ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ไฮโซ ข้าราชการ ชาวนา นักการเมือง ฯลฯ สถานะที่ทุกคนมีร่วมกันคือการเป็น ‘ผู้บริโภค’ ทุกคนต้องกิน ต้องอยู่ ต้องใช้ และต้องซื้ออะไรสักอย่างเสมอ ปัญหาสิทธิของผู้บริโภคจึงแผ่ขยายกว้างไกลตั้งแต่นมบูดถึงโครงสร้างการผูก ขาดและเอารัดเอาเปรียบในธุรกิจพลังงานกันเลยทีเดียว
ถึงเราจะมี สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) หรือกฎหมายที่เอื้อให้ผู้บริโภคเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 แต่ดูเหมือนจะยังไม่เพียงพอรับมือกับสถานการณ์ที่ยุ่งเหยิงและซับซ้อนขึ้นทุกวัน
รัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 57 จึงได้บัญญัติให้มีการตั้ง องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ขึ้น กระทั่งเปลี่ยนรัฐธรรมนูญเป็นฉบับปี 2550 ประเด็นนี้ก็ยังถูกบรรจุไว้ในมาตรา 61 ว่า
‘สิทธิ ของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับการคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็น ความจริง และมีสิทธิร้องเรียน เพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค
‘ให้ มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการ บังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้ บริโภค ทั้งนี้ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย’
แต่ก็ตามประสาการเมืองเช้าชามเย็นชามแบบไทยๆ ถึงตอนนี้ หลังจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนมานานกว่า 10 ปี องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคก็ยังไม่สามารถเป็นตัวเป็นตน แม้จะมีการบรรจุวาระเข้าสู่สภา แต่ความเห็นต่างในสาระสำคัญของกฎหมายก็ทำให้กฎหมายต้องถูกถอดออกมาจากวาระใน ที่สุดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา
[1]
ประเด็นหลัก 2 ข้อที่ทำให้ ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องตกไปคือ เรื่องงบประมาณและอำนาจหน้าที่
โดยในมาตรา 8 ระบุให้รัฐสนับสนุนทุนประเดิมในปีแรกเท่ากับเงินอุดหนุนทั่วไปขั้นต่ำ ซึ่งเงินอุดหนุนทั่วไปขั้นต่ำดังกล่าวจะต้องไม่น้อยกว่า 5 บาทต่อหัวประชากร และต้องปรับเพิ่มตามอัตราเงินเฟ้อทุก 3 ปี บุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ เล่าว่า
" นักการเมืองหลายคนมองว่า การเขียนตัวเลข 5 บาทหรือ 300 ล้านลงไปไม่เหมาะสม เพราะเท่ากับบังคับให้รัฐบาลต้องจ่ายเท่านั้นเท่านี้ แต่องค์กรควรจะมีภาระหน้าที่ต้องมาอธิบายว่าจะใช้เงินไปทำอะไร ดังนั้น คุณควรมาขอ เอางานมาแลก แต่ในคณะกรรมาธิการส่วนใหญ่ก็คิดเป็น 300 ล้านบาทไปแล้ว สุดท้ายก็หาข้อตกลงไม่ได้ ก่อนเข้าห้องประชุมก็มีความพยายามขอให้ถอนร่างออกไปก่อน แต่ภาคประชาชนบอกว่าขอสู้ในสภา พอพิจารณามาถึงมาตรา 8 เรื่องตัวเลขการเงิน ส.ส.ประชาธิปัตย์ และฝ่ายค้านคือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ก็พูดทำนองว่าไม่เห็นด้วยกับตัวเลข ขอให้โหวต เพื่อดูว่าคุณจะเอาตามกรรมาธิการส่วนใหญ่ที่บอกให้ 5 บาท หรือส่วนน้อยที่มีการแปรญัตติว่าให้ตัดคำออกไปเลย เราก็เลยมาคิดว่าเอาแค่ 3 บาทหรือ 180 ล้านบาทซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่พอรับได้ แต่เงินประเดิม 300 ล้านแรกไม่ให้เขียนตัวเลข ให้เขียนว่าจะให้ทุนประเดิมอย่างพอเพียงกับการเริ่มต้นในการใช้ก็ขอเข้ามา”
ทำไมตัวเลขนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ สารี อ๋องสมหวัง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การเขียนว่า ‘อย่างพอเพียง’ ก็ไม่รู้ว่าแค่ไหนจึงพอเพียง แต่การกำหนดตัวเลขเพื่อประกันความเป็นอิสระขององค์การ ทั้งอิสระจากรัฐ ราชการ และทุน งบประมาณ 5 บาทต่อหัวเท่ากับขนมเด็กถุงหนึ่งเท่านั้น ขณะที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณมากกว่านี้หลายเท่าตัวเพื่อดูแลอาหารที่ส่งออก ต่างประเทศ
“10 กว่าปีที่มันไม่เกิดเพราะมีการเถียงกันว่ามันจะเป็นอิสระยังไง เราคิดว่าความเป็นอิสระเป็นหัวใจของกฎหมายนี้ อิสระจากทุน จากการเมือง จากราชการ องค์การนี้ควรบริหารจัดการคนและงบประมาณได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะตรวจสอบอะไรไม่ได้ เพราะในกฎหมายก็ระบุกลไกการตรวจสอบยุบยับไปหมด”
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. พรรคเพื่อไทย ซึ่งติติงเรื่องเงินประเดิม บอกว่า
“สำหรับเรื่องการตีความคำว่าเพียงพอ มันขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานเป็นหลัก มันต้องสามารถสนับสนุนการทำภารกิจตามที่กำหนดไว้ในอำนาจหน้าที่ได้ ซึ่งถ้าสามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ตั้งไว้ นั่นก็ถือว่าเพียงพอ ถึงแม้ว่าจะเป็นคำที่นามธรรมพอสมควร แต่มันก็สามารถวัดได้เชิงเศรษฐศาสตร์"
ขณะที่ นิโรธ เจริญประกอบ เลขาธิการสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ค่อนข้างเห็นด้วยกับทาง ส.ส. ว่า มีแนวโน้มที่อาจจะต้องลดทอนลง อาจจะเขียนในกฎหมายว่า ‘ไม่น้อยกว่า’ ถ้าหากองค์กรภาคประชาชนมีแผนงานที่ชัดเจน อาจจะได้มากกว่า 5 บาทต่อหัวก็ได้ ก็ขอให้มีองค์การที่จะควบคุมการจัดสรรงบประมาณ เพราะการใช้งบประมาณของรัฐควรอยู่ในกรอบของการพิจารณาของภาครัฐด้วย ภาคประชาชนไม่ควรจะกล่าวอ้างว่าจะไม่ได้รับความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ
แต่แหล่งข่าววงในบอกว่า ความเห็นไม่ตรงกันเรื่องเงินอุดหนุนนั้นเป็นแค่ปลายเหตุของการงัดข้อกันเอง ภายในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งบุญยอดปฏิเสธว่า เรื่องนี้ไม่มีแน่นอน
[2]
ส่วนประเด็นเรื่องอำนาจหน้าที่ ฟากหนึ่งมองว่าองค์การอิสระนี้ควรฟ้องร้องแทนผู้บริโภคได้หรือไม่กับเรื่อง การเปิดเผยรายชื่อสินค้าหรือบริการที่ละเมิดผู้บริโภค ซึ่งข้อหลัง แหล่งข่าววงในตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีการล็อบบี้จากภาคธุรกิจผ่านที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการ
“ที่ปรึกษาของวิปเห็นว่าไม่ควรให้องค์การนี้ทำได้ ซึ่งคิดแบบนี้ล้าหลังมาก แต่เดิมคนก็หงุดหงิดมากที่มีข่าวว่า สินค้าหรือบริการอันนั้นอันนี้ไม่ดี แล้วไม่บอกชื่อ แต่ว่าหลังถ้าดูหน่วยงานของรัฐเองก็ประกาศชื่อแล้ว ดังนั้น องค์การนี้ที่รัฐธรรมนูญเขียนรับรองไว้ ก็ยิ่งต้องทำเรื่องนี้ อีกเรื่องคือการฟ้องคดี ปัจจุบันไม่ต้องเป็นองค์การอิสระก็ฟ้องได้เยอะแยะ อย่างเช่นมูลนิธิหรือสมาคมที่ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ก็ฟ้องแทนได้อยู่แล้ว ดังนั้น มันจึงไม่ใช่อำนาจใหญ่อะไร” สารี กล่าว
แม้เรื่องเงินอุดหนุนทาง สคบ. จะมีท่าทีต่างจากภาคประชาชน แต่ในเรื่องนี้ นิโรธกลับเห็นด้วย เพราะถือเป็นการทำงานเสริมกับ สคบ. แม้ว่าจะมีการวิจารณ์ว่า เป็นการให้อำนาจหน้าที่เกินกว่ากรอบที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ แต่นิโรธเห็นว่า แม้จะเกินกรอบ แต่ก็ไม่ใช่อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
“อำนาจ หน้าที่ตรงนี้ไม่ได้ให้อำนาจรัฐ เพราะภาคประชาชนไม่มีสิทธิใช้อำนาจรัฐในการสั่งหรือลงโทษผู้ประกอบธุรกิจ ส่วนนี้เป็นอำนาจของ สคบ. แต่ภาคประชาชนจะเป็นภาคที่ส่งเสริมการใช้อำนาจรัฐ โดยเรื่องการฟ้องร้อง ถึงแม้จะไม่มีการกำหนดไว้ให้องค์การอิสระฟ้อง แต่องค์กรภาคประชาชนที่มาขอคำรับร้องจาก สคบ. ก็สามารถฟ้องได้อยู่แล้ว กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคก็เอื้อให้ผู้บริโภคเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เองได้อยู่แล้ว”
ส่วนเรื่องการเปิดเผยชื่อก็สอดคล้องกับในรัฐธรรมนูญ ที่ระบุให้ผู้บริโภคจะต้องเข้าถึงข้อมูลที่เป็นความจริง พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการ สภาหอการค้าไทย แสดงความคิดเห็นในฐานะองค์กรภาคธุรกิจเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค
“ถ้าองค์การนี้ตั้งขึ้นมาได้ ต้องคำนึงว่าเป็นองค์การที่สนับสนุนการบริโภคให้มีคุณภาพ ไม่ใช่ตรวจสอบผู้ค้าหรือนักธุรกิจ เพราะว่ารัฐบาลมีกรมการค้าภายในดูแลอยู่แล้ว มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้าดูแลอยู่”
สำหรับเนื้อหาบางส่วนของ พ.ร.บ. ที่มีการระบุให้เปิดเผยข้อมูลบางประเภท พรศิลป์ มองว่าอาจเป็นช่องว่างให้เกิดการเสียดุลของผลประโยชน์เชิงธุรกิจ
“ผม ไม่เห็นด้วยนะ มันเกี่ยวกับผู้บริโภค คือในตลาดมันย่อมมีการแข่งขัน ซึ่งถ้าตรวจสอบไม่ทั่วถึงอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจประเภทเดียวกันได้”
สิ่งสำคัญคือผู้ที่จะเข้าไปรับผิดชอบในองค์กรนี้ ต้องมีความโปร่งใส่ เป็นกลาง พรศิลป์ กล่าวทิ้งท้าย
ซึ่งเรื่องนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฯ ได้ระบุให้มีการตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นเพื่อเลือกคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะมาจากหน่วยงานต่างๆ เช่น นายกสภาทนายความ, ประธานสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระบรมราชูปถัมภ์, ประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เป็นต้น
ทั้งหมดนี้คือความคิดเห็นของบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งความเห็นต่างจะต้องได้รับการพูดคุยเพื่อตกผลึก เพราะอย่างน้อยเราเชื่อว่าการมีองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคจะช่วยรองรับ ปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคที่ทวีความซับซ้อนขึ้นได้ และถือเป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ทั้งนั้น นักการเมืองจะต้องยึดเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก โดยไม่ไปปะปนกับเกมการเมือง
>>>>>>>>>>
เรื่อง: ทีมข่าว CLICK
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 7 มีนาคม 2554