คปภ. เตือนผู้ทำประกันภัยระวัง "เหลือบ"ฉกเบี้ยประกัน เผยสถิติการร้องเรียนล่าสุดมีเพิ่มขึ้นถึง 303 คดี
ชี้ให้ความใส่ใจกับเอกสารต่างๆที่ผู้ขายประกันภัยนำเสนอ พร้อมแนะนำให้ซื้อประกันภัยกับตัวแทน-นายหน้าประกันภัยที่มีใบอนุญาตเท่า นั้น ด้านตำรวจเผย 2 ปีมีคนแห่แจ้งความทั้งกรณีตัวแทนฉ้อโกงและปลอมลายเซ็นต์กู้เงินกรมธรรม์ เพิ่มขึ้น
ธุรกิจประกันชีวิตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาถือว่ามีความเติบโตอย่างต่อเนื่องจะเห็นได้จากสถิติที่เพิ่มสูง ขึ้น ซึ่งอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันภัยนี่เองทำให้มี "นักฉวยโอกาส"ที่ใช้อาชีพของตัวเองฉ้อโกงประชาชน โดยการใช้ช่องทางทางกฎหมาย ความไว้เนื้อเชื่อใจ เกิดขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วย ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นถึงขั้นทำให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบ ธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ต้องออกกฎหมายประกันชีวิต ฉบับที่ 2 ขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา
เปิด 5 เรื่องร้องเรียนยอดฮิต
จันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย บอกว่า ในช่วงปี 2551 ที่ผ่านมา คปภ.ได้รับการร้องเรียนการทำประกันชีวิตจากเดือนมกราคมจนถึงปัจจุบันจำนวน 1,114 ราย โดยส่วนใหญ่จะร้องเรียนใน 5 กรณีคือ
1. ตัวแทนประกันชีวิตโกงชาวบ้าน โดยผู้เสียหายไม่ได้รับค่าสินไหมตามสัญญาประกันภัย เนื่องมาจากตัวแทนบริษัทเอาเงินค่าเบี้ยประกันที่ชำระไปใช้ โดยไม่นำส่งบริษัท
2. เงื่อนไขข้อยกเว้นกรมธรรม์ที่ประชาชนไม่เข้าใจ โดยนึกว่ามีสิทธิ์ได้รับความคุ้มครอง
3. การขายโดยไม่ได้ให้ผู้เอาประกันตรวจสุขภาพ โดยตัวแทนจะมักช่วยลูกค้าปกปิด จึงทำให้เกิดเหตุการณ์บอกเลิกสัญญากันในภายหลัง และ
4. ในกรณีตัวแทนย้ายค่าย จะแนะนำให้ลูกค้าเปลี่ยนย้ายบริษัทตาม ทำให้ผู้เอาประกันได้รับความเสียหาย
5.การปลอมลายเซ็นต์ในหนังสือมอบอำนาจเพื่อขอกู้กรมธรรม์ประกันชีวิต ซึ่งในกรณีที่ 5 นี้ทาง คปภ.เพิ่งได้รับการร้องเรียนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งในกรณีนี้ถือเป็ความผิดทางอาญาผู้เสียหายสามารถแจ้งความดำเนินดคีทาง อาญาได้ทันที
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา คปภ.ได้เข้าใจและรับทราบปัญหาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันจึงได้มีการออก พระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 เพิ่มเติมเพื่อเป็นการป้องปราม บริษัทประกันชีวิต นายหน้าหรือตัวแทนประกันชีวิต ทั้งนี้ พ.ร.บ.ฉบับ
ดังกล่าวจะมีบทลงถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตเลยทีเดียว
"พวกนี้ถือเป็นเหลือบในวงการประกันชีวิตได้สร้างความเสียหายให้เกิด ขึ้นกับส่วนรวมซึ่งหากผู้เอาประกันรายใดที่ได้รับความเดือดร้อนจากการทำ ประกันชีวิต การทำประกันวินาศภัย สามารถร้องเรียนโดยตรงที่ คปภ.สายด่วน 1186 ตลอด 24 ชั่วโมง"
เลขาธิการ คปภ.อธิบายต่อว่า พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2551 กำหนดให้ผู้ขายประกันภัยหรือผู้ที่ทำหน้าที่ชักชวนบุคคลให้ทำประกันภัยต้อง มีใบอนุญาตเป็นตัวแทน-นายหน้าประกันวินาศภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยที่ซื้อประกันภัยผ่านตัวแทน-นายหน้าประกันภัยที่ถูกต้อง จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เช่น จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องในการทำประกันภัย การจ่ายเบี้ยประกันภัยกับตัวแทนประกันภัยที่ถูกต้อง หรือนายหน้าประกันภัยที่ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทประกันภัยก็จะได้รับความ คุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยแน่นอน แม้ปรากฏในภายหลังว่าตัวแทน-นายหน้าประกันภัยรายนั้นไม่นำส่งเบี้ยประกันภัย ให้บริษัทก็ตาม
"สำนักงาน คปภ. มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เอาประกันภัยอาจถูกแก๊งมิจฉาชีพหลอกหลวงให้ทำประกันภัย ซึ่งจะทำให้ต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมากแล้ว ผู้เอาประกันภัยยังไม่ได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัย จึงขอเตือนผู้ที่จะทำประกันภัย ให้ใช้ความระมัดระวังในการเลือกซื้อประกันภัย ให้ทำประกันภัยกับตัวแทน-นายหน้าประกันภัยที่มีใบอนุญาตถูกต้อง รวมถึงการจ่ายเบี้ยประกันภัยต้องได้รับหลักฐานของบริษัทประกันภัยทุกครั้ง"
ขณะที่ คมคาย ธูสรานนท์ รองเลขาธิการ คปภ.สายกำกับ กล่าวว่า ผู้เสียหายจากการทำประกันชีวิต ที่เข้ามาร้องเรียน คปภ.นั้นมีพอสมควรทั้งที่ส่งเบี้ยประกันไปแล้วแต่ตัวแทนไม่ได้ไปส่ง รวมไปถึงการปลอมแปลงเอกสารหรือลายเซ็นต์ของเจ้าของกรมธรรม์เพื่อนำไปใช้กู้ เงินโดยที่เจ้าของไม่ทราบเรื่อง ทาง คปภ.ก็ได้ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินการให้ทุก ๆ เรื่องที่มีการร้องเรียนมา
"ผู้ซื้อประกันรายใด มีปัญหาให้มาติดต่อที่เราได้ทันที เพราะเรามีข้อมูลบริษัทประกันทุกรายและมีอำนาจในการเรียกบริษัทประกันที่ได้ รับร้องเรียนเข้ามาชี้แจง เมื่อตรวจสอบพบก็จะให้บริษัทประกันชดใช้ค่าเสียหายให้ ส่วนผู้เสียหายจะไปร้องที่ตำรวจเพิ่มเติมในคดีอาญาก็สามารถกระทำได้"
อย่างไรก็ดี รองเลขาธิการ คปภ.สายกำกับ ย้ำอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการประกันชีวิตนั้น หากเทียบกับจำนวนผู้ทำประกันแล้วถือเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพียง 0.0005% เท่านั้น จึงไม่อยากให้สังคมเสื่อมศรัทธากับธุรกิจประกันชีวิต เพราะหากมองในระยะยาวการทำประกันชีวิตถือเป็นความมั่นคงและรัฐบาลเองก็ให้ การสนับสนุนกับธุรกิจนี้
สำหรับบริษัทประกันชีวิตที่มีเรื่องร้องเรียนเรียงลำดับใน 10 ลำดับในปี2551
ได้แก่ 1.บริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชันแนลแอสชัวรันส์ (เอไอเอ) 237 ราย ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนมีจำนวน 275 ราย
2.ไทยประกันชีวิต 194 ราย เมื่อช่วงเดียวกันปีก่อนมี168 ราย
3.ไทยสมุทรประกันชีวิต 52 ราย ช่วงเดียวกันปีก่อนมี67 ราย
3.ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ฯ 45 ราย ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนมีแค่ 30 ราย
4.อยุธยาอลิอันซ์ซี.พี.ประกันชีวิต(เอเอซีพี) 41 ราย ช่วงเดียวกันปีก่อนมี 66 ราย
5.เมืองไทยประกันชีวิต 37 ราย ช่วงเดียวกันปีก่อนมี 42 ราย
6.กรุงไทยแอกซ่า 33 ราย ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนมี 30 ราย
7.กรุงเทพประกันชีวิต 18 ราย ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนมี 22 ราย
8.ธนชาตประกันชีวิต 16 ราย ช่วงเดียวกันปีก่อนมี 11 ราย
9.พรูเด็นเชียลฯ16 รายเช่นกัน โดยช่วงเดียวกันปีก่อนมี 11 ราย
และ10. ฟินันซ่าประกันชีวิต 12 ราย ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนมี 27 ราย
ตำรวจ.ชี้ 2 ปีมีคนแห่แจ้งความเพิ่มขึ้น
ด้าน พ.ต.ต.ธีรยุทธ เสรีนนชัย สารวัตรสอบสวน สน.ทองหล่อ บอกว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีผู้เข้าแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาปลอมลายเซ็นต์เพื่อกู้เงิน กรมธรรม์ประกันชีวิตเพิ่มมากขึ้น โดยส่วนใหญ่ผู้แจ้งความจะเป็นบริษัทประกันชีวิตซึ่งได้รับความเสียหายจาก เรื่องดังกล่าว
สำหรับวิธีการฉ้อโกงในลักษณะนี้จะใช้วิธีปลอมลายเซ็นต์ของผู้เอา ประกัน บางรายผู้เอาประกันก็จะไม่รู้ว่าตัวแทนของตัวเองทำอะไร อย่างไรไปบ้าง บางรายใช้ความไว้เนื้อเชื่อใจให้ผู้เอาประกันลงนามมอบอำนาจแล้วนำลายเซ็ตน์ นั้นไปกู้เงินในกรมธรรม์ ซึ่งคดีดังกล่าวนี้มีโทษไม่หนักคือจำคุก 3 ปี ทำให้ผู้กระทำผิดกล้าทำผิดกฎหมายมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีผู้เสียหายมาแจ้งความดำเนินคดีกับตัวแทนประกันชีวิต ซึ่งคดีนี้มีมากที่สุดเพราะเป็นการทำความผิดที่ง่ายกล่าวคือตัวแทนประกัน ชีวิตจะนำเงินที่ผู้เอาประกันไปชำระเบี้ยไปใช้ โดยไม่นำเงินเข้าบริษัทซึ่งคดีแบบนี้เป็นคดีฉ้อโกงผู้เสียหายสามารถมาแจ้ง ความดำเนินคดีได้ทันที
" 2 ปีที่ผ่านมามีผู้เสียหายเดินทางเข้ามาแจ้งความอย่างต่อเนื่องซึ่งทางตำรวจ ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนจนสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดมาแล้วนับร้อยราย" พ.ต.ต.ธีรยุทธกล่าว
โดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์