รายงาน นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ว่า ตลาดสารกำจัดศัตรูพืช 1.9 หมื่นล้านป่วน หลังกระทรวงสาธารณสุขขีดเส้นสารเคมี 3 ชนิดต้องยกเลิกใช้ใน 2 ปี เผยตลาดตื่น ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว-เกษตรกรแห่กักตุนปั่นราคา กรมวิชาการเกษตร ตั้งคณะอนุฯ ตรวจสอบเป็นเคมีอันตรายจริงหรือไม่ สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตรค้านให้ศึกษารอบด้านก่อน
สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560 (5 เม.ย.60) ได้ข้อสรุปให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิด คือ สารเคมีกำจัดวัชพืช "พาราควอต" สารเคมีกำจัดแมลง "คลอร์ไพริฟอส" และ ไกลโฟเสต (ข้อมูลล่าสุดในปี 2558 การนำเข้าสารเคมีทั้ง3 ชนิด รวมสารเคมีอื่น ๆ มีมูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาท)โดยระหว่างนี้จะไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน และต้องยุติการนำเข้าภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 และยุติการใช้สารเคมีทั้ง 2 ตัว ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการและเกษตรกรมีเวลาเตรียมตัวและหาทางเลือกอื่นและจัดการกับผลิตภัณฑ์คงค้างในตลาด
ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าการให้ยกเลิกการใช้สารเคมี3 ชนิดนั้น เป็นความห่วงใยของกระทรวงสาธารณสุข แต่กรมในฐานะผู้ดำเนินการออกใบอนุญาต หรือการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ และการบังคับใช้กฎหมาย ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะมีวิธีการดำเนินการอย่างใด เบื้องต้นจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาและดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยจะอาศัยข้อมูลเชิงการแพทย์ อาทิ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย อิงกับหลักในเชิงวิชาการว่าสารดังกล่าวมีประสิทธิภาพหรือไม่ มีสารตกค้างหรือไม่
"ที่ผ่านมาทางกรมได้ยึดตามนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน ซึ่งนั่นหมายถึงว่าเน้นมาตรฐานสินค้าเกษตรที่จะต้องมีความปลอดภัยทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยเฉพาะในเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องเข้มงวดให้มีการใช้อย่างถูกต้อง ในปริมาณที่เหมาะสม ส่วน สาร 3 ชนิดนี้มีการนำเข้ามานานแล้ว รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านก็มีการใช้ด้วย"
โดยหลักการเมื่อได้ผลการศึกษาจากอนุกรรมการฯ แล้วจะนำข้อสรุปเสนอไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เพื่อชี้ขาดว่าจะให้ยกเลิกการนำเข้าหรือไม่ เพราะกรมเป็นแค่หนึ่งในคณะกรรมการเท่านั้นไม่มีอำนาจตัดสินใจ
ขณะที่นางสาววัชรีภรณ์ พันธุ์ภูมิพฤกษ์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย กล่าวถึงข่าวที่ออกมานั้นทำให้เกิดความสับสน ตื่นตะหนกทั้งยี่ปั๊ว ซาปั๊ว รวมทั้งเกษตรกร ที่มีการกักตุน และเก็งกำไรสาร 3 ชนิด ซึ่งหากส่วนราชการไทยจะยกเลิกสารดังกล่าวจริง ควรจะต้องมีการประกาศควบคุมราคาก่อน เพื่อไม่ให้มีการปั่นราคา
"วัตถุอันตราย ชื่อก็บ่งบอกแล้วว่าอันตราย ดังนั้นผู้ที่ใช้ก็ควรที่จะระมัดระวัง ในอีกแง่หนึ่ง ยกตัวอย่างยาฆ่าหญ้า ช่วยแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน ลดต้นทุน ซึ่งเกษตรกรจะใช้ยาพวกนี้ก่อนที่จะปลูกพืช เพราะถ้าไม่กำจัดใส่ปุ๋ยไปหญ้าจะมาแย่งสารอาหารจากพืช อย่างไรก็ตามทางสมาคมได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเพื่อสอบถามเรื่องดังกล่าวว่าจะมีมาตรการในการดำเนินการอย่างไร เพื่อที่ทางสมาคมจะได้รีบแจ้งให้สมาชิกทราบต่อไป
สอดคล้องกับนายปราโมทย์ ติรไพรวงศ์ นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวถึงความจำเป็นการใช้สารเคมีว่า เกษตรกรมีความต้องการใช้ เพื่อลดต้นทุน และทดแทนแรงงานในภาคเกษตรที่ขาดแคลนดังนั้นฝ่ายที่คัดค้านควรศึกษาให้รอบด้านมากกว่านี้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,253 วันที่ 16 - 19 เมษายน พ.ศ. 2560