มีแล้วไม่ดี ไม่มีดีกว่า! 222 องค์กร คัดค้านร่างกฎหมายการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค

news laws 070119

คอบช. และสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ร่วมกับ 222 องค์กร คัดค้านการพิจารณาร่างกฎหมายการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมยื่น 3 ข้อเสนอต่อ สนช. 

         จากการที่เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2562 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (คอบช.) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จัดเวทีวิชาการ “กฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแบบไหน ที่ประชาชนได้ประโยชน์” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และชี้ให้เห็น จุดอ่อน - จุดแข็ง ของร่างกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคทั้งฉบับของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และฉบับของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นอกจากนี้ยังมีการหารือถึงจุดยืนขององค์กรผู้บริโภค ที่ควรมีต่อกฎหมายฉบับกฤษฎีกาซึ่งกำลังจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติในสัปดาห์หน้านั้น

07.01.2562 supa

          วันนี้ (7 มกราคม 2562) คอบช. จึงจัดงานแถลงข่าว ‘222 องค์กร ค้านพิจารณา ร่างกฎหมายการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค’ นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล ประธาน คอบช. กล่าวว่า จากการติดตามกระบวนการทำกฎหมายตามมาตรา 46 พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายที่ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน เริ่มจากที่คณะรัฐมนตรีให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นเจ้าภาพทำกฎหมาย มีการยกร่างและจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริโภคและภาคส่วนต่างๆ ทั่วประเทศ จนได้ร่างที่มีชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. ....” ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่รับรองให้เกิดตัวแทนผู้บริโภคอย่างเป็นทางการและผ่านมติ ครม. แล้ว

          แต่เมื่อนำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการกฤษฏีกา คณะพิเศษ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน มีการปรับแก้เนื้อหาจนจำร่างเดิมไม่ได้และเปลี่ยนชื่อเป็น “ร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ....” ที่เขียนวิธีจัดตั้งที่แตกต่างไป อีกทั้งหลังจากร่างกฎหมายนี้ออกจากคณะกรรมการกฤษฏีกา ก็มีเพียงนำไปขึ้นเว็บไซต์ ไม่ได้มีการนำไปสอบถามความคิดเห็นจากผู้บริโภคเหมือน ฉบับของ สคบ. จึงเห็นว่าร่างกฎหมายนี้ นอกจากจะไม่ตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว ยังไม่ได้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง จึงไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค

          “สาเหตุที่เราคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ เพราะนอกจากจะไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคแล้ว ยังมีโอกาสที่จะเกิดสภาองค์กรหลายสภา ซึ่งอาจทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างองค์กรผู้บริโภค ไม่มีความเป็นเอกภาพและไม่สามารถเป็นตัวแทนของผู้บริโภคอย่างแท้จริง จึงขอเสนอว่าถ้าอยากให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคควรกลับไปพิจารณากฎหมายฉบับ สคบ. แทน” นางสุภาพรกล่าว07.01.2562 su

          นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการ คอบช. ด้านบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในฐานะที่ได้เข้าไปร่วมในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ในชั้นของกฤษฏีกา พบจุดอ่อนของร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. .... ที่สำคัญหลายประการ อย่างเช่น ตัวสภาองค์กรของผู้บริโภคไม่มีความเป็นเอกภาพ ขาดอิสระ เพราะมีรูปแบบการจัดตั้งทำให้เกิดหลายสภาและมีโอกาสที่จะถูกแทรกแซง ไม่มีพลังในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคได้จริง รวมถึงเรื่องการไม่กำหนดให้มีสำนักงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน แต่ระบุเพียงให้เขียนเป็นข้อบังคับ ซึ่งต่างกับร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่ สคบ. จัดทำ ที่ระบุไว้เป็นหมวดสำนักงานคณะกรรมการสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ซึ่งสะท้อนถึงความไม่แน่นอนของงบประมาณที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐ อีกทั้งหากมีตัวสภาเกิดขึ้น แต่ไม่มีสำนักงานที่เป็นส่วนปฏิบัติการ การทำงานของคณะกรรมการสภาก็ไม่มีพลัง ไม่สามารถทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคได้จริง จึงไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้07.01.2562 pai

ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง นักวิชาการเครือข่ายผู้บริโภค มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ร่างกฎหมายสภาองค์กรของผู้บริโภคที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฏีกาไม่ได้รักษาหลักการของกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ อีกทั้งร่างกฎหมายดังกล่าวยังมีเนื้อหาที่ไม่สื่อความเป็นตัวแทนของผู้บริโภค
ทั้งชื่อกฎหมายที่ไม่แสดงถึงการเป็นตัวแทนของผู้บริโภคที่เป็นทางการ ทำให้ลดความน่าเชื่อถือของสภาองค์กรของผู้บริโภค ในส่วนของอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้มากมายในกฎหมาย ซึ่งต้องสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคต่างๆ และดูแลผู้บริโภคทั้งประเทศในทุกด้าน แต่ไม่ได้กำหนดงบประมาณที่มีหลักประกันชัดเจน จึงเป็นร่างกฎหมายที่ยังไม่ตอบโจทย์ของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ดังนั้น สนช. ไม่ควรพิจารณาออกกฎหมายเช่นนี้ เพราะจะทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์ และเสนอให้ สนช. นำร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. ...ของ สคบ.  ที่มีเนื้อหาผ่านกระบวนการรับฟังจากผู้บริโภคทั่วประเทศมาพิจารณา07.01.2562 boon

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า แนวคิดการมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคหรือสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาตินั้น เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีตัวแทนระดับประเทศ เช่นเดียวกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยหรือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่มีสภาเดียว และทำหน้าที่เป็นตัวแทนของภาคธุรกิจ ซึ่งร่างกฎหมายการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ... ที่คณะกรรมการกฤษฏีกาเขียนนั้นเป็นการทำให้เกิดสภาองค์กรของผู้บริโภคที่ไม่เป็นทางการ มีหลายสภา เห็นได้จากวิธีการจัดตั้งที่ให้องค์กรผู้บริโภครวมตัวกันให้ได้ 150 องค์กร และต้องได้รับการยินยอมจากองค์กรผู้บริโภคทั้งหมดที่จดแจ้งสถานะไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง

“การรวมตัวกันให้ได้กึ่งหนึ่งจะทำได้ลำบากขึ้น เนื่องจากกฎหมายนี้เปิดช่องให้กลุ่มทุนธุรกิจที่ไม่เป็นนิติบุคคลเข้ามาตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคได้ หรือหากตั้งก็ทำให้มีการแทรกแซงจากองค์กรที่จัดตั้งโดยภาคธุรกิจ ไม่ได้เกิดสภาองค์กรของผู้บริโภคที่มีความเป็นอิสระ ทำงานเพื่อผู้บริโภคได้จริง ดังนั้นถ้ามีแล้วไม่ดี ไม่ต้องมีก็ได้” นางสาวบุญยืนกล่าว07.01.2562 cha

ภญ.ชโลม เกตุจินดา กรรมการ คอบช. เขตภาคใต้ กล่าวว่า การมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคหรือมีสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ จะเป็นปากเสียงให้กับผู้บริโภคที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ช่วยให้ผู้บริโภคเท่าทันในสินค้าบริการต่างๆ มีความซับซ้อนมากขึ้น ช่วยตรวจสอบการละเมิดสิทธิผู้บริโภคของรัฐและเอกชน รวมทั้งดำเนินงานเชิงรุก ผลักดันนโยบาย กฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เมื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. .. ที่ สคบ. จัดทำขึ้น ก็เห็นว่าเกิดประโยชน์กับผู้บริโภคมากกว่า เพราะวิธีจัดตั้งโดยการคัดเลือกกันเองขององค์กรผู้บริโภคทำให้มีเพียงสภาเดียว มีสำนักงานของสภาชัดเจน และให้อำนาจสภาในการช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างเต็มที่ ทำให้มีพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในการทำหน้าที่ได้ตามที่กฎหมายกำหนด07.01.2562 2

ทั้งนี้ คอบช. สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 222 องค์กร มีข้อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 3 ข้อ

1. ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติยุติการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ... เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่ไม่ตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดองค์กรที่ไม่มีความเป็นเอกภาพ และถูกแทรกแซงได้ง่าย กระบวนการจัดทำขาดการมีส่วนของภาคประชาชนอย่างแท้จริง

2. หากต้องพิจารณากฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติใช้ร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. ....ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลักในการจัดทำ เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และมีการรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวาง

3. ในการพิจารณาร่างกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 ต้องมีสัดส่วนของภาคประชาชนร่วมในการจัดทำกฎหมาย ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของคณะกรรมาธิการชุดที่พิจารณากฎหมายนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวแทนองค์กรผู้บริโภคเข้าไปร่วมให้ความเห็นในการจัดทำกฎหมาย

ในวันที่ 9 มกราคมนี้ เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป คอบช. และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะเดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านที่รัฐสภา เพื่อแสดงจุดยืนและเรียกร้องให้ สนช. ยุติการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ รวมทั้งมีข้อเสนอไปยังพรรคการเมืองต่างๆ ให้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 เพื่อประโยชน์ของประชาชน

 

เปรียบเทียบกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภค 2 ฉบับ

ร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรผู้บริโภค ฉบับ สคบ. (คลิกที่นี่) 

ร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค ที่ตรวจพิจารณาแล้ว ฉบับกฤษฏีกา (คลิกที่นี่) 

 

คอบช. ได้ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค ผลักดันให้เกิด “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภคมีตัวแทนที่เป็นหนึ่งเดียว คอยเป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้บริโภค เวลาที่รัฐจะออกนโยบายหรือกฎหมายต่างๆ ก็จะมีองค์กรนี้ตัวแทนเข้าไปช่วยรักษาสิทธิให้กับผู้บริโภคในฐานะตัวแทน ซึ่งเรื่องนี้เริ่มมีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาตรา 57 และต่อมาปี 2550 ก็ยังมีระบุไว้ในมาตรา 61 ซึ่งเขียนชัดเจนมากขึ้น แต่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 กลับมาเขียนในมาตรา 46 เรื่องการรวมตัวขององค์กรผู้บริโภคซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้ว จึงนับเป็นการเขียนกฎหมายที่ถอยหลังกว่าฉบับอื่นๆ

ร่วมติดตาม Facebook LIVE '222 องค์กร ค้านพิจารณา ร่างกฎหมายการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค' ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 

 

 

สอบถามเพิ่มเติม
นายโสภณ หนูรัตน์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
โทร : 02-248-3734 ถึง 37 หรือ 086-890-2400

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน