ภาคประชาสังคมอาเซียนค้านกลไกเอกชนฟ้องรัฐในการเจรจา RCEP จี้รัฐบาลไม่รับ “ISDS” พร้อมเปิดเผยเนื้อหาให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วม

Capture66จากกรณีที่จะมีการประชุมรัฐมนตรีการค้าของประเทศที่ร่วมเจรจาข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน (RCEP หรือ ASEAN+6) ว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างเอกชนและรัฐ (ISDS) และเนื้อหาข้อตกลงอื่นๆ ที่ยังตกลงกันไม่ได้ ในวันที่ 5 ส.ค.นี้ ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั้น

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และแกนนำกลุ่ม FTA Watch กล่าวว่า ภาคประชาสังคมใน 16 ชาติที่ติดตามการเจรจานี้ได้ออกแถลงการณ์ขอเรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ ของประเทศที่ร่วมเจรจาข้อตกลง RCEP ไม่นำเรื่องกลไก ISDS มาเจรจาในข้อตกลงฯ รวมถึงไม่รับข้อบทที่เปิดให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องรัฐผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้

นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลของ 16 ประเทศกำลังเจรจาโดยไม่เปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ จากสำเนาเอกสารที่หลุดออกมาแสดงให้เห็นว่ามีข้อเสนอให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องดำเนินคดีกับรัฐบาลภายใต้กลไกอนุญาโตตุลาการได้ ซึ่งถ้าข้อเสนอนี้ผ่านในการเจรจาข้อตกลง RCEP จะอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องรัฐบาลต่างๆ ที่ร่วมลงนามได้ และถ้ารัฐบาลมีนโยบายหรือกฎหมายที่ทำให้ผลประโยชน์ของนักลงทุนเหล่านั้นได้รับผลกระทบ เช่น ส่งผลให้กำไรของบริษัทต่างชาติลดลง แม้ว่านโยบายนั้นจะเป็นประโยชน์ของสาธารณะ นักลงทุนต่างชาติจะเรียกร้องค่าเสียหายและดอกเบี้ยจำนวนมหาศาลจากรัฐได้

“กรณีฟ้องร้องโดยใช้กลไก ISDS ที่ผ่านมา ท้าทายนโยบายของรัฐที่เกี่ยวกับสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ภาษี และการเงิน โดยมีจำนวนสูงถึง 636 คดี มีรัฐบาล 107 ประเทศที่ถูกฟ้อง และจำนวนการฟ้องร้องได้สูงขึ้นอย่างมากในแต่ละปี ซึ่งคดีเหล่านี้ส่วนมากจะตัดสินโดยคำนึงถึงสิทธิของนักลงทุนเป็นหลัก แต่จำกัดอำนาจของรัฐบาลในการออกกฎหมายหรือมาตรการต่างๆ จนทำให้รัฐบาลในประเทศที่พัฒนาแล้วและที่กำลังพัฒนากลับมาพิจารณาใหม่ว่าสมควรจะสนับสนุนการคุ้มครองการลงทุนที่มีมาตรการนี้ในสนธิสัญญาการลงทุนแบบทวิภาคีต่างๆ (BITs) และข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) หรือไม่" แกนนำกลุ่ม FTA Watch กล่าว

เจ้าหน้าที่รณรงค์ กล่าวอีกว่า ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติและผู้เชี่ยวชาญอิสระในเรื่องสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงคดีภายใต้กลไก ISDS ที่เกิดขึ้นว่า กลไกการกำหนดนโยบายของรัฐและอำนาจในการออกกฎหมายเพื่อผลประโยชน์สาธารณะกำลังอยู่ในอันตราย เพราะจะทำให้การออกกฎหมายและนโยบายต่างๆ ของรัฐเป็นอัมพาต บุคคลเหล่านี้ได้เสนอแนะว่า ในการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่างๆ ซึ่งรวมถึงข้อตกลง RCEP เนื้อหาการเจรจานั้นจะต้องเผยแพร่ต่อสาธารณะ และการเจรจาจะต้องมีความโปร่งใส มีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสีย ซี่งรวมถึงภาคประชาสังคมด้วย

ทั้งนี้ ประเทศที่เข้าร่วมในการเจรจาข้อตกลง RCEP จำนวน ๑๖ ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์

อ่านข้อมูลกลไก ISDS เพิ่มเติมได้ที่ 
http://www.ftawatch.org/node/50417


คำอธิบาย ISDS ใน 5 นาที

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน