บริการสุขภาพ

ร่างกม.คุ้มครองฉบับหมอจ่อเข้าสภา

"จุรินทร์" เผย ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบฉบับแพทย์ผ่านการตรวจสอบรายชื่อแล้ว คาด 20 วันเข้าบรรจุวาระในสภา เดินหน้าถกรายละเอียด 11 ประเด็นอีกครั้ง 15 ต.ค.นี้ ก่อนสรุปเสนอวิปรัฐบาล

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากระบบบริการสาธารณสุขว่า นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. ได้รายงานผลการประชุมเมื่อวันที่ 12 ต.ค.ให้ทราบว่า การประชุมมีความคืบหน้าไปพอสมควร มีการกำหนดประเด็นเพื่อนำมาถกในรายละเอียดกันกว่า 10 ประเด็น ซึ่งได้หารือกันไปแล้ว 5 ประเด็น เหลืออีก 7-8 ประเด็น ที่ต้องหารือกันต่อในวันที่ 15 ต.ค.นี้อีกครั้ง ซึ่งหลังจากได้ผลการหารือเป็นอย่างไรตนก็จะนำเสนอวิปรัฐบาลเพื่อใช้ประกอบ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ในชั้นสภาต่อไป

นายจุรินทร์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการเสนอร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองฯ ที่นำเสนอจากฝ่ายแพทย์ว่า ทราบเบื้องต้นว่าได้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อ 10,000 รายแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะมีการปิดประกาศรายชื่อเพื่อให้มีการยืนยันว่ารายชื่อทั้งหมด ได้ร่วมเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จากนั้นจะนำเสนอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ลงนามนำไปสู่ขั้นตอนการบรรจุร่างเป็นวาระการพิจารณาต่อไป

เมื่อถามว่า ภาคประชาชนมีการระบุว่าหากไม่ผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายฯ อาจมีผลต่อฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะไม่เลือกนั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า การจะทำอะไรไม่ได้คิดเรื่องคะแนนเสียง ส่วนกรณีที่นายประเสริฐ จันทรรวง ทอง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ระบุว่า จะขอเสนอถอนร่าง พ.ร.บ.ในสภานั้น นายจุรินทร์กล่าวเพียงว่า ทราบว่านายประเสริฐก็เคยเสนอร่าง กฎหมายฉบับเดียวกัน ซึ่งร่างฉบับนั้นอยู่ในสภาก่อนร่างของรัฐบาลด้วยซ้ำ

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้มีข้อเสนอแก้ไขเนื้อหาร่างกฎหมายใน 11 ประเด็น โดยเมื่อวานนี้ได้ข้อสรุป 5 ประเด็นแล้ว อาทิ การเปลี่ยนชื่อจากร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เป็นร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากระบบบริการสาธารณสุข การแก้ไขสัดส่วนคณะกรรมการ โดยปรับให้มีกรรมการสัดส่วนที่เท่ากัน แบ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพและสถานพยาบาล 6 คน และกรรมการจากเครือข่ายผู้ป่วยและภาคประชาชน 6 คน ไม่รวมผู้ที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง เป็นต้น และหลังจากนี้จะมีการนัดมาประชุมใหม่อีกครั้ง แล้วจึงนำข้อสรุปที่ได้นำเสนอต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สธ.ต่อไป ส่วนจะมีการผลักดันเป็นวาระเร่งด่วนในสภาหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของฝ่ายออกกฎหมายที่จะพิจารณา.

ข้อมูลจาก นสพ.ไทยโพสต์ วันที่ 14 ตุลาคม 2553

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน