เมื่อวันที่ 11 เมษายน เครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนด้านสิทธิสุขภาพ (Healthy Forum) ยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้พิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้านการจัดซื้อยา ผ่านทางศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.)
นายธนพล ดอกแก้ว ประธานเครือข่าย Healthy Forum กล่าวว่า เครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีความกังวลใจอย่างยิ่งต่อคำสั่งตามมาตรา 44 ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อยารวม โดยเฉพาะยาที่มีราคาแพง รวมถึงยาที่มีอัตราการใช้น้อยและมักไม่ได้เป็นยาที่โรงพยาบาลซื้อเก็บไว้ ซึ่งส่งผลต่อการเข้าถึงยาของผู้ป่วยในชุมชน โดยที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้รับมอบหมายจากบอร์ดให้ดำเนินการจัดหาเป็นยา เวชภัณฑ์ ที่ต่อรองราคารวมระดับประเทศแล้วส่งกระจายให้ตามความต้องการในพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งมีปัญหาในการตีความว่าเป็นอำนาจของบอร์ดเพียงใด
“ก่อนที่จะมีระบบการต่อรองและจัดซื้อยารวม เดิม สปสช.จ่ายชดเชยค่าบริการและค่ายาเป็นเงินให้กับทางโรงพยาบาล ผลที่เกิดขึ้นพบว่าโรงพยาบาลไม่ได้ดำเนินการสำรองยาไว้ เนื่องจากยาดังกล่าวมีราคาแพง ทำให้ยามีไม่เพียงพอต่อความจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องได้รับ ต่อมาทาง สปสช.ดำเนินการจัดซื้อรวม โดยต่อรองราคายาระดับประเทศ ส่งผลให้ยาหลายชนิดราคาลดลงตั้งแต่ 10 - 85% และใช้ระบบการจ่ายชดเชยเป็นยา ทำให้โรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องจัดหาและสำรองยาไว้เอง ซึ่งส่งผลด้านบวกแก่ผู้ป่วย ให้เข้าถึงยาและได้รับยาจำเป็นอย่างต่อเนื่องโดยไม่ขาดยา” ประธานเครือข่าย Healthy Forum กล่าว
ด้านนายภาษิต ชุนศิริวัฒน์ กรรมการเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า การจัดซื้อยารวมโดย สปสช.สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยารวมแล้วกว่า 37,000 ล้านบาท ตัวอย่างเช่น ยารักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวชื่อ Nilotinib จากราคา 21,227 บาทต่อกล่อง ลดลงเหลือเพียง 3,537 บาทต่อกล่อง เป็นต้น
“ทางเครือข่ายฯ ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องนี้เป็นกรณีเร่งด่วน โดยต้องสร้างกระบวนการสอบถามข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเปิดเผยต่อประชาชนให้รับทราบ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน และอนาคตของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ต้องดูแลประชาชนกว่า 48 ล้านคนให้เข้าถึงบริการและการรักษาอย่างทั่วถึง” นายภาษิต กล่าว
ทั้งนี้ ข้อเสนอตามหนังสือที่เครือข่ายฯ ยื่น มีดังนี้ 1.ขอให้แก้ไขระเบียบหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ สปสช.สามารถดำเนินการต่อรองราคายาและจัดซื้อยารวมในระดับประเทศได้ เพื่อให้การจัดซื้อยารวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และ 2.ขอให้คณะกรรมการแก้ไขกฎหมายพิจารณาการจัดซื้อยาอย่างรอบคอบและต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าสิ่งที่จะแก้ไขนั้นดีกว่าระบบเดิมอย่างไร โดยใช้ประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ส่วนสิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้ว เช่น การจัดซื้อยารวม คณะกรรมการฯ ควรต้องปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อการดำเนินการ