอดรถยนต์ถ้ามีที่นั่งเกิน 500 ที่นั่ง ต้องจัดให้มีที่จอดรถยนต์ 1 คันต่อจำนวนที่นั่ง 20
กรณีมีพื้นที่อาคารรวมเกิน 1,000 ตร.ม. และมีความสูงเกิน 15 ม. หรือมีพื้นที่อาคารรวมทุกชั้นเกิน 2,000 ตร.ม.ขึ้นไปให้มีที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 1 คันต่อพื้นที่ 120 ตร.ม. ระบบป้องกันอัคคีภัย ต้องติดตั้งบันไดหนีไฟและอุปกรณ์เกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัยตามกฎกระทรวง เช่น มีสัญญาณเตือนภัย ไฟฉุกเฉิน สปริงเกอร์ ทางหนีไฟ เป็นต้น
ตลาด สถานศึกษาโรงงาน ลาดจอดรถยนต์ โรงเก็บสินค้าและสถานพยาบาล ทางกทม.ได้มีการออกกฎระเบียบเช่นเดียวกับอาคารที่เข้าข่ายเสี่ยงภัยเช่นกัน คือ ต้องมีระบบป้องกันอัคคีภัยตามกฎกระทรวงฉบับที่ 39,47,55 เช่นกัน และประกาศกรุงเทพมหานครฯ
โดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์ 17 มกราคม 2552