“หมอประทีป” ยื่นฟ้องศาลปกครองขอความเป็นธรรมยกเลิกมติ บอร์ด สปสช.ไม่รับรองนั่งเลขาธิการ สปสช. ชี้ดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แถมใช้เสียงส่วนใหญ่รับรองบัตรเสียเป็นบัตรดี ขณะเดียวกันขอมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินชั่วคราวหยุดกระบวนการสรรหาเลขาธิการ สปสช.รอบใหม่ ชี้หากไม่ยุติจะกระทบภายหลัง แม้ศาลพิพากษาให้ชนะ แต่ไม่สามารถกลับสู่ตำแหน่งได้ เพราะมีเลขาธิการฯ คนใหม่แล้ว พร้อมย้ำไม่กระทบ สปสช. มีรักษาการเลขาธิการ สปสช.ทำหน้าที่อยู่ ล่าสุดศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินแล้ว ส่วนผลจะคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ ต้องรอคำสั่งของศาลในเร็วๆ นี้
เมื่อวันที่ 5 ก.ย.59 ที่ศาลปกครองสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ – เมื่อเวลา 13:00 น. นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีต รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะผู้ที่ถูกเสนอชื่อในการสรรหาเลขาธิการ สปสช. ซึ่งภายหลังบอร์ด สปสช.มีมติไม่รับรอง ได้เดินทางมายังศาลปกครองเพื่อยื่นฟ้องเพื่อขอความเป็นธรรม พร้อมกันขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินให้ให้ยุติกระบวนการสรรหาเลขาธิการ สปสช.รอบใหม่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการขณะนี้ โดยมีตัวแทนภาคประชาชน เครือข่ายผู้ป่วย และสมาชิกชมรมรักษ์ สปสช.เดินทางมามอบพวงมาลัยพร้อมให้กำลังใจในครั้งนี้
นพ.ประทีป กล่าวว่า วันนี้ขอพึ่งบารมีศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งให้ยกเลิกมติคณะกรรมการหลัก ประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา กรณีที่บอร์ด สปสช. ซึ่งมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน มีมติไม่รับรองตนที่ได้รับการสรรหาเพียงผู้เดียวจากคณะกรรมการสรรหา เลขาธิการ สปสช. ตามมาตรา 31 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ถือเป็นการทำผิดกฎหมาย โดยขอให้ศาลพิจารณายกเลิกมติดังกล่าว ทั้งนี้สาเหตุของการยื่นฟ้อง มี 3 ประเด็นด้วยกัน คือ
1.มติดังกล่าวมีการดำเนินการที่ทำผิดต่อ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจบอร์ด สปสช.เพิ่มขั้นตอนว่าจะรับรองหรือไม่รับรองผลการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งกฎหมายเขียนชัดเจนว่าคณะกรรมการสรรหาฯ มีหน้าที่นำเสนอรายชื่อผู้เหมาะสมเป็นเลขาธิการ สปสช. เพื่อให้บอร์ด สปสช.พิจารณาทำสัญญาจ้างและแต่งตั้งเท่านั้น
2.แม้ว่าบอร์ด สปสช.จะใช้อำนาจในการพิจารณารับรองหรือไม่ แต่โดยหลักต้องมีการพิจารณาแบบเป็นองค์คณะในการพิจารณาว่าจะไม่รับรองการนำ เสนอชื่อด้วยเหตุผลอะไร ซึ่งต้องมีเหตุผลเหนือกว่าที่คณะกรรมการสรรหาฯ ได้พิจารณามาแล้ว อีกทั้งคะแนนการสรรหาที่ตนได้รับ โดยมีความเหมาะสมสูงถึง 91 คะแนน จาก 100 คะแนนเต็ม โดยข้อเท็จจริงในวันดังกล่าวไม่ได้มีการพิจารณา ซึ่งเมื่อเปิดประชุมได้ให้มีการลงคะแนนรับรองทันที
3.ในช่วงของการลงคะแนน มีผู้รับรองและไม่รับรองที่มีคะแนนเท่ากัน คือ 13 คะแนนเท่ากัน นอกจากนี้ยังมีบัตรลงคะแนนหนึ่งใบที่กากเครื่องหมายไม่ถูกต้องตามที่ตกลงกัน ไว้ แต่บอร์ด สปสช.กลับใช้เสียงข้างมากไปรับรองบัตรเสียให้เป็นบัตรดี
นพ.ประทีป กล่าวว่า นอกจากการฟ้องร้องแล้วยังได้ขอให้ศาลทำการไต่สวนฉุกเฉินเพื่อให้มีคำสั่ง คุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้ระงับกระบวนการสรรหาเลขาธิการ สปสช.รอบใหม่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการนี้ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งวินิจฉัยและพิพากษาก่อน เพราะไม่เช่นนั้นความเสียหายจะเกิดกับตนเองและยากต่อการเยียวยาในภายหลังได้ เนื่องจากการไม่รับรองเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 เป็นการตัดสิทธิ์ของตน ซึ่งหากปล่อยให้กระบวนการสรรหาเลขาธิการ สปสช.รอบใหม่สำเร็จ แม้ว่าศาลจะพิพากษาในภายหลังให้ตนเองชนะก็ไม่สามารถเป็นเลขาธิการ สปสช.ได้ เนื่องจากมีเลขาธิการ สปสช.คนใหม่เกิดขึ้นแล้ว จึงขอให้คุ้มครองฉุกเฉินด้วย
อย่างไรก็ตามคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินนี้ มองว่าไม่ได้ทำให้ สปสช.เกิดความเสียหาย เนื่องจากในมาตรา 34 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ระบุชัดเจนว่า กรณีที่ไม่มีเลขาธิการ สปสช. บอร์ด สปสช.สามารถตั้งเจ้าหน้าที่ สปสช.เพื่อรักษาการแทนเลขาธิการ สปสช.ได้ และมีอำนาจเหมือนกับเลขาธิการ สปสชทุกอย่าง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการตั้งรองเลขาธิการ สปสช.เพื่อรักษาการเลขาธิการ สปสช.มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 จนถึงขณะนี้เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว งานต่างๆ ของ สปสช.ยังเดินหน้าได้และไม่ได้เสียหายอะไร
ต่อข้อซักถามว่า หลังจากยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแล้ว จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อ นพ.ประทีป กล่าวว่า วันนี้เป็นเพียงการฟ้องเพื่อรักษาสิทธิ์ ซึ่งหลังจากนี้จะหารือกับทีมกฎหมายเพื่อนำไปสู่กระบวนการฟ้องคดีอาญาต่อไป เนื่องจากมองว่าการดำเนินการของบอร์ด สปสช.ที่ผ่านมามีแนวโน้มว่าเป็นการทำผิดกฎหมายแบบจงใจและมีความผิดเกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ทีมกฎหมายกำลังพิจารณาอยู่
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ นพ.ประทีป ได้ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินชั่วคราว ศาลได้เปิดไต่สวนฉุกเฉินทันทีเมื่อเวลา 15.30 น.และเสร็จเวลา 17.00 น. ส่วนผลจะคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ ต้องรอคำสั่งของศาลในเร็วๆ นี้
ข่าวและภาพจาก สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ