นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ระหว่างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (ระบบรักษาฟรี) และประกันสังคม โดยหารูปแบบที่เหมาะสมของระบบประกันสังคม ซึ่งทำการศึกษาออกเป็น4 ส่วน ได้แก่ 1. สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาล2. การบริหารจัดการภาพรวม 3. กรณีศึกษาต่างๆและ4.ผลการรักษาเปรียบเทียบระหว่างสองสิทธิซึ่งทำการศึกษา ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2553 ถึงเดือนเม.ย. 2555 โดยเบื้องต้นได้ทำการศึกษาในส่วนของสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลเสร็จแล้ว และเตรียมที่จะเสนอสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ต่อไป
ทั้งนี้ จากการเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ทั้ง 2 ระบบ พบข้อมูลล่าสุด วันที่ 1 ม.ค. 2554 โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ขอบเขตและเงื่อนไขการคุ้มครอง 2. สิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน และ 3. สิทธิประโยชน์ที่เหมือนกัน แต่บริหารจัดการต่างกัน โดยพบว่า สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นดีกว่ามาก คือ
1. ขอบเขตและเงื่อนไขการคุ้มครอง ระบบบัตรรักษาฟรีไม่จำเป็นต้องจ่ายเบี้ยประกัน และได้รับการคุ้มครองทันทีเมื่อลงทะเบียน ขณะที่ระบบประกันสังคมต้องจ่ายเงินสมทบในระยะเวลาที่กำหนด เช่น อย่างกรณีเจ็บป่วยต้องส่งเงินสมทบติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายใน15 เดือน กรณีคลอดบุตรต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 7 เดือน และหากขาดการจ่ายเงินเกิน 3 เดือน สิทธินั้นเป็นอันสิ้นสุด
2. สิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน พบทั้งสิ้น12 รายการ โดยบัตรรักษาฟรีครอบคลุมมากกว่า11 รายการ ยกเว้น รากฟันเทียม ที่ระบบประกันสังคมมีการครอบคลุม แต่บัตรรักษาฟรีไม่มี นอกนั้นบัตรรักษาฟรีมีสิทธิประโยชน์มากกว่าทั้งสิ้น นอกจากนี้กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินผู้ประกันตนห้ามรักษาเกิน 2 ครั้งต่อปี แต่บัตรรักษาฟรีไม่จำกัดจำนวนครั้ง กรณีป่วยด้วยโรคเดียวกันที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลหรือผู้ป่วยในห้ามติดต่อกัน เกินกว่า 180 วันต่อ 1 ปี อีกทั้งยังมีอุปกรณ์และอวัยวะเทียมในการบำบัดโรคที่แตกต่างกัน โดยบัตรรักษาฟรีมี 207 รายการประกันสังคมมีเพียง 81 รายการ เป็นต้น
3. สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพเหมือนกันการบริหารจัดการต่างกัน โดยทั้งหมดมี 25 รายการ แตกต่างกันในรายละเอียดและสิทธิประโยชน์ 15 รายการที่ประกันสังคมไม่มีการบริหารจัดการเฉพาะ แต่บัตรรักษาฟรีมี เช่น การผ่าตัดต้อกระจก การรักษาโรคหอบหืด เป็นต้นมีเพียงการผ่าตัดสมองที่ประกันสังคมมีการจัดการเฉพาะ แต่ระบบรักษาฟรีจ่ายตามกลุ่มโรคร่วม
"จากการศึกษาในภาพรวม ผู้ประกันตนมีสิทธิที่ดีกว่าเพียงการรักษารากฟันเทียม และการผ่าตัดสมองที่มีรายละเอียดมากขึ้น เช่น การผ่าตัดสมองกรณีผ่าเปิดกะโหลกศีรษะเพื่อการรักษาโรคเกี่ยวกับเยื่อหุ้ม สมอง ยกเว้นการเจาะรูกะโหลกไม่เกิน 15,000 บาทต่อราย ซึ่งสิทธิเหล่านี้แม้จะดีกว่า แต่นับว่าเป็นความเหลื่อมล้ำที่ผู้ประกันตนอย่างมาก เพราะหากพิจารณาเงินที่ต้องจ่ายเงินสมทบโดยรวมแล้วปีละ 22,000 ล้านบาท และถ้าหากตัดงบนี้ไปใช้เพื่อประโยชน์อื่นๆ จะคุ้มค่ากว่ามาก เช่น ไปเพิ่มสิทธิบำนาญชราภาพจากเดิมผู้ประกันตนจะได้รับเพียง 2,000 บาทต่อเดือนเป็น 9,000 บาททีเดียวส่วนสิทธิการรักษาพยาบาลควรให้ผู้ประกันตนเลือกเองว่า จะอยู่ในระบบไหน ซึ่งอาจจะเป็นบัตรรักษาฟรี หรือตั้งเป็นกองทุนใหม่ เรื่องนี้ต้องหารือต่อไป" นพ.พงศธรกล่าว