คณะอนุกรรมการฯ คอบช. และชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนเปิดช่องให้ผู้ประกันตนร้องเรียนการบริการ และปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมปรับปรุงระบบการตรวจสอบคุณภาพ รพ. พร้อมหนุนผู้ประกันตนปกป้องสิทธิตัวเอง
เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม คณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ ภายใต้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ( คอบช. ) ร่วมกับชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน แถลงข่าว "กรณีโรงพยาบาล เดชา ถึงเวลาต้องปฏิรูปการบริหารจัดการของระบบประกันสังคม" ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จากกรณีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข มีคำสั่งปิดรพ.เดชา ชั่วคราว เนื่องจากมีปัญหาไม่สามารถให้บริการสาธารณสุขได้อย่างมีมาตรฐานตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขนั้น
นางสาวสุภัทรา นาคะผิว อนุกรรมการฯ และตัวแทนผู้ประกันตน ให้ความเห็นว่า จากกรณีนี้สะท้อนเรื่องความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของ สปส.ได้อย่างชัดเจน เพราะก่อนที่ สปส.จะทำสัญญากับ รพ.ใดก็ต้องมีระบบตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานก่อนว่า รพ.นั้นมีความพร้อมรับผู้ประกันตนไปดูแลหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้สะท้อนว่า สปส.ไม่มีระบบตรวจสอบเลย ส่งผลให้ผู้ประกันตน ๔๐,๐๐๐ คนถูกลอยแพ เช่น การไปใช้บริการอาจต้องเดินทางไกลขึ้น หรือไม่ได้รับความสะดวก ซึ่งการแก้ปัญหาขณะนี้ไม่มีหลักประกันให้ผู้ประกันตนเชื่อมั่น รวมทั้งขอคัดค้านที่ให้ผู้ประกันตนต้องสำรองจ่ายไปก่อนในการรับบริการที่หน่วยบริการอื่นจัดหาให้ หากผู้ประกันตนไม่มีค่าใช้จ่าย ขอให้สปส. จัดการ ระบบการจ่ายเงินกับทางรพ. เดชา โดยที่ผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่าย และถึงเวลาแล้วที่ต้องปฏิรูประบบการบริหารจัดการทั้งหมดของ สปส. ที่ไม่มีประสิทธิภาพและขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน และระบบการตรวจสอบคุณภาพหรือมาตรฐานที่มีประสิทธิภาพ คณะอนุกรรมการฯ กล่าว
นางสุภาพร ถิ่นวัฒนานุกูล คณะกรรมการฯ ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันสิทธิประโยชน์ระหว่างผู้ประกันตนและบัตรทองมีความแตกต่างกันกัน จึงเสนอให้
1.สปส. เปลี่ยนสิทธิประโยชน์ในเรื่องการเปลี่ยนหน่วยบริการให้สิทธิเทียบสิทธิประโยชน์ในบัตรทอง ซึ่งสามารถเปลี่ยนหน่วยบริการได้ 4 ครั้ง ต่อปี
2.ขอให้ปรับปรุงหน่วยรับเรื่องร้องเรียนในระบบประกันสังคม ให้ดีเทียบเท่ากับระบบบัตรทอง ซึ่งกรณีนี้ หากผู้ประกันตนไม่มีเงินสำรองจ่ายทางระบบจะต้องจัดการให้กับผู้ประกันตน
3. ปรับปรุงสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ได้น้อยกว่าระบบสุขภาพระบบอื่น เพราะผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมากกว่าระบบอื่น
นายสมชาย กระจ่างแสง ตัวแทนชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวว่า ก่อนที่ รพ.เดชาจะถูกสั่งปิด ทาง รพ.ก็ไม่พร้อมให้บริการแล้ว เช่น การที่มีบุคคลากรไม่เพียงพอต่อการจัดบริการให้กับผู้ใช้บริการ เป็นต้น แต่เมื่อ รพ.ไม่พร้อม สำนักงานประกันสังคม กลับ ยังคงจ่ายเงินค่าเหมาจ่ายรายหัวของผู้ประกันตน จำนวนกว่า ๔๐,๐๐๐ คนให้กับโรงพยาบาลไป แล้วผู้ประกันตนจะทำอย่างไร แม้ระหว่างนี้จะให้ไปใช้บริการ รพ.อื่นแทนได้ แต่ผู้ประกันตนยังต้องสำรองจ่ายไปก่อนแล้วไปเบิกคืนซึ่งอาจเป็นภาระต่อผู้ประกันตน และมาตรการในการจัดการภายหลัง ๓๐ วัน ทางสำนักงานประกันสังคมได้มีมาตรการในการจัดการปัญหานี้อย่างไร
ขอเชิญชวน ผู้ประกันตน 40,000 คน ที่ประสบปัญหาจากเหตุการณ์ครั้งนี้ หรือผู้ประกันตนที่ไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการ ให้มาร้องเรียนที่เพจ ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน หรือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตัวแทนชมรมกล่าวฯ
นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ตัวแทนผู้ประกันตน สปส. ทราบว่าทางรพ.เดชาติดค้างค่าประกันสังคม กรณีเป็นที่เป็นนายจ้าง จำนวน 8 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสัญญาณบอกเหตุอย่างหนึ่ง ทำไม่ สปส.จึงไม่มีการตรวจสอบ และกรณีส่งรพ.เดชาส่งต่อผู้ประกันตนไปรับบริการที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ และติดค้างใช้จ่ายการให้บริการไม่ได้มีการตามจ่ายให้เป็นจำนวนเงินประมาณ 32 ล้านบาทเป็นเหตุให้รพ. จุฬาลงกรณ์ไปทวงถามค่าใช้จ่ายนี้ ที่ สปส. ทำไมจึงไม่มีการตรวจสอบก่อนที่จะดำเนินการต่อสัญญากับรพ.เดชา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรพ.เดชา ได้ไปร้องเรียนที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่องการไม่จ่ายค่าตอบแทนตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2558 ฉะนั้นเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น ถึงเป็นสัญญาณบอกเหตุ ทำไมสปส.ไม่ตรวจสอบก่อนการจ่ายค่าเหมาจ่ายรายหัว นายมนัส กล่าว