บันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระผู้บริโภค พ.ศ. ...

ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระผู้บริโภค พ.ศ. .... มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

     1. จัดทำเป็นกฎหมายเฉพาะ ที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

     2. สนับสนุนให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคตามกฎหมาย ได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

     3. การสนับสนุนด้านงบประมาณจากหน่วยงานของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญฯ เพื่อดำรงความเป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ควรออกแบบให้มีการสนับสนุนงบประมาณต่อองค์กรอิสระในลักษณะต่อ
หัวประชากร

     4. ขอบเขตอำนาจหน้าที่ในการทำงาน ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติให้มีหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตรา และการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค แต่การจะทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรจะต้องมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ดังนั้นองค์การอิสระผู้บริโภค ควรทำหน้าที่สำคัญซึ่งสอดคล้องกับปัญหาผู้บริโภคในปัจจุบันดังต่อไปนี้

     (4.1) ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับการตราและการบังคับใช้กฎหมาย กฎ และข้อบังคับ และการให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
     (4.2) ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค
     (4.3) ส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคในการคุ้มครองผู้บริโภคให้เกิดขึ้นอย่างน้อยในทุกจังหวัด
     (4.4) ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการ องค์กรเอกชนและองค์กรอื่นในการส่งเสริมผู้บริโภคและการคุ้มครองผู้บริโภค
     (4.5) จัดให้มีการประชุมสมัชชาตัวแทนองค์กรผู้บริโภคอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อประเมินการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขององค์การอิสระ ติดตาม ตรวจสอบ การทำงานของหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค และเพื่อเสนอแนะแนวทางในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคแก่หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เพื่อดำเนินการใด ๆ ในการคุ้มครองผู้บริโภค
     (4.6) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ในการคุ้มครองผู้บริโภค
     (4.7) จัดทำรายงานเฉพาะกรณี รายงานประจำปี เพื่อประเมินสถานการณ์ผู้บริโภค เสนอต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภาและเผยแพร่ต่อสาธารณชน
     (4.8) สนับสนุนการใช้มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งทำการฟ้องแทนผู้บริโภคเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นต้น

      5. องค์การอิสระผู้บริโภคต้องเป็นหน่วยสนับสนุนผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภค ในการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จแก่ผู้บริโภค เนื่องจากระบบการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยเป็นระบบที่มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบร่วมกัน เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม เป็นต้น ทำให้เป็นภาระและยากแก่ผู้บริโภคในการจะได้รับทราบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการใช้สิทธิของตนเอง ในการได้รับการเยียวยา ชดเชยความเสียหายให้สอดคล้องกับปัญหาและความเสียหาย ดังนั้นองค์การอิสระผู้บริโภคควรเป็นหน่วยบริการแบบเบ็ดเสร็จแก่ผู้บริโภค (One Stop Service)

     6. การปฏิบัติงานเต็มเวลาของคณะกรรมการ เนื่องจากมีภารกิจที่ต้องปฏิบัติการมีจำนวนมาก หลากหลาย และกว้างขวาง รวมทั้งครอบคลุมหน่วยงานจำนวนมาก ดังนั้นหากใช้เฉพาะสำนักงานเลขานุการจะไม่เพียงพอต่อสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชน ผู้บริโภค

     7. ผู้แทนผู้บริโภค ที่จะเป็นคณะกรรมการองค์การอิสระผู้บริโภค จะต้องเป็นองค์กรที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคต่อเนื่อง ไม่ใช่องค์กรเฉพาะกิจ ไม่ใช่องค์กรของภาคธุรกิจที่ให้บริการผู้บริโภค รวมทั้งบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจะต้องมีผลงานในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน