แถลงการณ์เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง
หยุด ! แก้กฎหมายบัตรทอง รัฐต้องคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานการรักษาพยาบาลของประชาชน
ตามที่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 37/2559 ตามอำนาจมาตรา 44 ระบุให้มีการแก้ไขการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 10/2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไข ปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545
ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ ได้จัดตั้งอนุกรรมการจัดประชาพิจารณ์ 4 ภูมิภาค ซึ่งกระบวนการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปทุกภูมิภาค ภายในระยะเวลาเพียง 21 วัน และกระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์ดังกล่าวก็ถูกคัดค้านจากประชาชนทั้งประเทศ เพราะเห็นว่าการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ ไม่มีความชอบธรรมและละเมิดหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงแสดงออกซึ่งการคัดค้านมีทั้งการวอล์คเอ้าท์ การจัดเวทีคู่ขนาน และการล้มเวทีประชาพิจารณ์ แต่คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ ยังเพิกเฉยความต้องการของประชาชน เดินหน้ากระบวนการรับฟังจนสิ้นสุด เพราะกลุ่มที่ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ มีเจตนาเพื่อล้มหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชน
โดยในวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ ได้ประชุมพิจารณาร่างกฎหมาย โดยไม่ได้ฟังเสียงคัดค้านของประชาชนทั่วประเทศ ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นจอมปลอม ที่จัดขึ้นเป็นเพียงพิธีกรรมเพื่อแอบอ้างว่ามีการรับฟังเสียงของประชาชาชน ทั้งที่กระบวนการดังกล่าวนั้นไม่มีความยึดโยงกับประชาชน ประชาชนไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
จากกระบวนการแก้ไขกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมดังกล่าว ทางเครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง จึงมีข้อเรียกร้องและขอประกาศจุดยืน ต่อการ แก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนี้
1. ให้รัฐบาลยกเลิกการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และยุติกระบวนการใดๆ ที่จะนำไปสู่การแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ภายใต้บรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
2. กฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้านหน้าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาพยาบาลของประชาชน การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ต้องดำเนินการภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
3. ทางเครือข่ายฯ พร้อมที่จะเคลื่อนไหวทุกที่ ทุกเวลา และทุกรูปแบบ จนกว่ากระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ไม่ชอบธรรมและละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนจะยุติลง
เครือข่ายฯ ยืนยันในหลักการว่า “ประชาชนต้องมีสิทธิรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย สิทธิในการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ที่ต้องถือปฏิบัติและรัฐต้องจัดให้มีสวัสดิการในการรักษาพยาบาลให้กับประชาชน อย่างเท่าเทียม เป็นธรรม โดยไม่ต้องร้องขอ” และทางเครือข่ายจะเคลื่อนไหวต่อไปจนกว่าคนจะมีสิทธิความเป็นคน
ด้วยจิตคาราวะ
14 กรกฎาคม 2560