บริการสุขภาพ

แนะปรับป่วยฉุกเฉินตามจริง คำนึงถึงสวัสดิภาพผู้ป่วย

p thera
หมอธีระ” เตือน รัฐบาลดันทุรัง ใช้ กม.บังคับ รพ.เอกชน ร่วมนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน “รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ์” รับค่ารักษา Fee schedule หวั่นกระทบสวัสดิภาพผู้ป่วยและประชาชนระยะยาว เหตุอัตราจ่ายค่ารักษาต่ำ ส่อแวว รพ.เอกชนเลี่ยงรับผู้ป่วย ซ้ำรักษาจำกัดจำเขี่ย เน้นใช้ต้นทุนน้อยที่สุด แนะทางออกปรับนโยบายตรงกับความเป็นจริง ปฏิบัติได้ ดึง รพ.เอกชนเข้าร่วมอย่างสมัครใจและประกาศรายชื่อ พร้อมแนะประชาชนกันเงินเพื่อรับความเสี่ยงสุขภาพรวมถึงภาวะฉุกเฉิน

 

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แนวคิดนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นเรื่องที่ดีในการดูแลประชาชนช่วงภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานและทันท่วงที ไม่ต้องกังวลกับภาระค่าใช้จ่าย เนื่องจากมีกองทุนเบิกจ่ายที่คอยรองรับไว้ แต่การดำเนินนโยบายแม้ว่าจะพยายามผลักดันมานาน แต่ในทางปฏิบัติกลับยังมีประเด็นปัญหาที่ยืดเยื้อและยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้

ไม่ว่าจะเป็นการตีความภาวะการเจ็บปวยฉุกเฉินที่เป็นปัญหาอย่างมากในช่วงแรกของการดำเนินนโยบาย ซึ่งได้มีการประกาศ “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์” ที่สามารถเข้ารับบริการยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ และประชาชนส่วนหนึ่งเลือกเข้าโรงพยาบาลเอกชนเพราะหวังบริการที่ดี แต่ด้วยคำจำกัดความภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ไม่ชัดเจน ประกอบกับอัตราการเบิกจ่ายที่ รพ.เอกชนมองว่าไม่คุ้มทุน ส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องผู้ป่วยของ รพ.เอกชนตามมา รวมถึงมาตรการเซ็นรับสภาพหนี้ของประชาชนก่อนรับบริการ

ทั้งนี้แม้ว่าภายหลังจะมีการจัดทำหลักเกณฑ์โดยแยกระดับภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินและได้กำหนดแยกสีต่างๆ ในการเข้ารับบริการ ทั้งสีแดง เหลือง และเขียว เพื่อบังคับให้สถานพยาบาลเบิกจ่ายจากกองทุน รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายสถานพยาบาลโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดให้สถานพยาบาลทั้งหมด ทั้งรัฐและเอกชนต้องปฏิบัติรับดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินตามนโยบายนี้ รวมทั้งการปรับนโยบายที่เน้นไปยังกลุ่มผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน พร้อมปรับสโลแกนเป็น “รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ์” แทน ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้มองว่ายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ 

ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของการดำเนินนโยบายนี้อยู่ที่การกำหนดอัตราการเบิกจ่ายค่ารักษาในการทำหัตถการต่างๆ ตามรายการ (Fee schedule) ที่ครอบคลุม รพ.ทั้งหมด เนื่องจากโครงสร้างต้นทุนค่ารักษาสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชนแตกต่างกัน โดย รพ.เอกชนจะระบุเหตุผลด้านการลงทุน ก่อสร้างอาคาร การจัดซื้อเทคโนโลยีการแพทย์ต่างๆ โดยไม่มีงบประมาณภาครัฐอุดหนุนที่ต่างจากสถานบริการภาครัฐ จึงทำให้ต้นทุนและการคิดบวกกำไรจึงแตกต่างกัน

อีกทั้ง รพ.เอกชน ยังเป็นการดำเนินธุรกิจที่มุ่งแสวงหากำไรและต้องขาดทุนน้อยที่สุด ขณะเดียวกัน รพ.เอกชน ยังแบ่งระดับหลายดาว ทำให้เกิดต้นทุนบริการที่แตกต่างไปอีก ส่งผลให้การนำอัตราการเบิกจ่ายตามรายการตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาใช้กับ รพ.เอกชน จึงมีการตอบรับน้อยมาก

อย่างไรก็ตามแม้ว่าขณะนี้จะมีการแก้ไขกฎหมาย โดยบังคับให้ รพ.เอกชนต้องปฏิบัติตามและปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งต้องมาดูว่าหาก รพ.เอกชนเหล่านี้ได้ร่วมดูแลผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินตามนโยบายนี้แล้วผลที่ออกมาจะดีหรือไม่ หรือกลายเป็นจุดอ่อน เพราะแม้ว่าจะมีกฎเกณฑ์กำหนดควบคุม แต่เชื่อว่าในท้ายที่สุด รพ.เอกชนเหล่านี้ต้องหาทางเลี่ยงหรือให้บริการแบบจำกัดจำเขี่ย เพื่อให้ต้นทุนบริการที่หวังมุ่งกำไรถูกใช้ไปน้อยที่สุด เพราะอัตราการเบิกจ่ายนี้ไม่ได้สร้างกำไรได้อย่างที่คาดหวัง รวมไปถึงการหาทางผลักภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยเหมือนกับที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพประชาชนในระยะยาวได้ 

“อัตราเบิกจ่ายตามนโยบายนี้เป็นเรื่องยากที่ รพ.เอกชน จะยอมรับ อาทิ ค่าห้องผู้ป่วยสามัญ อัตราเบิกจ่ายรวมค่าอาหาร 400 บาท/วัน ซึ่งผู้รับบริการตานโยบายนี้เป็นผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน นั่นหมายถึงต้องเข้าหอผู้ป่วยฉุกเฉินหรือไอซียู ซึ่งตามรายการกำหนดเบิกจ่าย 1,600 บาท/วัน จึงเป็นเรื่องยากที่ รพ.เอกชนจะยอมรับ เพราะแม้แต่ รพ.ภาครัฐเองก็มองว่าเป็นอัตราที่เข้าเนื้อแล้ว ยังไม่รวมถึงการเบิกค่าหัตถการในไอซียู อย่างการปั้มหัวใจเพื่อฟื้นคืนชีพ อัตราการเบิกจ่ายเท่ากับราคาบุฟเฟ่ต์มื้อหนึ่งในโรงแรมเท่านั้น ซึ่งหากจะดำเนินนโยบายนี้ต่อไปควรใช้ข้อมูลวิชาการเพื่อวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้นโยบายนี้ในทางปฏิบัติเกิดขึ้นได้จริง”

ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า ทางออกในเรื่องนี้คือต้องประกาศนโยบายที่ตรงกับความเป็นจริงและปฏิบัติได้ โดยต้องนำอัตราการเบิกจ่ายค่ารักษาที่จัดทำขึ้นนี้สอบถามความยินยอมพร้อมใจของ รพ.เอกชน และดึงเข้าร่วมเป็นเครือข่าย เนื่องจาก รพ.เอกชนมีหลายระดับ อาจมีที่ยอมรับได้กับราคากลางนี้ ขณะเดียวกันจะต้องมีการแจ้งให้กับประชาชนรับทราบว่า รพ.นี้เป็นหน่วยบริการที่เข้าร่วมนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือมีการติดป้ายประกาศหน้า รพ. รวมถึงการให้ข้อมูลผ่านทางสายด่วน 1669 ตลอดจนการกำหนดข้อมูลใน GPS หรือ GIS เพื่อนำส่งผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลดังกล่าว เพื่อที่จะไม่เกิดปัญหาในการรับบริการภายหลัง  

ขณะเดียวกันทางด้านประชาชนเองจะต้องตื่นรู้ในการวางแผนรับความเสี่ยงด้านสุขภาพเพื่อความปลอดภัยในชีวิตเอง โดยเฉพาะหากเกิดวิกฤตฉุกเฉิน ซึ่งควรกันเงินส่วนหนึ่งเพื่อใช้รักษาหากต้องเข้ารับบริการยังสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด โดยเฉพาะ รพ.เอกชน แม้ว่าจะมีนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินรองรับ รวมถึงผู้ที่ทำประกันสุขภาพกับเอกชน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้สินตามมา เนื่องจากมีผลการศึกษา 10 ปีก่อน โดยนักวิจัยอเมริกาซึ่งคาดประมาณว่า หากคนที่เกษียณแล้วไม่อยากเป็นภาระลูกหลานต้องมีเงินเก็บประมาณ 8 ล้านบาท หรือ 2 แสนดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อดูแลยามเจ็บป่วยจนกระทั่งเสียชีวิต เพราะการทำประกันสุขภาพหรือกองทุนรักษา ไม่สามารถดูแลสุขภาพให้เราทั้งหมดได้ จึงต้องมีการเตรียมพร้อมเพื่อดูแลตนเอง

ซึ่งในส่วนประเทศไทยยังไม่มีการประมาณการณ์ตัวเลขดังกล่าว สำหรับกรณีผู้มีปัญหาเศรษฐานะเมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินควรมุ่งตรงไปยัง รพ.รัฐ แทนการรับบริการ รพ.เอกชน ซึ่งจะช่วยประหยัดค่ารักษาได้มากกว่า นอกจากนี้ควรมีการหาข้อมูลสถานพยาบาล โดยเฉพาะ รพ.ที่ร่วมนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน เพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้าไว้

ภาพและข้อมูลจาก สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ

พิมพ์ อีเมล