บริการสุขภาพ

เครือข่ายพลเมืองปฏิรูประบบสายด่วนฉุกเฉิน เสนอ 112 หมายเลขฉุกเฉิน หนุน สพฉ.รับไปดูแล

170949

เครือข่ายพลเมืองปฏิรูประบบสายด่วนฉุกเฉิน 112 เสนอรัฐเร่งออกหมายเลขฉุกเฉิน 112 นักวิชาการเผยระบบแล้วเสร็จภายใน 8 เดือน หากมีผู้รับผิดชอบชัดเจน ขณะที่ทั่วโลกทำไปเกือบหมดแล้ว

ดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ระบบสายด่วนฉุกเฉิน 112 จะปรากฏข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์ อาทิเช่น ใบหน้า ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน ประวัติการรักษาพยาบาล ฯลฯ เพื่อความสะดวกในการให้ความช่วยเหลือโดยไม่ต้องสอบถามประวัติใหม่ทุกครั้ง พร้อมประสานงานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทันท่วงที อีกสามารถบอกพิกัดตำแหน่งที่อยู่ได้ ในกรณีเกิดหตุในต่างจังหวัดเมื่อมีคนโทรเข้ามาข้อมูลจะถูกบันทึกที่ส่วนกลางพร้อมกับโชว์ข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อไม่ให้เสียเวลาในการสอบถามข้อมูลใหม่

แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบเป็นหลัก แต่หากรัฐบาลมีการกำหนดชัดว่าให้ใครเป็นผู้ดูแลแล้วคาดว่าจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายใน 8 เดือน

ด้าน ดร.สืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า ในวงการโทรคมนาคมได้มีสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เข้ามาดูแลและกำหนดให้สมาชิกต้องมีสายด่วนให้บริการประชาชน ซึ่งมีสองหมายเลขให้เลือกคือ 911 และ 112 เพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งมีการนำไปปฏิบัติเกือบทั่วโลกแล้ว นอกจากนี้ ITU ได้บังคับให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์ทำการรองรับหมายเลขดังกล่าว ขณะที่ในประเทศไทยก็สามารถใช้หมายเลข 112 ได้เช่นกัน แต่ด้วยยังไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบ หากใครโทรไปที่หมายเลข 112 จะถูกโอนไปยังสายด่วน 191 ทันที

ทางด้าน ร.ต.อ. ดร.สามารถ กาษร รอง สว. ชุดปฏิบัติการ กก.ศร.บก.สปพ. (191) กล่าวถึงปัญหาและข้อจำกัดในการทำงานว่า กฎหมายระบุชัดว่าตำรวจไม่สามารถทราบพิกัดของผู้ที่โทรเข้ามาร้องเรียนได้ ผู้ที่โทรเข้ามาที่ 191 เฉลี่ยอยู่ที่กว่าหมื่นสาย เป็นสายก่อกวนประมาณ 80% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิงอายุประมาณ 10 ขวบ แต่หากมีสายด่วนฉุกเฉิน 112 จะสามารถแก้ปัญหาก่อกวนได้อีกทั้งทำให้ทราบพิกัดของผู้เดือนร้อนและเข้าให้การช่วยเหลือได้โดยไว

ขณะที่ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวถึงการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลว่า ไม่กลัวว่าจะรู้ข้อมูลส่วนบุคคล เพราะถ้าไม่เดือดร้อนเขาก็ไม่มาดูข้อมูลของเรา แต่ห่วงว่าจะนำระบบนี้ไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงในประเทศนี้ได้อย่างไร ในส่วนของผู้ดูแลระบบนั้นเสนอให้ สพฉ.รับไปดูแล เพราะพิจารณาจากผลงานสายด่วน 1669 ที่ทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่าต่อไปต้องดูแลทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องปัญหาสุขภาพอย่างเดียว

 

บทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน:

|

พิมพ์ อีเมล