หลังจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้สำนักงาน ประกันสังคม (สปส.) ปรับปรุงวิธีการเบิกจ่ายเงินสิทธิทันตกรรมกรณีอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน จากเดิมต้องสำรองจ่ายและนำมาเบิกกับสปส.วงเงินไม่เกิน 600 บาทต่อปี โดยส่งผลต่อการเข้าถึงบริการของผู้ประกันตน และหลายคนไม่สามารถสำรองจ่ายได้ บางรายทนปวดฟันเพราะหวาดวิตก จนอาการลุกลาม โดยขอให้ สปส. นำสิทธิทันตกรรมอยู่ในการบริการรักษาทั่วไป กระทั่งเลขาธิการ สปส. ยันว่าการสำรองจ่ายจะช่วยลดปัญหาการรอคิวในโรงพยาบาลได้นั้น
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายต่างๆ ได้แชร์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับการจัดแคมเปญทางเว็บไซต์ www.change.org ใช้ชื่อว่า “ประกันสังคมต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมให้เท่าเทียมกับระบบหลัก ประกันสุขภาพอื่น” โดยมีข้อความระบุว่า สำนักงานประกันสังคม ฟังทางนี้!!! สิทธิประโยชน์ทันตกรรมต้องเท่าเทียม อุด ขูด ถอน ผ่าตัดฟันคุด และฟันเทียมต้องใช้ได้ตามความจำเป็น ไม่ต้องสำรองจ่าย ไม่ต้องจ่ายเพิ่มส่วนเกินเอง ต้องเข้ารับบริการได้ทั้งคลินิกรัฐและเอกชน โดยให้ข้อมูลว่าผู้ประกันตนที่เข้าถึงบริการทันตกรรมน้อยมาก โดยข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม ปี 2557 มีผู้ประกันตนเข้ารับบริการอุดฟันจำนวน 668,335 คน ถอนฟันจำนวน 473,719 คน และขูดหินปูนจำนวน 586,984 คน ขณะที่ผู้ประกันตนต้องใส่ฟันปลอมมีจำนวน 40,502 คน คิดอัตราเฉลี่ยผู้ประกันตนที่เข้าถึงบริการทันตกรรมอยู่ที่ร้อยละ 6 ของผู้ประกันตนทั้งหมด 11 ล้านคน
สรุปคือ มีผู้ประกันตนประมาณ 1.7 ล้านคนที่เข้าถึงบริการ ขณะที่สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เคยสำรวจการเข้าถึงบริการทันตกรรม และส่วนหนึ่งเคยสอบถามผู้ประกันตนว่า เคยไปรับบริการทันตกรรมและได้เบิกเงินกับทางประกันสังคมหรือไม่ พบว่าร้อยละ 37 ของผู้ประกันตนที่ไปใช้บริการไม่เคยเบิกเงินที่สำรองจ่ายไปเลย เพราะใช้ประกันสุขภาพจากเอกชน และยอมจ่ายเงินเอง เพราะรู้สึกเสียเวลาต้องไปเบิกเงินเพียง 300-600 บาท ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างแรงงานหากต้องไปเบิกเงินจะทำให้เสียโอกาสการทำงาน และรับค่าจ้างรายวัน
นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศ กล่าวว่า ตนและผู้นำสหภาพแรงงานหลายแห่งในฐานะเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) รวมถึงเครือข่าย ฟ. ฟัน สร้างสุข ได้หารือร่วมกันถึงสิทธิประโยชน์ทางด้านทันตกรรม ที่ปัจจุบันมีการแก้ไขให้เบิกเงินได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งในวงเงินไม่เกิน 600 บาทต่อปี โดยเครือข่ายมองว่าควรจะมีการปฏิรูประบบทันตกรรมของ สปส.โดยไม่ต้องให้ผู้ประกันตนสำรองเงินจ่ายไปก่อนแล้วไปเบิกภายหลัง ขณะนี้ได้มีการสำรวจความเห็นของผู้ประกันตนเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ด้านทันต กรรมตรงนี้ส่วนมากเห็นด้วยให้มีการปรับแก้ และในวันที่ 26 มีนาคมนี้ ทางเครือข่ายฯจะมีการประชุมหารือกันและยื่นเป็นข้อเสนอต่อ สปส.อย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจาก นสพ.มติชน 22 มี.ค.59