สั่งรวมร่างก.ม.พาณิชย์-ทีทีอาร์ เลิกตั้งกก.ค้าปลีกระดับจังหวัด

 ครม.เศรษฐกิจสั่ง “ทีทีอาร์-พาณิชย์-กฤษฎีกา” ร่วมถกร่างกฎหมายค้าปลีกฯ สั่งยึดร่างกระทรวงพาณิชย์เป็นหลัก แต่ให้ตัดคณะกรรมการระดับจังหวัด หวั่นเกิดความไม่โปร่งใส กรรมการมีผลประโยชน์ทับซ้อน


นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์
เปิดเผยว่า คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หรือ ครม.เศรษฐกิจ ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง พ.ศ.....ของประธานผู้แทนการค้าไทย พร้อมร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง พ.ศ..... ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่ง ครม.เศรษฐกิจมีมติให้กระทรวงพาณิชย์ นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หารือร่วมกันในการร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับมารวมเป็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดียวกัน ซึ่งเบื้องต้นร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับมีข้อแตกแต่งกัน 2-3 ประเด็น ซึ่งผู้เกี่ยวข้องจะหารือกันและนำเสนอหลักการให้ ครม.พิจารณาอย่างเร็วได้สัปดาห์หน้า

สำหรับประเด็นที่มีความแตกต่างกันนั้น เช่น 1.ร่างกฎหมายกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้มีคณะกรรมการค้าปลีกระดับจังหวัด แต่ร่างกฎหมายของทีทีอาร์ไม่มีกำหนดไว้ และมีการกำหนดตำแหน่งประธานคณะกรรมการค้าปลีกฯ แตกต่างกัน โดยร่างกระทรวงพาณิชย์ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ส่วนร่างกฎหมายของทีทีอาร์กำหนดให้ปลัดกระทรวงเป็นประธาน และ 2.ร่างกฎหมายของทีทีอาร์กำหนดให้มีหลักเกณฑ์การกำหนดพื้นที่ลงทุนของผู้ ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่และค้าปลีกขนาดใหญ่ไว้ในร่างกฎหมายเลย แต่ร่างกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้คณะกรรมการเป็นกำหนดประกาศหลักเกณฑ์ และวิธีการโดยให้ทำให้เสร็จใน 1 ปี

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
กล่าวว่า ครม.เศรษฐกิจเห็นว่าควรยึดร่างกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์เป็นหลัก แต่ให้ตัดเรื่องคณะกรรมการระดับจังหวัดออก พร้อมกลับไปปรับปรุงร่างและเสนอ ครม.ภายใน 1 เดือน

นายเกียรติ กล่าวว่า ที่ประชุมมีข้อตั้งสังเกตกรณีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด ที่กำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งอาจมีการกระทำทุจริตได้ เช่น กรณีกรรมการบางคนมีที่ดินและขายที่ดินให้ผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่ จากนั้นก็ให้ใบอนุญาตกับให้ผู้ประกอบการค้าปลีกฯ ลงทุน ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนได้ หรือมีการยกเคสบางพื้นที่ เช่น จ.ประจวบคีรีขันธ์ หากมีการเสนอจัดตั้งค้าปลีกฯในพื้นที่อ.ปราณบุรี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลตัวจังหวัดมาก จึงมีคำถามว่าคณะกรรมการจะรู้ได้อย่างไรว่าพื้นที่นั้น สมควรได้รับการอนุญาตให้ตั้งห้างค้าปลีกสมัยใหม่ฯ ได้



กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 03 ธันวาคม พ.ศ. 2552

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน