บริการสุขภาพ

คำถาม … ที่ต้องตอบ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ

ร่วม 2 เดือนมาแล้ว หลังจากที่มีกระแสคัดค้าน "ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข" ที่อยู่ระหว่างจ่อคิวเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ในที่สุด คณะกรรมการส่งเสริมความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข ก็สามารถจัดตั้งขึ้นได้ ซึ่ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ได้ลงนามแต่งตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีจำนวนกรรมการมากที่สุดถึง 63 คน นับเป็นประวัติการณ์ มีทั้งตัวแทนจากทุกวิชาชีพในระบบสาธารณสุข ตัวแทนแพทย์จากทุกสังกัด รวมถึงตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าร่วม

ทำให้พอเห็นแสงรำไรๆ ขึ้นมาบ้าง เพราะอย่างน้อย ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการก็มีเวทีที่จะหันหน้ามาพูดคุยกันได้ เพื่อให้ร่างกฎหมายฉบับนี้เดินหน้าต่อไป และคาดว่าหลังจากการทำประชาพิจารณ์ใน 9 กลุ่มของผู้ให้บริการ ที่ขอเวลาดำเนินการประมาณ 3 สัปดาห์แล้วเสร็จ (คาดการณ์ได้ว่าคงไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นี้) การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมความสมานฉันท์ในนัดแรกคงเริ่มขึ้นได้ เพื่อนำไปสู่การหาข้อสรุปร่วมกัน

ตั้งแต่ต้นจนจบ ประเด็นขัดแย้งที่ต้องจับตาคงหนีไม่พ้นเรื่อง "กองทุนเงินชดเชย" ที่ต่างฝ่ายต่างกังขาและไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน นอกจากความกังวลต่อการฟ้องร้องของแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุข

ในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ฝ่ายภาคประชาชนและผู้สนับสนุน ถูกตั้งข้อสงสัยจากกลุ่มวิชาชีพแพทย์ ว่า อาจมีวาระซ่อนเร้นจากผลประโยชน์เงินกองทุนที่เกิดขึ้นนับพันล้านบาท ที่ระดมมาจากเงินสมทบของรัฐเก็บจากภาษีประชาชน และการจ่ายเงินสมทบของสถานพยาบาลภาคเอกชน ที่ไม่ต้องนำคืนรัฐในแต่ละปี โดยมีการแฉกระบวนการตั้งแต่เริ่มจัดทำร่างกฎหมายไปจนถึงการผลักดันที่ต่าง สอดรับไปในแนวทางเดียวกัน

พร้อมเชื่อมโยงไปยังกลุ่มบุคคลตาม "ตำนานเทพอสูร" ในระบบสาธารณสุข ตามที่ทางสมาพันธ์แพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เคยออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ และเชื่อว่า หลังร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านและบังคับใช้ คนกลุ่มนี้จะเข้ามาอยู่ในระบบเพื่อเสวยสุข ดูแลจัดการเงินกองทุนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะงบบริการจัดการ ไม่ต่างจากหน่วยงานตระกูล ส. ก่อนหน้านี้ ที่มีกลุ่มคนเดียวกัน เข้าไปทำหน้าที่บอร์ดองค์กรกันอย่างถ้วนหน้า

กลายเป็นจุดอ่อนที่ทางฝ่ายผู้ผลักดัน และสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ต้องตอบคำถาม

ขณะเดียวกัน ฟากฝั่งแพทย์วิชาชีพที่ออกมาคัดค้าน แม้ว่าจะมีตัวแทนสภาวิชาชีพ แพทย์สังกัดหน่วยงานต่างๆ สภาและสมาคมแพทย์ รวมไปถึงสมาพันธ์แพทย์ฯ ต่างชี้แจงถึงเหตุผลคัดค้าน ไม่เพียงแต่เพื่อสกัดกั้นการผลาญงบประมาณ แต่ยังชี้ว่าร่างกฎหมายมีข้อบกพร่องหลายแห่ง ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ให้และผู้รับบริการในอนาคตอย่างแน่นอน แต่ไม่พ้นการตั้งข้อสังเกตจากฝ่ายเครือข่ายภาคประชาชนที่มองว่า เป็นการเคลื่อนไหวครั้งนี้มีวาระซ่อนเร้น เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชน โรงเรียนแพทย์ รวมถึงสถานพยาบาลเอกชนอื่นๆ ไม่อยากจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน จึงมีการผลักดันขยายมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ครอบคลุมผู้เสียหายในระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ใช้งบประมาณของรัฐดูแลทั้งหมดแทน

กลายเป็นจุดอ่อนที่ฝ่ายผู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ต้องตอบคำถามเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (9 ก.ย.) ทางตัวแทนแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข นำโดยสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย พร้อมใจกันแต่งชุดขาว เพื่อเข้ายื่นร่าง พ.ร.บ.ฉบับแพทย์ต่อประธานรัฐสภา ชัย ชิดชอบ ประกอบในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ เชื่อว่ายังมีอีกหลายยก และคงไม่จบลงง่ายๆ แน่

ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 09/09/53

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน