สัมภาษณ์พิเศษ - นักกฎหมาย ชี้กฎหมายผู้บริโภคต้องเกิด

สัมภาษณ์พิเศษ
อาจารย์จุมพล ชื่นจิตตศิริ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

อาจารย์จุมพล ชื่นจิตตศิริ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หนุนให้รัฐบาลนำร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเข้าสู่สภา  20 กันยายน 2554 นี้ เพื่อปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภคเนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ดีเพราะเกิดจากการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยแท้จริง เน้นงานเชิงรุกให้ทันต่อสถานการณ์เป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้เป็นสังคมล้มละลาย พร้อมให้สัมภาษณ์ต่อกรณีนี้ว่า

“ 14 ปีจากรัฐธรรมนูญปี 2540 จนมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 จากมาตรา 57 มาเป็นมาตรา 61 หน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเดิมโดยหน่วยงานรัฐคือ สคบ. ก็ยังคงอยู่ แต่โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มีความก้าวหน้ากว่านั้นคือ จะมีความเข้มข้นในการตรวจสอบการละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค

ซึ่งการไกล่เกลี่ยเป็นหน้าที่ของ สคบ.อยู่แล้ว องค์การอิสระต้องยืนอยู่ฝั่งผู้บริโภคเพื่อที่จะเป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้บริโภค  เรื่องสำคัญคือต้องอิสระโดยแท้จริง ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการ บทบาทหน้าที่ ที่สำคัญคือองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะต้องผลักดันให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วมให้มากที่สุด ประชาชนต้องมีส่วนร่วมที่จะให้เกิดพรบ.ฉบับนี้ และต้องปราศจากการแทรกแซง    การมีองค์การอิสระจะต้องแตกต่างจากการมีหน่วยงานของรัฐหรือสคบ. อีกบทบาทที่สำคัญคือ เน้นในเรื่องของวิชาการ การวิจัย การสร้างบทบาทของประชาชนให้มีส่วนร่วมกันให้มากขึ้น มีกระบวนการการรับฟังความเห็นของประชาชน  ซึ่งอันนี้จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนหรือผู้บริโภคได้”

 

พรบ.องค์การอิสระผู้บริโภคจะช่วยในเรื่องของการจัดการปัญหาผู้บริโภคได้ยังไง

อาจารย์จุมพล ได้กล่าวว่า “ ถ้ามีการให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องนี้มากขึ้นจะทำให้มีประโยชน์อย่างมากเพราะทุกวันนี้ประชาชนไม่มีความรู้  ถูกล่อลวงด้วยข้อมูลทางการตลาด กระบวนการตรงนี้ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชน  คิดว่าพรบ.ฉบับนี้เกิดขึ้นมาเพื่อกำกัดหรือแก้ไขจุดอ่อนที่เกิดขึ้นในอดีต พรบ.ฉบับนี้เริ่มมาดีเพราะทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและก็ต้องทำให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เราต้องการและต้องนำไปใช้ได้จริงเกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง สิ่งสำคัญคืออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการต้องชัดเจนถ้าไม่ชัดเจนจะมีการเกี่ยงงานกัน “

ถ้าประชนชาวบ้านมีความรู้ตรงนี้แล้ว พรบ.องค์การอิสระจะมีบทบาทอย่างไรบ้าง

“ องค์การอิสระเปรียบเสมือนถนนที่ทำให้ประชาชนผู้บริโภคที่มีปัญหาได้เดินตรงช่องในการจัดการแก้ไขปัญหาไม่ใช่เดินไม่ตรงทางอย่างในปัจจุบันนี้ “

สภาควรพิจารณาร่างกฎหมายนี้โดยเร็วหรือไม่

“ สส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ควรดำเนินการต่ออย่างยิ่ง เพราะว่าเป็นนโยบายหาเสียง เพียงแต่ว่าเมื่อเข้าไปแล้วมันอาจจะมีการแทรกแซงซึ่งอาจจะทำให้ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ตั้งแต่เริ่มต้น

ถ้าไม่เข้าสภาก็จะเป็นผลเสียมาก ประชาชนตั้งคำถามได้ว่าทำไมนโยบายรถคันแรกยังเร่งดำเนินการได้ ทำไมไม่เปลี่ยนการมีรถคันแรกเป็นปริญญาใบแรกของบ้านให้เรียนฟรี และมองว่าประเด็นนโยบายรถคันแรกน่าจะเกิดปัญหาผู้บริโภคที่ซ้ำซ้อน ซับซ้อนมากด้วย จะเป็นงานหนักสำหรับคนที่ทำงานบริโภคแน่นอน วันหนึ่งเกิดผ่อนไม่ไหว มีการเปลี่ยนมือแล้วจะเป็นยังไงเพราะรถซื้อขายกันได้โดยไม่ต้องโอนทะเบียนมีเพียงแค่สัญญาซื้อขายเจ้าของก็จะเป็นคนที่ซื้อแล้ว ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการฟ้องร้องกันมากขึ้น “ นักวิชาการกฎหมายภาคใต้กล่าวทิ้งท้าย  

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน