ที่ประชุมมีมติเห็นชอบสนับสนุนงบประมาณ ในการดำเนินการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจำนวน 3 บาทต่อหัวประชากรเช่นเดียวกับร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร หลังอภิปรายกลับไปกลับมา จนต้องลงมติโหวตพร้อมเดินหน้าพิจารณาต่อวันที่ 10 ต.ค. นี้ ที่ห้องประชุม 3701 อาคารรัฐสภา 3 เวลา 09.30 น. เชิญผู้สื่อข่าวเข้าร่วมสังเกตการณ์
การประชุมกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณา ร่าง กฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ... เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (3 ตุลาคม) มีนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมาธิการ
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันห์องค์กรผู้บริโภคและผู้แทนองค์กรผู้บริโภคอีก 7 ท่าน ขอเข้าร่วมสังเกตการในการพิจารณากฎหมายอย่างใกล้ชิด หลังพบว่า กรรมาธิการสัดส่วนรัฐบาลจ้องรื้อกฏหมายทั้งฉบับ
“เราหวังว่ากรรมาธิการร่วมจะไม่แก้ไขจนไม่เห็นหน้าเห็นตาของกฎหมายฉบับเดิม เพราะหากมีกฎหมายแต่ไม่มีความเป็นอิสระหรือไม่ให้ทำอะไรเลย องค์กรนี้ก็จะไม่มีประโยชน์กับประชาชน ที่สำคัญองค์กรนี้จะต้องทำหน้าที่สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภคในการตรวจสอบผู้ประกอบการได้” นางสาวบุญยืนกล่าว
นางสาวรสนา โตสิตระกูล หนึ่งในกรรมาธิการ ร่วมอภิปรายว่า อยากให้กรรมาธิการประชุมในฐานะตัวแทนของแต่ละสภา ควรเคารพสิ่งที่ได้พิจารณาและผ่านมติของแต่ละสภา ไม่ใช่ถกเถียงในฐานะเสียงข้างน้อย สภาควรรับผิดชอบต่อประชาชน และที่สำคัญต้องสนับสนุนกฎหมายที่ให้อำนาจภาคประชาชน
ขณะที่นางสาวสารี อ๋องสมหวัง หนึ่งในกรรมาธิการร่วม ให้ความเห็นว่า “แม้แต่หน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานอัยการสูงสุดที่เคยให้ความเห็นในการทำกฎหมาย ว่า กรรมการควรส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ แต่วันนี้กลับให้ข้อมูลว่าถึงแม้กรรมการจะเป็นผู้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดก็อาจจะขัดรัฐธรรมนูญหน่วยงานของรัฐควรมีความคงเส้นคงวาในการให้ความเห็นในการจัดทำกฎหมายของประเทศ”
ท้ายที่สุดที่ประชุมจึงมีมติให้พิจารณาในประเด็นที่เห็นต่างจของสองสภา เรื่องงบประมาณต่อหัวประชากร ในการดำเนินการขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีการแก้ไขในชั้นวุฒิสภา เป็น5 บาท จากชั้นสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบ 3 บาท ที่ประชุมกรรมาธิการร่วมเห็นชอบ กับจำนวน 3 บาทต่อหัวประชากร
ทั้งนี้ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ได้สงวนคำแปรญัตติในประเด็นที่เห็นต่างเรื่องงบประมาณว่า ไม่ควรกำหนดตัวเลขไว้ในกฎหมาย และมีกรรมาธิการอีก 6 ท่าน สงวนคำแปรญัตติในประเด็นเดียวกัน
หลังจากนั้นที่ประชุมได้เดินหน้าพิจารณากฎหมายต่อใน มาตรา 8 (5) วรรคสุดท้าย พิจารณาคำว่า ”อาจก่อให้เกิดการขัดหรือแย้งวัตถุประสงค์ขององค์กร” โดยเปลี่ยนคำว่า “อาจก่อ” เป็น “ส่อก่อให้เกิด”
โดยมอบหมายให้กฤษฎีกาไปกำหนดข้อความให้ชัดเจน นำมาเสนอในการประชุมครั้งต่อไป วันพุธที่ 10 ตุลาคม 2555 ห้องประชุม 3711 อาคารรัฐสภา 3 เวลา 09.30 น. และปิดการประชุม