บริการสุขภาพ

สบส.ส่งหนังสือเวียนแจ้งบังคับใช้ ‘รพ.’ ใดเก็บเงิน ‘ผู้ป่วยฉุกเฉิน’ มีโทษตามกฎหมายทันที

590613 fileเมื่อวันที่ 22 มกราคม นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา



เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2559 เป็นต้นมา เจตนารมณ์กฎหมายฉบับนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐาน ความปลอดภัยของระบบบริการสุขภาพครอบคลุมสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายฉบับนี้ นอกจากจะกำหนดให้สถานพยาบาลทุกแห่งต้องแสดงชื่อ รายการผู้ประกอบวิชาชีพ อัตราค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าบริการอื่นแล้ว ยังต้องแสดงค่ายาเวชภัณฑ์ และห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินอัตราที่แสดงและมีการเพิ่มหลักเกณฑ์การดำเนินการของสถานพยาบาลสำหรับผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน ตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉินอีกด้วย โดยสบส. ได้แจ้งเวียนให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ทั่วประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน

ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ยังได้ปรับปรุงเงื่อนไขการอนุญาตการโฆษณาสถานพยาบาลให้รัดกุมขึ้น โดยกำหนดให้การโฆษณาทุกชนิดในเขตกรุงเทพมหานคร จะต้องขออนุญาตจาก สบส. และในส่วนภูมิภาค ให้ขออนุญาตที่ สสจ. และได้เพิ่มโทษการโฆษณาโอ้อวดให้หนักขึ้นจากเดิมซึ่งมีแค่โทษปรับอย่างเดียว แต่กฎหมายฉบับนี้เพิ่มโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาทจนกว่าจะระงับการโฆษณา ในกรณีที่ลักลอบโฆษณา มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทและให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา กรณีโฆษณาที่มีการเผยแพร่ก่อนกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ให้ดำเนินการขออนุญาตกับ สบส. หรือสสจ.ในพื้นที่ ภายใน 90 วัน หลังจากประกาศที่ออกตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับ และเมื่อยื่นขออนุญาตแล้วอนุโลมให้โฆษณาต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งผลการพิจารณา

ทพ.อาคม กล่าวอีกว่า สำหรับบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน ได้เพิ่มโทษหนักขึ้นกว่าเดิม เพื่อป้องปรามการกระทำผิด เช่น การลักลอบเปิดสถานพยาบาลโดยมิได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกจากเดิมไม่เกิน 3 ปี เพิ่มเป็น 5 ปี หรือปรับเพิ่มจากเดิมไม่เกิน 6 หมื่นบาท เป็น 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีการเก็บค่ารักษาพยาบาล ยา และเวชภัณฑ์เกินกว่าที่แสดงไว้ที่ป้าย ก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากเดิมมีโทษปรับอย่างเดียวไม่เกิน 2 หมื่นบาท นอกจากนี้ กฎหมายยังครอบคลุมโทษถึงผู้กระทำความผิดที่เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลที่รับผิดชอบการดำเนินงานของนิติบุคคล จนเป็นเหตุให้เกิดการกระทำผิด จะต้องร่วมรับผิดชอบในความผิดนั้นด้วย

 

ข้อมูลจาก นสพ.มติชนออไลน์ วันที่: 22 ม.ค. 60 

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน