นับได้ว่า ณ เวลานี้ “พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ...” กำลังกลายเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้วงการแพทย์ไทย และ ภาคประชาชน แตกร้าวกันอย่างหนัก ซึ่งยังไร้ทางออกที่จะคลายปมประเด็นนี้ได้ ทว่า ที่ผ่านมา ทั้ง 2 ฝ่ายก็พยายามหาทางออกด้วยวิธีของตัวเอง ฝั่งแพทย์ผู้ “คัดค้าน” ก็ดาหน้าวิพากษ์วิจารณ์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ มาเป็นระรอกหวังเพื่อบีบรัฐบาลให้ถอนออกมาจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แล้วผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... ที่ยกร่างโดย “นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ” แพทย์ศัลยศาสตร์ด้านประสาท รพ.ราชวิถี เข้าสู่การพิจารณาของสภา แทน โดยพร้อมจะรวบรวมกว่า 1 หมื่นรายชื่อเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับหมอเป็นกฎหมายคู่ขนานกัน
ระหว่างนี้ทั้งฝ่ายคัดค้าน และสนับสนุน ต่างก็เดินหน้าเข้าพบทั้งวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านอย่างต่อเนี่อง โดยไม่มีท่าทีว่าใครจะยอมใครง่ายๆ ทางฝั่ง “กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)” ที่ตั้งตัวเป็นคนกลาง และมีความพยายามจะเปิดเวทีให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้สะสางเรื่องค้างคาใจกัน ในฐานะ “คณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข” แต่จนบัดนี้ก็ยังไร้กำหนดวัน เวลา ที่ชัดเจนในการจัดเวทีดังกล่าว จุดนี้ทำให้ภาคประชาชนตั้งข้อสงสัยว่า สธ.เองกำลังจงใจแตะถ่วง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ อยู่หรือไม่ โดยยังพบว่าข้อมูลที่ระบุลำดับวาระของ พ.ร.บ.กลับไม่ตรงกันสักครั้งทั้งในส่วนของวิป และ สธ.
ความ ระแวงดังกล่าวส่งผลให้ภาคประชาชนเหลืออดกับการรอคอย พร้อมออกป่าวประการศอย่างโจ่งแจ้ง ว่า “หากรัฐบาลยังไม่นำ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ เข้าสภา ภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ จะนัดชุมนมใหญ่ในวันที่ 5 ต.ค.นี้” ซึ่ง “นิมิตร์ เทียนอุดม” ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ย้ำชัดว่า การชุมนุมคือเครื่องมือสุดท้ายที่ทำให้เสียงประชาชนดังไปถึงหูผู้บริหารได้
ฟากของกลุ่มแพทย์ผู้คัดค้านก็จัดการแก้เกมกดดันจากภาคประชาชน แต่ทำเอาคนไข้เครียดหนัก หลังจาก “นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ” รอง ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) ป่าวประกาศว่าหากภาคประชาชนเคลื่อนไหว ทาง สผพท.โดยกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ก็จะนัดหยุดงานว่าไปนั่น!
ความแข็งกร้าวเพื่อกดดันรัฐบาลจากทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น หลังจากล่าสุดได้ปะกันบนสังเวียนการเสวนาเรื่อง “ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ... ใครได้ ใครเสีย เหมือนต่างจากร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ....” ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แต่หากบรรยากาศกลับดุเดือด มีการดาหน้ากันออกมาชำแหละ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ แต่ครั้งนี้เป็นคิวของกฎหมายคู่ขนาน อย่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบฯ เท่านั้น
ในการพยายามหาทางออกครั้งนั้น “ดล บุนนาค” นักกฎหมายจากสำนักงานประธานศาลฎีกา ยอมรับว่า พ.ร.บ.นี้ ยังมีข้อบกพร่องอยู่ เช่น มาตรา 3 สำหรับคำนิยามของผลกระทบ ให้หมายถึงภาวะความพิการ การสูญเสียสมรรถภาพทางร่างกาย ซึ่งแสดงว่าหากเสียชีวิตหรือภาวะแท้ง จะไม่จ่ายค่าชดเชยหรือไม่? ในมาตรา 46 ที่ให้คณะอนุกรรมการที่พิจารณาการจ่ายเงินต้องรับผิดชอบเต็มจำนวนเงิน รวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้มีการจ่ายให้แก่ผู้ให้ หรือผู้รับบริการในกรณีที่คำสั่งการจ่ายเงินช่วยเหลือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ที่คณะกรรมการกำหนด ตรงนี้ความเป็นจริงไม่สามารถทำได้ และเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากเป็นคณะอนุกรรมการแน่นอน
ทว่า ข้อเสนอโดยการให้นำข้อดีของทั้ง พ.ร.บ.ฉบับรัฐบาล และแพทย์มาผสมผสานกัน และเสนอเข้าที่ประชุมของสภา เพื่อให้ร่นเวลาในการพิจารณาให้เร็วขึ้น ซึ่งพบว่ากลับเป็นที่ถูกใจจากทุกฝ่าย แต่ปัญหาคือ ยังหาเจ้าภาพในการประสานงานดังกล่าวไม่ได้นั่นเอง
ดัง นั้น เมื่อเริ่มมองเห็นแสงเรืองๆ ที่ปลายอุโมงค์ คณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ฯ ก็จะต้องเร่งถกตามข้อเสนอของนักกฎหมายโดยเร็ว เพื่อหาทาง win-win ในเรื่องนี้ ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าย่อมเป็นภาพที่หลายฝ่ายอยากเห็นมากกว่าการประท้วงของ ภาคประชาชน และแพทย์หยุดรักษาผู้ป่วยเป็นไหนๆ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 27 กันยายน 2553 07:01 น