แจง เอ็นจีโอ รับงบสนับสนุนกิจการภาครัฐ อภ.แค่ 6 แสนบาท คิดเป็นร้อยละ 0.38 ของงบทั้งหมดปี 57 จี้ผู้บริหาร สปสช. ต้องออกโรงแจงข้อเท็จจริง เหตุเป็นหน่วยงานเกี่ยวข้องโดยตรง พร้อมระบุกรณีปลัด สธ.เอ่ยน้ำตาตกในกลางเวทีเสวนา ชี้เหตุจาก คตร.ไม่ใช่ สปสช.ใช้วิธีนักบัญชีตีความกฎหมายทั้งที่ไม่พบทุจริตจนสร้างปัญหา
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน กล่าวถึงกรณีที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ระบุถึงการแก้ไขกฎหมายบัตรทองว่าเป็นไปเพื่อปิดช่องเงินเหลือให้เอ็นจีโอว่า การออกมาระบุของ พล.ท.สรรเสริญ เป็นการอ้างอิงรายงานของ ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ในที่ประชุม ครม. ซึ่งไม่เชื่อว่าคนระดับโฆษกรัฐบาลจะรายงานผิดพลาด และเรื่องนี้มองว่า รมว.สาธารณสุขต้องออกมาขอโทษประชาชนอย่างเป็นทางการ เพราะทำให้ประชาชนเสียหายจากการพูดโกหก
ทั้งนี้เมื่อดูรายงานเบิกจ่ายงบสนับสนุนกิจการภาครัฐขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่เป็นการกันเงินเพื่อจ่ายให้กับหน่วยงานที่ชำระค่ายาและเวชภัณฑ์ตามกำหนด โดยในปี 2557 จากการจัดซื้อยาเพียงร้อยละ 4 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อภ.ได้กันงบนี้ไว้จำนวน 157 ล้านบาท เพื่อเบิกจ่ายสนับสนุนโครงการที่เป็นประโยชน์ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้รับงบนี้มากที่สุด คือ 50 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 32.17 เครือข่ายหน่วยบริการที่เป็นการจัดซื้อยารวมของ รพ. และ รพ.สต.ระดับเขต 41 ล้านบาท หรือร้อยละ 26 เป็นต้น ขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ได้รับเพียง 6 แสนบาท หรือร้อยละ 0.38 เท่านั้น แต่กลับนำข้อมูลนี้มาปรับปรำภาคประชาชน ใส่ร้ายป้ายสี เพื่อพยายามแก้ไข พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ง่อยเปลี้ยเสียขา
“ที่ผ่านมา สธ.เคยเป็นหน่วยงานที่มีความก้าวหน้าที่สุดในหน่วยราชการในการทำงานร่วมกับเอ็นจีโอจนทำให้งานด้านสาธารณสุขเข้มแข็ง ทั้งงานคุ้มครองผู้บริโภค การสาธารณสุขมูลฐาน และการควบคุมโรคต่างๆ ประสบผลสำเร็จ ซึ่งที่เห็นชัดเจนคือการควบคุมการติดเชื้อเอชไอวี ที่ล่าสุด ศ.นพ.ปิยะสกล ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยรับรางวัลจากองค์การอนามัยโลกในฐานะประเทศที่สามารถลดการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกสำเร็จเป็นประเทศที่ 2 ของโลก ซึ่งเกิดจากการประสานร่วมกันระหว่างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบบริการกระทรวงสาธารณสุข และเอ็นจีโอ และทุกปีเฉพาะกรมควบคุมโรคก็สนับสนุนงบประมาณทำงานร่วมกับภาคประชาชนสังคมไม่ต่ำกว่าปีละ 50 ล้านบาท เพราะตระหนักดีว่า เป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลจริง” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว
สิ่งสำคัญคือทั้งโฆษกรัฐบาล และ รมว.สาธารณสุขต้องออกมาชี้แจง ถึงสิ่งที่พูดว่าเป็นเรื่องไม่จริง เป็นเรื่องโกหก และกล่าวขอโทษเอ็นจีโอและสาธารณชน
"แค่โฆษกรัฐบาลขอโทษรัฐมนตรี ง่ายไปไหมคะ สังคมมีอารยะ ทำหน้าที่ของตัวเองได้แย่ขนาดนี้ เขาก้มหัวขอโทษประชาชนลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว ต้องออกมาขอโทษเอ็นจีโอที่ถูกคุณกล่าวหาซะ เพราะนอกจากคุณจะรายงานมติครม.ผิดพลาด ยังให้ทีมงานเขียนบทให้นักเล่าข่าวเอาไปเล่าข่าวอย่างผิดพลาดกล่าวหาผู้คนในรายการเดินหน้าประเทศไทยด้วย"
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สปสช.ในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ต้องออกมาชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริง การจะระบุเพียงว่า เชื่อว่า รมว.สาธารณสุขไม่ได้พูดไม่ได้ และ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เองยังกำหนดให้ สปสช.ต้องทำงานร่วมกับ อปท. และองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อทำให้ระบบบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นที่ผ่านมา สปสช.จึงไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ได้ทำงานตามหลักการของกฎหมายแล้ว
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวบนเวทีเสวนาแก้ไข กม.บัตรทอง ที่จัดโดย สธ.วานนี้ (21 มิ.ย.) โดยระบุถึงปัญหาการบริหารโรงพยาบาลที่มาจากผลกระทบของ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ทั้งค่าใช้จ่ายค่าน้ำและค่าไฟ การเยียวยาบุคลากรทางการแพทย์ที่ประสบอุบัติเหตุนั้น เรื่องนี้ต้องโทษ คตร.ที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้น ที่พยายามตรวจสอบทุจริต เมื่อไม่พบก็พยายามหาเรื่องโดยใช้วิธีนักบัญชีตีความกฎหมายด้วยการอ่านตามตัวอักษร โดยภายหลัง คสช.รู้ว่า คตร.ดำเนินการผิดพลาด จึงได้ออก ม.44 เพื่อแก้ปัญหา ดังนั้นเรื่องนี้ ปลัด สธ.อย่าโบ้ยว่าเกิดจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ขณะเดียวกันควรกลับไปสำรวจตัวเองว่า ได้ทำอะไรให้บุคลากรในสังกัดต้องน้ำตาตกในหรือไม่ เช่นการดึงตำแหน่งบรรจุไว้ที่ส่วนกลางทำให้ลูกจ้าง รพ.ในสังกัดไม่ได้รับการบรรจุ การค้างจ่ายเงินเดือนแพทย์และบุคลากร 4-5 เดือนที่เกิดจากการบริหารจัดการของ สธ.เอง และการไม่ปรับตัวของ รพ.ขนาดกลางบางแห่งที่ยังเป็นภาระงบประมาณ เป็นต้น