มติ สนช. 159 เสียง เอกฉันท์ เห็นชอบออก กม. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค

consumer law 150262

มติ สนช. 159 ต่อ 0 เห็นชอบให้ออกกฎหมาย พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคมีผลใช้บังคับภายใน 60 วัน

          วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2562) ณ รัฐสภา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพีระศักดิ์ พอจิต เป็นรองประธาน สนช. คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ... วาระที่ 2 และ 3 โดยหลังจากที่ประชุม สนช. ลงมติเป็นรายมาตราในวาระที่ 2 เรียบร้อยแล้ว จึงมีการลงมติในวาระที่ 3 เห็นชอบให้ออกกฏหมาย พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ... ด้วยคะแนนเสียง 159 เสียงเป็นเอกฉันท์ งดออกเสียง 3 และ ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง โดยกฏหมายดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับภายใน 60 วัน

consumer law 1502622        

สำหรับ การพิจารณาวาระที่ 2 นั้น ได้พิจารณามาตราที่มีการแก้ไขทั้งหมด 4 มาตรา ได้แก่ มาตรา 2, 7, 10 และ 19 จากกฏหมายทั้งหมด 20 มาตรา ซึ่งประเด็นแก้ไขที่สำคัญ และมีการถกเถียงชี้แจงเพิ่มเติมนั้นอยู่ในมาตรา 19 ในประเด็นเรื่องเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ร่างกฎหมายฉบับกรรมาธิการมีการแก้ไขให้รัฐบาลจัดสรรเงินไว้ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่สภาองค์กรฯ ให้เป็นไปตามระเบียบ ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งถูกท้วงติงจาก นายมณเฑียร บุญตัน และนางสุรางคณา วายุภาพ สมาชิก สนช. ให้เขียนไว้เหมือนร่างเดิมของรัฐบาล ที่เป็นการจัดสรรเงินอุดหนุนโดยตรงแก่สภาองค์กรฯ เพื่อคงความเป็นอิสระในการดำเนินงานของสภาองค์กรฯ และการบริหารงานที่เป็นอิสระตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ

150219 news law duty

          ทั้งนี้อำนาจหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภคนั้น ในกฏหมายได้ระบุไว้ว่า ในฐานะตัวแทนผู้บริโภค ให้สภาองค์กรฯ มีอำนาจดำเนินการในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้ด้วย

          (1) ให้ความคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค เสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

          (2) สนับสนุนและดำเนินการ ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ และแจ้งเตือนภัยปัญหาผู้บริโภค โดยจะระบุชื่อสินค้าหรือบริการหรือชื่อของผู้ประกอบธุรกิจด้วยก็ได้

          (3) รายงานการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคไปยังหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบ และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ

          (4) สนับสนุนและช่วยเหลือองค์กรของผู้บริโภค และส่งเสริมการรวมตัวขององค์กรของผู้บริโภคในระดับจังหวัดและเขตพื้นที่

          (5) สนับสนุนการศึกษาและและการวิจัยเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค

          (6) สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกในการไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมยอมความข้อพิพาท เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ทั้งก่อนและในระหว่างการดำเนินคดีต่อศาล

          (7) ดำเนินคดีแทนผู้บริโภค

          (8) รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก

          กฏหมาย พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้รับการอนุมัติหลักการ จากคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2561 ในชื่อ “(ร่าง) พ.ร.บ. สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. ...” ซึ่งร่างกฏหมายฉบับนั้นได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศแล้ว ต่อมา วันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 กฎหมายดังกล่าวมีการแก้ไข โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน และให้เหตุผลว่า “(ร่าง) พ.ร.บ. สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. ...” ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงมาการเปลี่ยนชื่อและแก้ไขเนื้อหา จนได้ร่างกฎหมายฉบับใหม่ออกมา ในชื่อ “(ร่าง) พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ...” จากนั้น วันที่ 10 มกราคม 2562 สนช. ได้มีมติรับหลักการ "(ร่าง) พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ..." วาระที่ 1 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม). เสนอเป็นเรื่องเร่งด่วน และได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว โดยมีกำหนดเวลาพิจารณาภายใน 45 วัน ซึ่งนำมาสู่การพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 จนกระทั่งออกเป็นกฏหมายในวันนี้

 

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน