มพบ.ลงพื้นที่สนับสนุนศักยภาพศูนย์ฯ จ.อ่างทอง-สิงห์บุรี

มพบ. ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน ภาคกลาง ขณะที่ผู้แทนศูนย์ฯ ระบุถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวกับการไม่ได้รับสิทธิบริการจากโรงพยาบาลตามหลักประกันสุขภาพประชาชน

Consumerthai - วานนี้ (30 พ.ย.) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมคณะ เดินทางเยือนศูนย์ฯ จังหวัดสิงห์บุรี และศูนย์ฯ จังหวัดอ่างทอง รับฟังการดำเนินงานศูนย์ฯ ถึงจุดแข็งจุดอ่อน พร้อมรับฟังปัญหาในการดำเนินงานศูนย์ฯ แต่ละจังหวัด เพื่อหาวิธีหนุนเสริมศักยภาพการดำเนินงานต่อไป

สำหรับศูนย์ฯ จังหวัดสิงห์บุรี นายบุญธรรม กันเกตุ ผู้ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน จังหวัดสิงห์บุรี กล่าวถึงปัญหาส่วนใหญ่ว่าเป็นเรื่องการให้บริการของเจ้าหน้าที่ แพทย์ และพยาบาลในสถานพยาบาล เนื่องจากมีบริการที่ล่าช้า ไม่ได้รับการดูแลที่ดี รวมทั้งบางครั้งพบปัญหาแพทย์วินิจฉัยโรคผิดพลาด จึงทำให้คนส่วนใหญ่หันไปใช้บริการคลินิกแทน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิหลักประกันสุขภาพ แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่เล็ก จึงสามารถจัดการดูแลแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ โดยการจัดกิจกรรมเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้คนในพื้นที่ระดับตำบลได้ทั่วถึง

ขณะที่นางสาวบุญยืน ศิริธรรม กลไกภาคตะวันตก ผู้ร่วมเดินทางกับคณะ กล่าวเสนอถึงแนวทางแก้ไขปัญหาการให้บริการของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลว่า คนทำงานเครือข่ายจะต้องเข้าไปใช้บริการ ร่วมสังเกตการณ์ รับรู้สภาพปัญหาอย่างแท้จริง และเก็บรวบรวมข้อมูลเสนอต่อผู้อำนวยการโรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และคณะกรรมการการควบคุม เพื่อช่วยพัฒนาระบบประกันให้เป็นที่พึ่งของประชาชนได้

“ในฐานะที่เรามีประกันชีวิต มีหลักประกันสุขภาพ จึงต้องผลักดันให้เกิดการบริการที่ดี มีคุณภาพ มาตรฐาน แต่ไม่ใช่ทะเลาะกับเจ้าหน้าที่” นางสาวบุญยืน กล่าว

ส่วนศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จังหวัดอ่างทองพบปัญหาการให้บริการของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเช่นเดียวกัน นางสาวนาฏธิชา ชั้วทอง ผู้ประสานงานเครือข่าย กล่าวว่า ปัญหาที่พบคือ ส่วนใหญ่ผู้ให้การตรวจรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลนั้น ไม่ใช่แพทย์ แต่เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมถึงปัญหาการประสานงานกับท้องถิ่นที่ไม่ชัดเจน ทั้งนี้ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยทำงานร่วมกับเครือข่าย ประสานงานกับสื่อวิทยุชุมชน พัฒนาผู้นำเด็กและเยาวชนร่วมกับผู้ใหญ่

ทั้งนี้เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวทิ้งท้ายถึงแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ทั้ง 2 จังหวัดว่า การดำเนินการของศูนย์ฯ นั้นไม่ควรทำงานเฉพาะเรื่อง แต่ต้องให้ครอบคลุมทุกปัญหาที่ประชาชนเดือดร้อน และต้องเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาล นอกจากนี้ควรตั้งเป้าหมายระยะยาวในการดำเนินงาน รวมถึงการตั้งชื่อศูนย์นั้นจะต้องกว้าง ให้สามารถครอบคลุมชื่อของศูนย์หรือแผนงานต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นมาอีกได้

ผู้สื่อข่าว - พนิดา ถุงปัญญา

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน