เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านเอดส์ เรียกร้อง กระทรวงสาธารณสุขต้องมีการส่งเสริมทัศนะคติด้านบวกกับผู้ติดเชื้อและพัฒนาคุณภาพบริการ และความรู้ หวังเพิ่มขึ้นในการลดอัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและเชื้อซิฟิลิสไปสู่ทารกแรกเกิดลงให้เหลือศูนย์
21 มิ.ย. เครือข่ายประชาสังคมด้านเอดส์ประกอบด้วย เครือข่ายผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ แถลงข่าวกรณีการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสในทารกแรกเกิด
จากการที่ประเทศไทยได้ผ่านการรับรองเรื่อง การยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและเชื้อซิฟิลิสในทารกแรกเกิดจากองค์การอนามัยโลก โดยได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และเป็นประเทศที่สองของโลก ที่ประสบความสำเร็จดังกล่าว โดยมีผู้แทนจากประเทศไทยได้เข้ารับใบประกาศรับรองความสำเร็จดังกล่าวในการประชุมระดับสูงของการประชุมทั่วไปของสหประชาชาติเพื่อการยุติปัญหาเอดส์ (United General Assembly High Level Meeting on Ending AIDS) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6– 11 มิถุนายน 2559 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยยังไม่สามารถปรับลดอัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและเชื้อซิฟิลิสไปสู่ทารกแรกเกิดลงให้เหลือศูนย์
นายอนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่าเพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่ ความสำเร็จ เพิ่มขึ้นในการลดอัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและเชื้อซิฟิลิสไปสู่ทารกแรกเกิดลงให้เหลือศูนย์นั้น กระทรวงสาธารณสุขต้องมีการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ชัดเจน ตามหลักความรู้และวิชาการเรื่องการรับและถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี โดยปราศจาก ทัศนคติที่เป็นลบ หรืออคติ เพื่อให้เห็นร่วมกันว่า ผู้หญิงที่มีเชื้อเอชไอวีมีสิทธิตั้งครรภ์ได้ เด็กที่เกิดและเติบโตจากแม่ที่มีเชื้อเอชไอวี เติบโตได้ เรียนหนังสือ มีงานทำ และมีครอบครัวได้ และมีมาตรการที่ทำให้เด็กๆ ที่เกิดมาจากครอบครัวที่พ่อและหรือแม่มีเชื้อเอชไอวี ได้รับโอกาสและทางเลือกในการเรียน และทำงาน โดยไม่เกิดการรังเกียจ กีดกัน และเลือกปฏิบัติ เพื่อการเติบโตโดยมีชีวิตที่มีคุณภาพ
ด้าน นางรัชนี พุทธาจู เครือข่ายผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี กล่าวถึงด้านระบบบริการว่า ต้องมีการเสริมสร้างระบบบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน มีความเข้มแข็งในการจัดบริการ มีการสื่อสารให้ข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้าน มีการเคารพสิทธิการตัดสินใจของผู้หญิง มีบริการทางเลือกให้กับผู้หญิง ทั้งในด้านการป้องกัน การตั้งครรภ์ต่อ และการยุติการตั้งครรภ์ เพื่อช่วยให้ผู้หญิงได้มีทางเลือกในการเข้ารับบริการอย่างต่อเนื่อง มีการตัดสินใจและร่วมวางแผนในการป้องกันตนเอง จากความรุนแรงทางเพศและการได้รับเชื้อเอชไอวี
น.ส.สุไลพร ชลวิไล นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงหน่วยบริการสุขภาพที่จะรองรับว่าต้องมีมาตรการกำหนดให้มีการประสานงานและจัดบริการร่วมกันระหว่างหน่วยบริการของรัฐ เช่น คลินิกการรักษาด้วยยาต้านไวรัส และคลินิกแม่และเด็ก และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดบริการกลุ่ม/องค์กรภาคประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนทัศนคติเชิงบวก และให้ความสำคัญกับความละเอียดอ่อนในการให้บริการเพิ่มมากขึ้น
นายนิมิตร์ เทียนอุดม คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ กล่าวว่ากระทรวงสาธารณะสุขต้องมีกระบวนการสร้างหลักประกันการเข้าถึงบริการสุขภาพของหญิงแรงงานข้ามชาติและผู้หญิงชาติพันธุ์ที่รอพิสูจน์สถานะบุคคล เพื่อให้ผู้หญิงได้เข้าถึงสิทธิ และได้รับบริการป้องกันการติดเชื้อในทารกแรกเกิดและการดูแลรักษาสุขภาพด้วยยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง
อนึ่งความสำเร็จข้างต้นนั้น ได้ส่งผลให้เกิดการป้องกันการส่งผ่านเชื้อเอชไอวีไปยังเด็กแรกเกิด ทำให้ปรับลดโอกาสที่เด็กที่เกิดจากมารดาที่มีเอชไอวีจะได้รับเชื้อเอชไอวีลงไปน้อยกว่า ๒ เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้เด็กแรกเกิดจำนวนมาก เกิดมาโดยไม่ต้องเผชิญกับการเจ็บป่วย การรักษา และการต้องกินยารักษาไปตลอดชีวิต รวมทั้งแม่และ/หรือพ่อ ที่มีเอชไอวีคลายความกังวลใจในเรื่องดังกล่าวนี้ลงไปด้วย ดังข้อมูลการรายงานของประเทศที่ได้ชี้แจ้งในที่ประชุม ณ นครนิวยอร์คถึงความสำเร็จไว้ดังนี้
1) เด็กแรกเกิดที่มีเชื้อเอชไอวีลดลง จากจำนวน 2,000 คน ในปี 2543 เหลือเพียง 85 คน ในปี 2558
2) หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีเชื้อเอชไอวีรายใหม่ลดลงจาก 15,000 คน ในปี 2543 เหลือเพียง 1,900 คน ในปี 2557
3) หญิงที่มีเชื้อเอชไอวีเข้าถึงและได้รับยาต้านไวรัสเพื่อการรักษา 98 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม การที่ ประเทศไทยยังไม่สามารถปรับลดอัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและเชื้อซิฟิลิสไปสู่ทารกแรกเกิดลงให้เหลือศูนย์ เป็นเพราะยังคงมีอุปสรรคสำคัญหลายประการดังนี้
1) การขาดความเข้าใจและมีทัศนคติด้านลบต่อผู้หญิงที่มีเชื้อเอชไอวี ที่ส่งผลต่อการเลือกปฏิบัติในการจัดบริการสุขภาพ การศึกษา และการมีงานทำ ส่งผลให้เด็กที่เกิดมาจากครอบครัวที่มีเอชไอวี ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่มีงานทำ และมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำลง
2) การขาดทางเลือกที่เพียงพอในการจัดบริการให้กับผู้หญิง เพื่อให้ผู้หญิงมีทางเลือกในการป้องกันการติดเชื้อฯ การเข้าถึงและได้รับบริการการตั้งครรภ์และบริการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและเชื้อซิฟิลิสไปสู่ทารกแรกเกิด และทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ที่ส่งผลให้ผู้หญิงจำนวนหนึ่งไม่คิดว่าตนเองอยู่ในความเสี่ยง รวมถึงการเข้าไม่ถึงและไม่ได้รับบริการป้องกัน การดูแลรักษาตนเอง และตัวอ่อนในครรภ์
3) การขาดการประสานงานและความร่วมมือที่ดีเพียงพอระหว่างหน่วยบริการสุขภาพ ระหว่างคลินิกการรักษาด้วยยาต้านไวรัส และคลินิกแม่และเด็ก ที่ส่งผลให้หญิงที่มีเอชไอวีจำนวนหนึ่งหลุดออกไปจากระบบการรักษาด้วยยาต้านไวรัส
4) การขาดการดำเนินการอย่างจริงจังในทางปฏิบัติ เพื่อให้ผู้หญิงที่เป็นแรงงานข้ามชาติและผู้หญิงชาติพันธุ์ได้เข้าถึงสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ