ตัวแทนองค์กรผู้บริโภค 152 องค์กร รวมตัวยื่น สปน. เปิดตัวเป็นคณะผู้เริ่มก่อการจัดตั้ง ‘สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย’ พร้อมเผย ภายใน 30 วัน จะมีการประกาศจัดตั้งสภาองค์กรฯ ที่เป็นตัวแทนผู้บริโภคระดับชาติและระดับจังหวัด
จากการที่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศองค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรผู้บริโภคตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562” จำนวน 155 องค์กรแล้ว ซึ่งตามกฎหมายได้กำหนดให้องค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการจดแจ้งไม่น้อยกว่า 150 องค์กรสามารถรวมตัวจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้นั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : 22 ปี เส้นทางสภาองค์กรของผู้บริโภค : การต่อสู้ของผู้บริโภคเพื่อให้มีตัวแทนระดับประเทศ)
วันนี้ (8 ตุลาคม 2563) เวลา 13.30 น. ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ประกอบด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา นางสาวบุญยืน ศิริธรรม สมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค นางสาวจุฑา สังฃชาติ สมาคมผู้บริโภคสงขลา นายศตคุณ คนไว สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น นางสาวอาภรณ์ อะทาโส สมาคมผู้บริโภคร้อยเอ็ด นางสาวชลดา บุญเกษม ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดอยุธยา นางสาวสุภาวดี วิเวก สมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคตะวันออก นายนิมิตร์ เทียนอุดม มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ นายวิทยา แจ่มกระจ่าง สมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร และ พ.ท.พญ. กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ ได้รวมตัวเป็นแกนนำ และ รวบรวมรายชื่อองค์กรที่ได้จดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภคต่อนายทะเบียนกลางและนายทะเบียนจังหวัดจากทั่วประเทศ จำนวน 152 องค์กร เพื่อยื่นเรื่องขอเป็น *ผู้เริ่มก่อการในการจัดตั้ง “สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย” ตาม พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ต่อผู้แทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานกิจการองค์กรของผู้บริโภค สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)
ทั้งนี้ ในการดำเนินการขอเป็นผู้ริเริ่มก่อการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคประเทศไทยนี้ มี นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ *นายทะเบียนกลาง และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนมารับหนังสือ
อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ นายทะเบียนกลางจะมีการตรวจสอบหลักฐานและเอกสาร การยินยอมเข้าร่วมขององค์กรผู้บริโภคที่ร่วมเข้าชื่อจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค เมื่อนายทะเบียนกลางได้รับแจ้ง และตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนแล้ว จะมีการประกาศการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค คือ ‘สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย’ ในราชกิจจานุเบกษา รวมถึงทางระบบเทคโนโลยีสานสนเทศ ภายใน 30 วัน และ เมื่อมีการจัดตั้ง ‘สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย’ คณะผู้เริ่มก่อการต้องจัดทำร่างข้อบังคับของสภาองค์กรฯ และเรียกประชุมสมาชิกภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่ประกาศการจัดตั้งในราชกิจจานุเบกษา เพื่อดำเนินกิจกรรมสำคัญต่างๆ คือ พิจารณาข้อบังคับสภาฯ เลือกตั้งประธานและคณะกรรมการนโยบายของสภาฯ กำหนดนโยบาย แนวทาง หรือแผนงาน รวมทั้งกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค
สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย" จะทำให้ผู้บริโภคมีตัวแทนทั้งในระดับชาติและระดับจังหวัดด้วย
...เป็นตัวแทน เสนอความเห็น ต่อการจัดทำร่างกฎหมายต่างๆ หรือ นโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับผู้บริโภค
...เป็นปากเป็นเสียงช่วยตรวจสอบ เตือนภัย เปิดเผยข้อมูล และชื่อสินค้าที่หลอกลวง ไม่ปลอดภัยกับผู้บริโภค
...ช่วยสนับสนุนผู้บริโภคให้สามารถแก้ปัญหา เคียงข้างผู้บริโภคในการเจรจาไกล่เกลี่ย ประนีประนอม ตั้งแต่ก่อนฟ้องจนเรื่องขึ้นสู่ศาล ช่วยฟ้องคดี รวมถึงช่วยผู้บริโภคที่ใช้สิทธิแล้วถูกดำเนินคดี
...ทำให้ผู้บริโภค รู้สิทธิ เข้าถึงสิทธิและใช้สิทธิได้อย่างเข้มแข็ง โดยร่วมกับองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ เพื่อคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค
*ผู้เริ่มก่อการ หมายถึง องค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการรับรองสถานะองค์กรผู้บริโภคจากนายทะเบียนกลาง มีจำนวนไม่น้อยกว่า 150 องค์กร ซึ่งรวมตัวกันทำหน้าที่ก่อการในการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค และรวบรวมองค์กรผู้บริโภคให้ครบจำนวนตามที่กำหนดในการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค
*นายทะเบียนกลาง หมายถึง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมาย