เมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค จำนวน ๕ คนเข้าหารือกับ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้สนับสนุนกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.)
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ ต้องการให้ ม.ล.ปนัดดาช่วยสนับสนุนกฎหมายองค์การอิสระฯ เนื่องจากเป็นการช่วยเสริมการทำงานให้กับหน่วยงานรัฐในการคุ้มครองผู้บริโภค โดยการติดตาม เป็นหูเป็นตา สนับสนุนการทำงานของภาครัฐ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐมีจำนวนจำกัด จึงยากที่จะคุ้มครองผู้บริโภคได้ทั้งหมด รวมถึงยังจะทำให้ประชาชนเท่าทัน มีข้อมูล ความรู้ในการปกป้องตัวเองด้วย
“องค์กรนี้ โดยตัวแทนผู้บริโภคจะทำหน้าที่ให้ความเห็นประกอบการทำงานของหน่วยงานรัฐ ไม่ใช่การให้ความเห็นชอบ ซึ่งไม่ได้ซ้ำซ้อนกับสิ่งที่มี และชี้ถูกชี้ผิดให้กับผู้ประกอบธุรกิจไม่ได้ อีกอย่างคือ ตอนนี้มันเสียดุล เพราะไม่มีตัวแทนผู้บริโภคให้ความเห็น โดยองค์กรนี้จะทำให้เกิดตัวแทนผู้บริโภคที่เป็นระบบมากขึ้น และมีเหตุมีผล คือเราต้องการทำให้เกิดกลไกระดับประเทศขึ้นมา ที่ไม่ใช่กลไกของมูลนิธิ หรือสหพันธ์ใดๆ แต่คือกลไกของรัฐบาลที่จะฝากไว้ให้กับประเทศในการคุ้มครองผู้บริโภค” เลขาธิการกล่าว
ด้าน ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ได้รับในการพูดคุยกันคือความห่วงใยที่มีต่อการปกป้องสาธารณะ ปกป้องผู้บริโภคที่สังคมพึงจะได้รับ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดประชารัฐในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข โดยที่สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เขาก็ต้องการจะทำ เช่น การที่แนวคิดขององค์การอิสระฯ คือการสนับสนุนหน่วยงานรัฐในการทำงานก็น่าจะเป็นประโยชน์กับพลเมือง และน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียว และเป็นความสุขของประชาชน
“ผมจะสรุปเรื่องที่คุยกันในวันนี้ และจะตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารายละเอียดอีกครั้ง โดยให้ผลลัพธ์ออกมาในแนวสร้างสรรค์ ซึ่งอะไรที่เป็นคุณูปการกับประเทศ ท่านวางใจได้” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าว
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า ไม่มีใครปกป้องผู้บริโภคได้ดีเท่ากับการทำให้ผู้บริโภคเข้มแข็งแล้วลุกขึ้นมาปกป้องตนเอง ซึ่งการมีองค์การอิสระฯ จะช่วยสนับสนุนให้เกิดสิ่งนี้
นายวีระชัย ชมสาคร ผู้ตรวจการสำนักนายกรัฐมนตรี เขต ๑๓ ให้ความเห็นว่า เขาเห็นด้วยกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในลักษณะการเสริมการทำงานกัน เพราะสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีข้อจำกัดหลายเรื่อง และน่าจะได้นำข้อขัดข้องบางประการที่เห็นไม่ตรงกันมาพูดคุยกัน
ทั้งนี้ ข้อเสนอเพื่อให้สนับสนุนกฎหมายดังกล่าวของเครือข่ายผู้บริโภค คือ ๑.ต้องการตัวแทนผู้บริโภคในการกำหนดกติกา และมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคกับหน่วยงานรัฐ ๒.สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภคมีข้อมูล ความรู้ เท่าทัน สามารถต่อรองเมื่อเกิดปัญหากับตัวเอง และสนับสนุนหน่วยงานรัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ ๓.เป็นองค์กรที่ช่วยสนับสนุนหน่วยงานรัฐในการคุ้มครองผู้บริโภค