มีแล้วไม่ดี ไม่มีดีกว่า! 222 องค์กร คัดค้านร่างกฎหมายการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค

news laws 070119

คอบช. และสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ร่วมกับ 222 องค์กร คัดค้านการพิจารณาร่างกฎหมายการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมยื่น 3 ข้อเสนอต่อ สนช. 

อ่านต่อ

พิมพ์ อีเมล

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอทางออกเร่งให้รัฐออกมาตรการสร้างความปลอดภัยกับคนข้ามถนนบนทางม้าลายในไทยโดยทันที

ภาพข่าวทางออกทางม้าลายในไทย 01

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเสนอให้รัฐทำสัญญาณไฟทุกจุดที่มีทางม้าลาย ออกมาตรการให้รถชะลอและหยุดให้คนข้ามถนนก่อน ในระยะ 100 ม. โดยทันที พร้อมปรับบทกำหนดโทษให้สูงขึ้น ด้านผอ.วิจัยด้านนโยบายการขนส่งฯ TDRI ชี้กฎหมายกำหนดความเร็วการขับขี่ในเขตเมืองสูง ควรปรับลดความเร็ว ออกแบบถนนให้ใช้ความเร็วต่ำ และบังคับใช้กฎหมายจริงจัง

          จากกรณีที่เกิดอุบัติเหตุตำรวจขับรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ชนแพทย์หญิงเสียชีวิต ในขณะเดินข้ามถนนบนทางม้าลายหน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท กลายเป็นประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความปลอดภัยของการข้ามถนนบนทางม้าลายกันอย่างแพร่หลาย และเกิดความต้องการขับเคลื่อนให้มีการแก้ไขกฎหมายมาตรการ เพื่อให้การข้ามถนนบนทางม้าลายมีความปลอดภัยมากขึ้น

          วันที่ 26 มกราคม 2565 นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขอเสนอให้รัฐแก้ไขปัญหาเรื่องการข้ามถนนบนทางม้าลายเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องจัดการทันที เพราะปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกิดอยู่แล้วทั่วประเทศ โดยมีข้อเสนอ ดังนี้ 1.ขอให้ทำสัญญาณไฟจราจรคนข้ามถนนทุกจุดที่มีทางม้าลาย หรือทำสัญลักษณ์เป็นจุดของการข้ามทางม้าลาย 2.ขอให้รัฐออกมาตรการให้ผู้ขับขี่ต้องลดความเร็วในระยะห่าง 100 เมตรจากทางข้าม และหยุดให้คนข้ามถนนบนทางม้าลายก่อน 3.ต้องออกกฎหมายคุ้มครองคนเดินเท้า โดยเสนอให้เป็นกฎหมายที่มีโทษจำคุกและโทษปรับสูง เพื่อเป็นการป้องปรามมิให้กระทำผิด

          ขณะนี้กฎหมายกำหนดบทลงโทษ กรณีไม่หยุดรถให้คนข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย คือ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ถึงแม้จะปรับเป็น 4,000 ในเดือนกรกฎาคม 2565 ก็ยังถือว่าเป็นบทลงโทษที่เบาไป เนื่องจากทางม้าลายเป็นบริเวณที่ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ จึงควรปรับแก้ไขให้มีบทกำหนดโทษที่ร้ายแรงกว่าบทกำหนดโทษทั่วไป ถ้ารถไม่หยุดให้คนข้ามถนนบนทางม้าลาย หรือเกิดอุบัติเหตุบนทางม้าลาย

          นางนฤมล กล่าวอีกว่า อุบัติเหตุเกิดขึ้นเพราะไม่มีระบบสร้างความปลอดภัย อย่างการติดสัญญาณไฟให้รับรู้ทั้งคนขับขี่บนถนนและคนข้ามถนน ยิ่งในบริเวณที่การจราจรแออัด มีรถสัญจรตลอดเวลา แต่ไม่มีสัญญาณไฟหยุดให้คนข้ามได้ คนก็ต้องรอจังหวะรถห่างแล้วข้ามซึ่งเกิดอันตรายได้ ประกอบกับการรณรงค์ให้ข้ามถนนทางม้าลายเพื่อความปลอดภัย แต่ปรากฏว่าข้ามแล้วไม่ปลอดภัย เพราะมาตรการดูแลคนข้ามถนนในประเทศยังไม่ชัดเจน ทั้งที่คนเดินถนนควรจะมีความปลอดภัยในชีวิต ถ้าในต่างประเทศจะมีสัญญาณไฟจราจรคนข้ามถนนทุกแยก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ และมีเสียงเตือนเพื่อผู้พิการ ในไทยถึงจะมีสะพานลอย แต่ก็ไม่สะดวกกับคนข้าม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัยและผู้พิการ ซึ่งในอนาคตที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย รัฐต้องมีมาตรการความปลอดภัยรองรับการข้ามถนนของผู้สูงอายุและผู้พิการด้วย

          ดร.สุเมธ องคกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นว่า ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนทางม้าลายนั้น เป็นปัญหาเชิงระบบกับพฤติกรรมประกอบกัน โดยปัญหาเชิงระบบคือ โครงสร้างถนนที่ออกแบบไม่ได้รองรับการใช้ถนนโดยคนเดินเท้า ไม่ได้ออกแบบถนนให้ใช้ความเร็วต่ำ รวมกับการขับขี่รถในเมืองที่มีความเร็วสูง เมื่อมีคนเดินเท้าหรือขี่จักรยานข้ามถนนจะทำให้เกิดอุบัติเหตุค่อนข้างง่าย เนื่องจากความเร็วที่กำหนดบนถนนในปัจจุบันมีความเร็วที่สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นในเขตเมือง คือไม่เกิน 80 กม./ชม. หากรถขับมา 80 กม./ชม. แล้วเจอคนข้ามทางม้าลาย จะต้องใช้ระยะการเบรกไกล และอาจมองไม่ทัน ซึ่งถ้าดูในต่างประเทศส่วนใหญ่ในเขตเมืองจะออกแบบถนนให้ใช้ความเร็วต่ำ เมื่อมีคนข้ามถนนตรงพื้นที่ที่เป็นทางม้าลาย รถทุกคันจะเบรกให้คนข้ามถนนได้ทันที

          ถ้าจะให้เห็นภาพการออกแบบ ถนนแคบทำให้รถขับช้า และถนนกว้างทำให้คนขับเร็ว โดยต้องออกแบบให้มีสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายในการลดความเร็ว มีลักษณะช่องจราจรที่เหมาะสม ปรับกายภาพให้ลดความเร็วหลายๆ ที่ เช่น เนิน ลูกระนาด การออกแบบถนนให้ใช้ความเร็วต่ำนี้ เพื่อเป็นส่วนช่วยในการปรับพฤติกรรมในภาพรวม แล้วใช้กฎหมายในการกำกับพฤติกรรมอีกที แต่กฎหมายที่ใช้ก็ยังกำหนดความเร็วสำหรับการขับขี่ในเขตเมืองไว้สูง แม้บางพื้นที่จะกำหนดความเร็วที่ต่ำแล้วแต่ไม่มีการบังคับใช้ชัดเจน จึงต้องปรับแก้และบังคับใช้กฎหมาย เพื่อปรับพฤติกรรมคนขับขี่ เช่น กำหนดให้รถจอดให้คนข้ามถนนบนทางม้าลายก่อน ไม่ให้เปลี่ยนช่องจราจรใกล้บริเวณทางม้าลาย เพราะจะเป็นปัญหาทางทัศนวิสัย แน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาไม่ง่าย แต่เมื่อเป็นเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมาหลายกรณีแล้ว เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องปรับปรุงกระบวนการและหาแนวทางการแก้ไขอย่างเป็นระบบมากขึ้น

          “ถึงมันจะยากแต่ต้องแก้ อยู่ที่ว่าจะแก้อย่างไร ถ้าค่อยๆ ปรับไปก่อนอุบัติเหตุอาจจะเกิดขึ้นอีก ฉะนั้นถ้าไม่ต้องการให้เกิดอุบัติเหตุ ก็ต้องออกมาตรการเข้มข้นออกมาทันทีทันใด รัฐควรจะเห็นแล้วว่าต้องทำอย่างไร โดยกฎหมายควรจะออกแบบมาเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ มากกว่าปกป้องผู้เสียชีวิต ไม่ว่าจะชดเชย ลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างไรก็ตาม ยังเกิดประโยชน์น้อยกว่ากฎหมายที่ออกมาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำอีก” ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ TDRI กล่าวและว่า สุดท้ายต้องการให้มีมาตรการลดความเร็วสำหรับการขับขี่ลงอีก ในเขตเมืองบนทางราบที่ไม่ใช่ทางด่วน เพื่อให้คนเดินเท้า คนใช้จักรยาน และคนขับรถยนต์ใช้ถนนร่วมกันได้อย่างปลอดภัย

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน