คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้ประชุมร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับผู้บริโภค กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว และ ผู้ให้บริการวงจรเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (อินเทอร์เน็ต เกตเวย์ ) จำนวน 12 ราย เพื่อหาแนวทางป้องกันการฉ้อโกงธุรกรรมทางการเงินหลากหลายรูปแบบ เมื่อวันที่ 3 ส.ค.
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ รักษาการรองเลขา กทช. กล่าวว่า ได้ออก 3 แนวทางเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ 1.ขอความร่วมมือกับ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกรายในการส่งเอสเอ็มเอสเตือนไปยังผู้ใช้ที่มี อยู่เกือบ 60 ล้านราย 2. เปิดช่องทางรับร้องเรียนผ่านเลขหมาย 1200 1155 และ 1135 และ 3. ให้ไอเอสพีตรวรการใช้งานของลูกค้าที่มีปริมาณการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (ทราฟฟิก) สูงผิดปกติ แล้วแจ้งให้ทาง สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ( สบท.) เพื่อประสานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
นอกจากนี้ ยังจะจัดระเบียบผู้ให้บริการโทรผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (วอยซ์โอเวอร์ไอพี) เพราะเป็นช่องทางสำคัญที่กลุ่มอาชญากรใช้ในการหลอกลวง ซึ่งปัจจุบันทางกทช. ได้ให้ใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตแล้ว 200 ราย โดยจะนำแนวทางการจัดระเบียบเสนอที่ประชุม กทช.สัปดาห์หน้า
พล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวว่า รูปแบบที่กลุ่มอาชญากรใช้ในการหลอกลวงที่พบส่วนใหญ่ คือ การโทรหลอกว่าผู้เสียหายเป็นหนี้บัตรเครดิตที่จะส่งผลให้ถูกอายัติบัญชี แต่มีวิธีปลดล็อกด้วยการโอนเงินผ่านเอทีเอ็ม ซึ่งทำให้ผู้เสียหายที่มีความกลัวบอกเลขบัญชีที่มีอยู่ทุกบัญชีและโอนเงิน ให้ โดยมูลค่าความเสียหายที่จับกุมได้เมื่อปี 2551 รวมกว่าหลายร้อยล้านบาท
ส่วนอีกรูปแบบเป็นตั้งเบอร์ที่โทรไปหาผู้เสียหายให้เป็นเบอร์กลางของกรม สอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมแอบอ้างชื่อเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่จริงในดีเอสไอส ส่งผลให้ผู้เสียหายส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นดีเอสไอจริงและปฏิบัติตามวิธีที่ อาชญากรบอกให้ดำเนินการเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินทั้งหมด
พล.ต.ต.ปัญญา กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เพื่อต้องการให้ประชาชนช่วยกันแจ้งเบาะแสให้ได้มากที่ สุด เพราะปัญาที่เกิดขึ้น ผู้เสียหายเชื่อว่าไม่มีทางได้เงินคืน จึงไม่ยอมมาแจ้งความ ทำให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีข้อมูลมากพอที่จะดำเนินการได้
น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสบท. กล่าวว่า อาชญากรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความน่าเชื่อถือของระบบโทรคมนาคมและระบบธุรกรรมการเงิน ของประเทศ รวมถึงความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (อีคอมเมิร์ซ) ที่ลดน้อยลง เพราะการทำธุรกรรมทางการเงินไม่ปลอดภัย
นสพ.โพสต์ทูเดย์ 03/08/53