คณะอนุกรรมการ องค์การอิสระผู้บริโภค เรียกร้องให้มีกฎหมายคุ้มครองคนซื้อรถยนต์ใหม่โดยเร็ว
องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชนเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในสินค้าใหม่ ซึ่งอยู่ในการพิจารณาของ สภาปฏิรูปแห่งชาติโดยเร็ว
22 เม.ย. 58 คณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คบอช.) จัดเวทีการคุ้มครองผู้บริโภค กรณี สินค้าประเภทรถยนต์ชำรุดบกพร่อง ณ โรงแรม เอบีน่า เฮ้าส์ ซอยวิภาวดี 64 ในการจัดงานครั้งนี้เพื่อนำเสนอสถานการณ์ปัญหากรณี สินค้าประเภทรถยนต์ชำรุดบกพร่อง เพื่อหาทางออกและเสนอนโยบายในการคุ้มครองผู้บริโภค
ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง ประธานคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป คอบช. กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหากรณี การซื้อขายรถยนต์ที่มีการร้องเรียนผ่านทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่าผู้บริโภคยังมีปัญหาในเรื่องรถยนต์เป็นจำนวนมาก จากสถิติตั้งแต่ปี 2553 - 2558 มีจำนวน 196 ราย ปัญหาที่พบมีทั้งเกิดเขม่าควันเข้าในห้องผู้โดยสาร เครื่องปรับอากาศมีกลิ่นเหม็นไม่ทราบสาเหตุ อุปกรณ์ติดตั้งไม่ครบ เครื่องส่งน้ำมันหาย รถป้ายแดงบู๊ชดุมล้อหลุด รถเสียงดังทั้งคันไม่ทราบสาเหตุ รถติดเอ็นจีวีไม่ได้มาตรฐานมีควันขาวน่าสงสัย
"ปัญหาสำคัญอีกอย่างที่พบคือการผิดสัญญาซื้อรถยนต์ใหม่ แต่กลับได้รถยนต์ที่จดทะเบียนมาแล้ว รวมถึงการไม่ส่งมอบรถยนต์ตามสัญญาจอง ฯลฯ ซึ่งจากปัญหาเหล่านี้ เกินวิสัยของผู้บริโภคที่จะมองเห็นถึงความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ได้โดยง่ายในขณะทำสัญญา เมื่อได้รถมาแล้วเกิดปัญหาที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายซ่อมแซมบ่อยครั้ง และมีความเสี่ยงต่อชีวิตจากการใช้รถยนต์ที่ไม่มีสภาพพร้อมใช้งาน ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการรถยนต์ ผู้บริโภคต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่าย โดยไม่ได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม ทำให้ผู้บริโภคตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะได้ชำระเงินค่ารถยนต์ไปแล้ว แต่กลับได้รถที่ไม่มีคุณภาพ จึงควรมีการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องนี้ และเพื่อให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมาในขณะนี้ ซึ่งมีการรองรับสิทธิผู้บริโภคและมาตรการเยียวยาผู้บริโภคเอาไว้ในมาตรา 60 เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคและมีมาตรการเยียวยา กรณีผู้ประกอบธุรกิจส่งมอบสินค้าที่มีความชำรุดบกพร่อง จึงขอให้มีการออกกฎหมายความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในสินค้า ซึ่งอยู่ในการพิจารณาของ สภาปฏิรูปแห่งชาติโดยเร็ว " ดร.ไพบูลย์กล่าว
นางสาวสุทธาพร มฤคพิทักษ์ ตัวแทนผู้เสียหาย กล่าวว่า ผู้บริโภคที่ได้รับเสียหายจากความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ได้รวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องให้บริษัทรถยนต์รับผิดชอบแก้ไขซ่อมแซมให้รถยนต์ใช้งานได้ตามปกติ โดยเฉพาะระบบเกียร์กระตุก ความเร็วตกกะทันหัน ฯลฯ แม้บริษัทฯ ดำเนินการซ่อมแซมตามที่แจ้งหลายครั้ง แต่เมื่อนำรถยนต์มาใช้งานยังพบอาการผิดปกติเหมือนเดิม จนได้เข้าร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จนนำไปสู่กระบวนการทดสอบของสคบ. พบว่ารถยนต์มีปัญหาจริงตามที่แจ้ง แต่บริษัทฯ รับซื้อรถคืนเพียง 3 คัน จากทั้งหมด 12 คัน ผู้เสียหายอีก 7 คน จึงได้นำไปสู่การฟ้องคดีต่อไป
"รถแต่ละคันมีปัญหาไม่ต่างกันเท่าไหร่ คือระบบเกียร์กระตุกกระชาก ความเร็วตก เคยมีรถวิ่งบนโทลเวย์ ข้างหน้าเป็นรถสิบล้อ ข้างหลังเป็นรถสิบล้อ แต่ความเร็วตกระทันหัน ดีที่ยังรอดมาได้ นอกจากนี้มีคนซื้อรถป้ายแดงวิ่งออกมาเพียง 3 กิโลเมตร รถค้างอยู่กลางสะพาน และพบอาการอีกภายในไม่กี่วัน เมื่อนำไปเช็คที่ศูนย์บอกว่ารถไม่เป็นอะไร " ตัวแทนผู้เสียหายกล่าว
นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงปัญหาอุปสรรคในการดำเนินคดีรถยนต์ชำรุดบกพร่องว่า คดีนี้ส่วนใหญ่เป็นการซื้อกับไฟแนนซ์ ผู้เสียหายจะไม่สามารถเรียกร้องกับบริษัทรถยนต์ได้โดยตรง จึงต้องใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค เพราะสามารถเรียกผู้ประกอบการเจ้าของสินค้าหรือผู้ผลิตมาร่วมเป็นจำเลยร่วมได้ และผู้ประกอบการต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ถูกผิดอีกด้วย ในส่วนการส่งคืนสินค้าที่เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน พบปัญหาว่าต้องหากค่าเสื่อมอย่างไร
"ปัญหาต่างๆ ในการฟ้องคดีมีมากมาย แม้จะมีการทดสอบโดย สคบ.แต่ไม่ได้บอกว่ามันชำรุดบกพร่อง จะมีอันตรายต่อชีวิตผู้ใช้ไหม เราต้องหานักวิชาการมาวิจัย แต่ไม่สามารถนำนักวิชาการมาเบิกความได้" หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว
นายเชิดวุฒิ สินพิมลบูรณ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงกฎหมายในเมืองไทยนั้นยังไม่สร้างความเป็นธรรมให้กับผู้เสียหายเท่าที่ควร เมื่อพิจารณากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในปัจจุบัน พบว่า การใช้และการตีความกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องของไทย ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้ชัดเจนและทันสมัย ซึ่งขณะนี้ได้มีกฎหมายเลมอนลอว์ซึ่งจะสามารถช่วยผู้เสียหายได้จริง ทำให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายทราบถึงสิทธิและหน้าที่ของตนได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้คู่สัญญาสามารถปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาได้โดยสะดวก
"ขณะนี้มีการยกร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องในสินค้าใหม่ ที่มุ่งคุ้มครองผู้บริโภคที่ซื้อสินค้ามือหนึ่งให้รับความคุ้มครองกรณีที่สินค้าเกิดการชำรุดบกพร่อง ซึ่งหากเกิดขึ้นจะมีประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างมาก เพราะมีการกำหนดชัดเจว่าต้องซ่อมกี่ครั้งจึงสามารถเปลี่ยนสินค้าได้ ในกรณีการบอกเลิกสัญญา เงินต้องคืนเต็มก่อนแล้วค่อยหักตามสภาพรถ คิดเหมาไม่ได้ ในการซื้อของใหม่หากเสียภายใน 6 เดือน ให้ถือว่าเสียตั้งแต่วันแรกที่ซื้อ นี้คือกรณีซื้อเงินสด ส่วนกรณีซื้อเงินผ่อน กฎหมายใหม่กำหนดให้โอนสิทธิร้องเรียนทั้งหมดให้กับผู้บริโภคสามารถเรียกร้องกับผู้ประกอบการได้เลย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภคมากขึ้น" นายเชิดวุฒิ กล่าว
นายฤทธิรอน ทวีทรัพย์ นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เผยว่า แม้จะมีกฎหมายความรับผิดในสินค้าไม่ปลอดภัย (PL Law) แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยเหลือผู้บริโภคได้จริง เพราะ PL Law ระบุชัดว่าต้องเกิดความเสียหายต่อร่างกาย อีกทั้งผู้บริโภคเองก็ไม่สามารถที่จะต่อรองราคากับผู้ประกอบการได้จริง จากกรณีปัญหาที่เป็นข้อพิพาทกรณีรถยนต์ชำรุดบกพร่องส่งผลให้ สคบ.เดินหน้าทำงานเชิงป้องกันโดยขอให้สภาอุตสาหกรรมแจ้งที่มาของชิ้นส่วนหรืออะไหล่ของสินค้า หากไม่ให้ความร่วมมือคงต้องหามาตรฐานทางกฎหมายต่อไป
"สคบ.ได้ขอความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมว่า หากซื้อรถยี่ห้อนี้บอกได้หรือไม่ว่านำเข้าจากที่ไหน จะได้กำหนดได้ถูกว่าจะเลือกซื้อยี่ห้อนี้ได้ราคาเท่าไหร่ หากนักวิจัยทราบจะได้รู้ว่าชิ้นส่วนนั้นนำไปใส่ในรถยี่ห้อไหนอีก แต่สภาอุตสาหกรรมฯ แจ้งว่าหากทำอย่างนี้ก็จะอยู่ไม่ได้ เราอาจต้องใช้กฎหมายเปิดเผยข้อมูล ซึ่งเขาก็อ้าง พรบ.ความลับทางการค้า ถ้าเรื่องเมลอนลอว์ผมก็เห็นด้วยส่วนหนึ่ง ในเรื่องมาตรฐานรถยนต์มีแค่ไหนก็ไม่สามารถเปิดให้ทราบได้ หน่วยงานไหนกำหนดมาตรฐาน หน่วยงานรัฐรู้ แต่ก็ต่างคนต่างทำ เรื่องการฟ้องคดีแบบกลุ่มทำได้ ซึ่งมีผลถึงคนอื่นที่มีปัญหาในกลุ่ม ในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อีกอย่างคือปัจจัยทางสังคมคือความเชื่อ เชื่อเรื่องคำพรรณนา อยู่ที่เราจะสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนได้แค่ไหน" นายฤทธิรอน กล่าว