องค์การอิระผู้บริโภค ยกระดับแก้ปัญหารถยนต์ไม่ได้มาตรฐานได้

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภครุกหน้า บทบาทองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามมาตรา 61 เสนอทางออกเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ใช้รถยนต์ในเมืองไทย

 

 

วันนี้ (วันที่ 19 กันยายน 2554) เวลา 10.00-12.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ดร.ไพบูลย์  ช่วงทองตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม  ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค นายเฉลิมพงษ์  กลับดีหัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค นายทรงพล  พวงทองตัวแทนเครือข่ายผู้เสียหายจากการใช้รถยนต์ ร่วมเสวนา “องค์การอิระผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง ต่อปัญหาคุณภาพมาตรฐานรถยนต์ไทย” เพื่อหาข้อเสนอต่อการยกระดับ คุณภาพมาตรฐานของปัญหาการใช้รถยนต์ในเมืองไทยให้เทียบเท่ากับต่างประเทศ พร้อมเปิดเผยสถิติเรื่องร้องเรียน และรายชื่อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยอดแย่ที่มีปัญหาร้องเรียนมากที่สุด 3 ปี ย้อนหลัง พร้อมวางแนวทางป้องกัน เฝ้าระวัง และการเยียวยาแก้ไขปัญหา อุดรอยรั่วต่อผลกระทบของแผนนโยบาย “รถคันแรก” รัฐบาลยิ่งลักษณ์

นางสาวสารี เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงเดือนกันยายน 2554 ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพรถยนต์อย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า มีเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 47 กรณี ซึ่งมีสภาพปัญหาแตกต่างกันออกไป เช่น ระบบเบรค เครื่องยนต์ดังกลางครันขณะขับขี่ เกียร์มีปัญหา ระบบไฟฟ้าภายในตัวรถไม่ทำงาน ประเภทรถยนต์ที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ รถส่วนบุคคลเก๋ง และล่าสุดที่ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯได้รับร้องเรียนคือ รถตู้โดยสารสาธารณะจำนวน 21 ราย รวมมูลค่าความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับจากรถยนต์ไม่ได้มาตรฐานกว่า 40 ล้านบาท

สำหรับบริษัทที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคสูงที่สุดคือ บริษัทโตโยต้า เชฟโรเลต มิตซูบิชิ ฮอนด้า และ เมอร์ซิเดสเบนซ์ ตามลำดับและล่าสุดที่เป็นกรณีแบบกลุ่มถึง 21 กรณีคือ ยี่ห้อโฟตอน รถยนต์ส่วนใหญ่ที่พบปัญหา เป็นรถใหม่ป้ายแดง หรือรถมือหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นข้อสรุปเบื้องต้นว่า รถที่มีปัญหาไม่จำเป็นต้องเป็นรถมือสองเสมอไป สอดคล้องกับปัจจุบันที่ทางรัฐบาลกำลังส่งเสริม นโยบายการมีรถครั้งแรก ซึ่งผู้บริโภคจะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยควรเลือกซื้อกับผู้ผลิตที่มีรับผิดชอบและพร้อมดูแลผู้บริโภคภายการหลังการขาย ไม่บ่ายเบี่ยงหรือปฏิเสธความรับผิดชอบ ปล่อยให้เป็นภาระของผู้บริโภคเองในการจัดการแก้ไขปัญหา

“ปัจจุบันหากรถยนต์มีปัญหาทางผู้ประกอบธุรกิจจะรับผิดชอบโดยการซ่อมแซมสินค้าที่ชำรุดบกพร่องนั้นไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการเปลี่ยนสินค้าใหม่ให้กับผู้บริโภค ดังนั้นเครือข่ายผู้บริโภคจึงขอเสนอทางออกต่อเรื่องนี้คือ หากพบว่าสินค้ามีความชำรุดบกพร่องและไม่อาจซ่อมแซมแก้ไขให้กลับคืนสภาพใช้งานตามปกติ หรือแม้แต่แก้ไขแล้ว หากนำไปใช้งานอาจเกิดอันตรายแก่ชีวิต ขอให้ผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนสินค้าใหม่แทนการซ่อมแซม โดยทันที”

นางสาวสารี ยังกล่าวต่อไปว่า  สำหรับสินค้าที่ยังไม่มีการจัดจำหน่ายหรือจำหน่ายไปแล้วและยังคงค้างอยู่ในตลาด หากข้อเท็จจริงปรากฎว่าจะก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภค หรืออาจจะก่อให้เกิดความเสียหายอื่นใดเพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีมาตรฐาน ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีการแก้ไข โดยเรียกคืนสินค้ากลับมาตรวจสอบทันที เฉกเช่นเดียวกับการปฏิบัติในต่างประเทศ เพราะคนไทยไม่ใช่พลเมืองชั้นสอง การปฏิบัติหรือการแสดงความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจจึงควรใช้มาตรฐานดุจเดียวกัน

นายทรงพล  พวงทอง ตัวแทนเครือข่ายผู้เสียหายจากการใช้รถยนต์ เปิดเผยว่า ตนเองเป็นผู้บริโภคที้ได้รับความเดือดร้อนจากการซื้อรถตู้ป้ายแดง ที่นำเข้าจากประเทศจีนเพื่อนำมาใช้บริการเป็นรถสาธารณะรับส่งผู้โดยสาร ใช้งานได้ไม่ถึงเดือนพบว่า เกิดความชำรุดบกพร่องนับแต่ใช้งาน คือขณะขับรับส่งผู้โดยสารเครื่องยนต์ดับกะทันหัน เครื่องยนต์ไม่มีกำลัง ระบบความร้อน ระบบแอร์ รวมถึงระบบเครื่องยนต์ มีปัญหาไม่ทำงานบ่อยครั้ง รวมทั้งระบบโครงสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรงสังเกตจากช่วงหน้าฝน มักมีน้ำหยดผ่านหลังคาเข้ามาในรถสร้างความเดือดร้อน รำคาญให้กับผู้โดยสารเป็นประจำ   รวมทั้งปัญหาด้านการบริการซึ่งก่อนเช่าซื้อทางบริษัทฯได้โฆษณาว่า  จะมีศูนย์บริการหรืออู่ให้การบริการซ่อมอยู่ทั่วประเทศ  แต่ในความเป็นจริงกลับมี  1 แห่ง และไม่มีอะไหล่ของบริษัทโฟตอนโดยตรงเป็นอู่ซ่อมรถทั่วไป

ดังนั้นผู้ร้องแต่ละรายจึงต้องแบกรับภาระค่าซ่อมรถ ค่างวดเช่าซื้อรถ โดยมิได้ใช้ประโยชน์จากตัวรถเต็มที่ บางรายต้องจอดทิ้งไว้ที่อู่เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าซ่อม ภายหลังจากพบปัญหาผู้ร้องได้ติดต่อ สอบถามไปยังผู้ให้เช่าซื้อคือ บริษัทเงินทุนกรุงเทพธนาทร จำกัด(มหาชน) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อขอคืนรถยนต์ตู้โดยสารคันดังกล่าวแต่ได้รับการปฏิเสธโดยต่อมาทางผู้ให้เช่าซื้อได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายข้อหาผิดสัญญาเช่าซื้อกับผู้ร้องกว่า 30 ราย   มีเพียงบางส่วนได้ทำการคืนรถให้กับทางผู้ให้เช่าซื้อก่อนที่จะมีการฟ้องร้องดำเนินคดี

นายเฉลิมพงษ์  กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ชี้แจงว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาทางกฎหมายผู้บริโภคสามารถใช้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ ส่วนในด้านการอนุญาตกับผู้ประกอบการเพื่อนำเข้าสินค้าหากพบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องละเลยการตรวจสอบ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก่อนจัดจำหน่ายก็จะใช้กระบวนการทางศาลปกครองเพื่อฟ้องร้องกับหน่วยงานนั้นๆต่อไป

ดร.ไพบูลย์  ช่วงทอง นักวิชาการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคได้ให้ข้อมูลว่า กฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคในเมืองไทยใช้ได้จริง แต่ผู้บังคับใช้กฎหมายเองที่ขาดความเข้มแข็ง และยังไม่มีหน่วยงานหรือองค์การอิสระที่ปราศจากการแทรกแซงของหน่วยงานรัฐ เมื่อต้องพิสูจน์ความเสียหายผู้บริโภคต้องแบกรับภาระเอง ดังนั้นการมีองค์การอิสระผู้บริโภคจึงเป็นทางออกสำหรับผู้บริโภค ในการสนับสนุนนักวิชาการและการให้ความเห็นต่อมาตรการกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภครวมทั้งการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเพื่อเผยแพร่ข้อเท็จจริงให้กับผู้บริโภคในการพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้วยตนเอง

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน