องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค… อีกนิดเดียวจะเป็นจริง(?)

เคยได้ยินหรือมีประสบการณ์ประมาณนี้กันไหมครับ…

ทางด่วนขึ้นราคาจาก 55 บาท เป็น 85 บาท หรือรัฐวิสาหกิจขึ้นราคาพลังงาน เรากลับทำอะไรไม่ได้ ตรวจสอบความเป็นเหตุเป็นผลของการขึ้นราคาก็ไม่ค่อยได้

ฟรีทีวีจอดำก็ต้องปล่อยให้ดำต่อไป เว้นแต่ต้อง “ซื้อกล่อง” มาติด

ถอยรถป้ายแดง ต้องซ่อมแล้วซ่อมอีก หน่วยราชการก็ไร้น้ำยาที่จะช่วยเหลือ

หากรถโดยสารสาธารณะที่นั่งไปเกิดอุบัติเหตุ กลับต้องไปฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายกันเอง เพราะรถโดยสารเหล่านั้นไม่ได้ถูกบังคับจากหน่วยราชการที่กำกับดูแลให้ต้อง ซื้อประกันภัยชั้น 1 แถมบางคันก็เป็น “รถตู้เถื่อน”

อาหารที่กินเข้าไปจะมีผลต่อสุขภาพหรือไม่ ก็ยากที่จะทราบได้ เพราะข้อความในฉลากมักจะกำกวม อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง

หรืออยากกินอาหารที่ปลอดการตัดต่อทางพันธุ กรรม (จีเอ็มโอ) หรือปลอดสารเคมีก็เลือกไม่ได้ เพราะไม่ได้มีระเบียบให้ผู้ผลิตต้องทำฉลากอาหารที่ชัดเจนเพื่อแจ้งผู้บริโภค

…สถานการณ์ข้างต้นน่าจะคลี่คลายไปได้มากโข เพราะคาดกันว่าเดือนกุมภาพันธ์นี้ สภาจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการร่วมสองสภามาเรียบร้อยแล้ว

หากสภาผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยมี “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และเป็นที่สองในอาเซียนรองจากสิงคโปร์

เอาเข้าจริงแล้ว การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีมานานกว่า 15 ปี นับจากรัฐธรรมนูญ 2540 (มาตรา 57) และรัฐธรรมนูญ 2550 (มาตรา 61) ซึ่งต่างก็บัญญัติให้มีการจัดตั้งองค์การอิสระขึ้น เพื่อตรวจสอบมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานต่างๆ เพื่อทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริง เข้าถึงการร้องเรียนที่เป็นธรรม และได้รับการเยียวยา

เหตุการณ์สำคัญที่ควรจารึกไว้ก็คือ ในที่สุดเมื่อ 6 ตุลาคม 2553 ที่ประชุม ส.ส.สมัยนายชัย ชิดชอบ มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งมี 7 ร่าง ทั้งร่างของ ครม. พรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน (ในขณะนั้น) และภาคประชาชน 11,230 คนที่ลงชื่อเสนอกฎหมาย

ระหว่างที่ร่างกฎหมายอยู่ที่การพิจารณาของ คณะกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภา รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภาเมื่อ 10 พฤษภาคม 2554 มีผลให้ร่างนี้ต้องตกไปโดยปริยาย แต่ ครม.ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีมติขอดึงร่างกฎหมายนี้กลับมาให้สภาพิจารณาต่อ โดยไม่ยอมปล่อยให้ตกไป

แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ และพรรคการเมืองต่างๆ ล้วนให้ความสำคัญต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดีว่านักการเมืองในช่วงหลังๆ เริ่มให้ความสำคัญต่อสิทธิผู้บริโภค ซึ่งก็คือสิทธิของคนทุกคน

ทีนี้หากจะถามว่า ในเมื่อเรามีหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคอยู่แล้ว เช่น สำนักงานอาหารและยา (อย.) สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมการค้าภายใน กรมการขนส่งทางบก ฯลฯ แต่ทำไมจึงต้องมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นมาอีก คำตอบมีดังนี้

ประการแรก องค์การอิสระเป็นหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ไม่ใช่หน่วยงานราชการที่ถูกกำกับโดยฝ่ายการเมือง (ที่บางทีอาจเกรงใจฝ่ายธุรกิจ) อีกทั้งกฎหมายองค์การอิสระบัญญัติให้รัฐจัดสรรเงินไม่น้อยกว่า 3 บาทต่อหัวประชากรต่อปี ให้องค์การอิสระฯใช้ไปทำงาน (เท่ากับ 3 บาท X 64 ล้านคน ตกราวๆ 192 ล้านบาท ขึ้นไปต่อปี) จึงทำให้มีเงินไปทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้ตามสมควร

การกำหนดว่ารัฐต้องจัดสรรอย่างน้อย 3 บาทต่อหัว ถือว่าเป็นการเขียนกฎหมายที่ก้าวหน้ามาก เพราะหากเขียนว่า “ให้รัฐจัดสรรเงินให้อย่างพอเพียงทุกปี” ก็อาจทำให้รัฐจ่ายเท่าไรก็ได้ตาม “ดุลพินิจ” ซึ่งอาจมีผลต่อความเป็นอิสระขององค์การได้

นอกจากนี้ ที่มาของกรรมการ 15 คน ก็จะมาจากการคัดเลือกกันเองของผู้บริโภคและมาจากกรรมการสรรหา ซึ่งจะปลอดจากฝ่ายราชการและการเมือง จึงทำให้องค์การอิสระ มีอิสระกว่าหน่วยราชการอื่นๆ ที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคมาโดยตลอด

ประการที่สอง ความเป็นอิสระขององค์การทำให้ตรวจสอบหน่วยงานของรัฐได้เต็มที่ เช่น ตรวจสอบหน่วยราชการว่าทำไมจึงยังปล่อยให้มีแร่ใยหินอยู่ในสินค้า (เช่นกระเบื้องมุงหลังคา) ทั้งๆ ที่หลายๆ ประเทศมีคำสั่งห้ามไปแล้ว หรือตรวจสอบการขึ้นราคาทางด่วน หรือการปรับราคาพลังงาน ว่าเป็นการขึ้นราคาที่สมเหตุสมผลหรือไม่ หรือเป็นการขึ้นราคาที่ไม่โปร่งใส เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์แก่คนบางกลุ่มบางพวก

ประการที่สาม องค์การอิสระมีอำนาจตามกฎหมายเปิดเผยรายชื่อสินค้าและบริการที่ทำให้ผู้ บริโภคเสียหาย เพื่อเตือนให้สาธารณะได้รับรู้ เช่น มีสมาชิกร้องเรียนหน่วยราชการตั้งแต่ปี 2552 ว่าฟิตเนสแห่งหนึ่งไม่ได้ให้บริการตามสัญญา แต่หน่วยราชการแห่งนั้นกลับไม่เคยเตือนประชาชน ทำให้มีผู้บริโภคไปสมัครเป็นสมาชิกรายใหม่ จนในที่สุดมีผู้เสียหายถึง 1.5 แสนคน ฯลฯ ซึ่งการออกมาเตือนจะช่วยยับยั้งการลุกลามของปัญหาได้

ประการที่สี่ องค์การอิสระจะทำงานแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (one stop service) ว่ากันว่าหน่วยราชการที่ทำงานด้านอาหารปลอดภัยมีถึง 13 หน่วยงานใน 11 กระทรวง ดังนั้น หากผู้บริโภคมีความต้องการ เช่น ต้องการให้มีฉลากอาหารที่ระบุว่าอาหารนั้นมีจีเอ็มโอ หรือต้องการทำฉลากอาหารให้อ่านได้ง่ายขึ้น เช่น หากอาหารมีน้ำตาลมาก หรือมีโซเดียมมาก ก็จะติด “สีแดง” บนฉลากเพื่อเตือนผู้บริโภค หรือกรณีขวดนมเด็กที่มีส่วนผสมของพลาสติกที่เป็นสารก่อมะเร็ง หรือกรณีมีสารเคมีตกค้างในผักผลไม้เนื้อสัตว์ ฯลฯ องค์การอิสระฯก็จะมีความเห็นทางวิชาการเพื่อผลักดันหน่วยราชการต่างๆ ให้มีมาตรการบังคับฝ่ายธุรกิจให้ทำฉลากเตือนตามที่ผู้บริโภคต้องการ

หากหน่วยราชการเหล่านั้นไม่ยอมทำตามความ เห็นขององค์การอิสระฯ ก็ต้องแถลงเหตุผลต่อประชาชนว่าทำไมจึงทำไม่ได้ เท่ากับทำให้หน่วยราชการอยู่ภายใต้อำนาจของประชาชน จะทำงานเช้าชามเย็นชาม หรือให้อำนาจเงินอยู่เหนือสาธารณะไม่ได้อีกต่อไป

มิฉะนั้น หากเข้าสู่อาเซียนแล้วแต่งานคุ้มครองผู้บริโภคยัง “ประสานงา” และอ่อนแออย่างทุกวันนี้ ไทยก็จะกลายเป็นตลาดที่รองรับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพอย่างแน่นอน

ประการที่ห้า องค์การอิสระสามารถฟ้องคดีสาธารณะแทนผู้บริโภคได้ โดยร้องผ่านอัยการสูงสุด เช่น ผู้บริโภคมีเงินเหลือในโทรศัพท์ 10 บาท แต่ถูกริบเพราะบัตรเติมเงินหมดอายุ ทั้งๆ ที่ระเบียบกำหนดไว้ว่าห้ามกำหนดวันหมดอายุ มิฉะนั้นจะต้องชดเชยให้ผู้บริโภค 5 เท่าของเงินที่ริบไป กรณีเช่นนี้ผู้บริโภคคงไม่อยากเสียเวลาไปฟ้องศาลเพื่อเรียกร้องเงิน 50 บาท (5 เท่าของ 10 บาท) แต่องค์การอิสระฯสามารถฟ้องคดีแทนผู้บริโภคทั้งหมดที่ถูกริบเงินได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ให้บริการต้องจ่ายเงินค่าปรับให้ผู้บริโภคทุกคน และคงไม่กล้าฝ่าฝืนระเบียบเรื่องห้ามกำหนดวันหมดอายุในบัตรเติมเงินอีก

ประการสุดท้าย สิ่งที่หน่วยราชการที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคไม่ค่อยทำ แต่องค์การอิสระมีหน้าที่ต้องทำ คือสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภค เช่น ส่งเสริมการรวมตัวกันของผู้บริโภค ในลักษณะที่ฝ่ายธุรกิจทำมาก่อน อาทิ การรวมตัวเป็นหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ฯลฯ ผู้บริโภคจะได้เข้มแข็ง สามารถถ่วงดุลกับเอกชนได้

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ คาดว่าสภาจะมีการผ่านร่าง พ.ร.บ.ในต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ดังนั้น 15 ปีที่รอคอยกันมา จึงใกล้จะเป็นจริงแล้ว

ข้อมูลจาก มติชน (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน