ทุกปีวันที่ 15 มีนาคม จะมีการจัดงานวันคุ้มครองผู้บริโภคสากล ในประเด็นที่แตกต่างกันไป ทำให้เราเห็นการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยมีการพัฒนาและขยายบทบาทไปอย่างกว้างขวาง
มีการทำงานทั้งในเชิงนโยบาย เช่น ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.... การร่างแผนปฏิบัติการเข้าถึงยาตามมติสมัชชาสุขภาพเรื่อง ยุทธศาสตร์การเข้าถึงยาถ้วนหน้าของประชากรไทย การพัฒนาตัวชี้วัดการคุ้มครองผู้บริโภคระดับชาติ และการจัดการความรู้ในเชิงประเด็น เช่น การจัดการปัญหาน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ การจัดการอันตรายจากแร่ใยหินฯลฯการพัฒนาเครือข่ายวิชาการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคต่างๆ ในรูปแบบวิทยาลัยผู้บริโภค โรงเรียนอสม. คุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนการพัฒนาเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ทุกระดับ เพื่อเป็นการพัฒนาวิชาการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และพัฒนาไปสู่การทำงานคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกันของภาคีต่างๆ
ดังนั้น แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์กรร่วมจัดงานภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เห็นควรจัดประชุมวิชาการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นในวันสิทธิผู้บริโภคสากล (15 มีนาคม ของทุกปี) เพื่อแลกเปลี่ยนทางวิชาการระหว่างผู้ที่ทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ และเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและร่วมกำหนดทิศทางในการพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป ในวันที่ 14-15 มีนาคม 2554 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพมหานคร
กำหนดการงานวันคุ้มครองผู้บริโภคดาวน์โหลดด้านล่างค่ะ
การคุ้มครองผู้บริโภคในระดับสากลได้มีการรับรองสิทธิผู้บริโภคไว้โดย สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers Internationnal หรือ CI ) ซึ่งมีความครอบคลุมในการคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่าสิทธิผู้บริโภคของไทย ซึ่งได้รับรองสิทธิผู้บริโภคสากลไว้ 8 ข้อ คือ
สิทธิผู้บริโภคสากล
- สิทธิ ที่จะเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน ( The right to basic need ) เช่น ยา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ การศึกษาและสุขาภิบาล
- สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ ( The right to safety)
- สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนที่จำเป็นเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ(The right to be information )
- สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการได้อย่างอิสระ ( The right to choose )
- สิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม ( The right to be heard )
- สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและค่าชดเชยความเสียหาย ( The right to redress)
- สิทธิที่จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการบริโภค ( The right to consumer education )
- สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย ( The right to healthy environment )