บริการสุขภาพ

เครือข่ายผู้บริโภค จี้รัฐเร่งพิจารณา พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย

Consumerthai – เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคยื่นหนังสือต่อประธานวิปรัฐบาล และประธานวิปฝ่ายค้าน ขอให้เร่งพิจารณา ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .

15 กันยายน เวลา 14.20 น. เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคประกอบด้วยเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก เครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน เครือข่ายผู้บริโภคภาคกลาง เครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก เครือข่ายเพื่อนโรคไต และเครือข่ายโรคมะเร็ง จำนวน 30 คน เข้ายื่นหนังสือต่อนายวิทยา แก้วภราดัย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล และนายวิทยา บุรณศิริ ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ณ รัฐสภา ขอให้นำร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เข้าพิจารณาในการสภาผู้แทนราษฎร

นางสาวกชนุช  แสงแถลง ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค กล่าวว่าตามที่เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ  องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรผู้บริโภค ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในการรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อ เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2552 และได้ผ่านการดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการของรัฐสภา โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในร่างกฎหมายฉบับนี้ พร้อมทั้งได้บรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภาตั้งแต่ 12 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา จนกระทั่งบัดนี้ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณาแต่อย่างใด

“เครือข่ายภาคประชาชน อยากให้เร่งรัดดำเนินการให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยการประชุมนี้ด้วย รวมถึงขอให้ผ่านกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังใช้โดยเร็ว เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ นำไปสู่การปฏิรูประบบสาธารณสุข” ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค กล่าว

ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่าจะเร่งดำเนินการให้ แต่ถึงอย่างไรแล้ว อันดับการพิจารณากฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. ...นั้นขณะนี้อยู่อันดับที่ 16 และเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่สำคัญ เพราะฉะนั้นจะเข้าสู่สภาฯแน่นอน

นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ในฐานะตัวแทนนายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน เข้ารับหนังสือพร้อมกล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้มีการเสนอเข้ามาถึง 7 ฉบับ อีกทั้งยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันต่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งภาระการสร้างความเข้าใจระหว่างกันนั้นกระทรวงสาธารณะสุขควรจะรีบดำเนินการ และเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ หากผ่านออกมาเป็นกฎหมายแล้วน่าจะพัฒนาระบบสาธารณสุขได้มากขึ้น

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน